เหยี่ยวถลาลม : พลังของกม.

ภายหลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 “อำนาจทางการเมือง” เปลี่ยนมาอยู่ในมือ “ปวงชนชาวไทย” ผ่านฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการระบบความคิดระบบความเชื่อในสังคมก็เปลี่ยนไป

กว่า 300 ปีก่อน “จอห์น ล็อก” ปรัชญาเมธีทางการเมืองที่เสมือนเป็นต้นธารสายนี้เริ่มต้นด้วยหลักการที่ว่า “อำนาจทางการเมือง คือสิทธิในการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณะ”

เป็นที่สังเกตว่า วัตถุประสงค์ทั้งหลายมุ่งไปยัง “ประโยชน์สาธารณะ” !

ถ้ามุ่งไปยัง “ประโยชน์คนคนเดียว” จะเรียกระบอบนั้นว่า “ทรราช” ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย”

Advertisement

ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่ามีอิสรภาพเหนือขอบเขต หากแต่ “ทุกคนจึงอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”

“ความไม่เท่าเทียม” จึงเป็นหัวข้อปัญหาใหญ่

ความไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเกิดขึ้นได้ 2 ทาง

Advertisement

ทางหนึ่ง เกิดจาก กฎหมายเก่า ล้าหลัง ไม่ทันสมัยจนก่อให้เกิดปัญหา

ทางหนึ่ง เกิดจาก ผู้บังคับใช้ โอนเอน หวั่นไหว ไม่เป็นธรรม

แต่บ่อยครั้งปัญหาเกิดจาก “คน” มีอคติ ตีความและบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ ไม่เสมอหน้าจนกลายเป็นการใช้กฎหมายข่มเหงรังแกคน

ดังเช่นที่รัชกาลที่ 9 เคยมีพระบรมราโชวาทว่า “…กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่า ทุจริต…”

จุดมุ่งหมายการออกกฎหมายนั้นชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณะ การบังคับใช้กฎหมายของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรนั้นก็จะต้อง “มีธรรม” จึงจะเรียกว่า “ยุติธรรม”

แต่ถ้าไม่เป็นไปดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้น จะเป็นลักษณะใด ดีร้ายอย่างไร ย่อมคาดคะเนได้ไม่ยาก

การบังคับใช้กฎหมาย จึงมีความสำคัญ อาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ในสังคมที่เฝ้าจับตาดูอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image