“สติธร “คาดเลือกอบจ. คนแห่ใช้สิทธิเลือกตั้ง เหตุกลุ่มการเมืองสร้างเป็นกระแสหวังโค่นอำนาจเก่า – สร้างนัยยะเปลี่ยนแปลงการเมืองระดับชาติ ชี้ แม้กกต.ฟันคณะก้าวหน้า ไม่กระทบตัวผู้สมัคร
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากเราไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่นมากว่า 8 ปี คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น และครั้งนี้มีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งส่งผู้สมัครลงเปิดเผยในนามพรรคลงแข่งขันในจังหวัดสำคัญ รวมถึงมีคณะการเมืองกลุ่มหนึ่งที่หวังจะเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับท้องถิ่นส่งผู้สมัครลงด้วยเมื่อโยงกับกระแสการเมืองหลักโดยเฉพาะกระแสคนรุ่นใหม่ คือพยายามทำให้การเมืองท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น จึงคิดว่าสนามนี้เป็นการประลองกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับกลุ่มอำนาจใหม่ที่เข้ามาท้าทาย
นายสติธร กล่าวต่อว่า บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้คนยังมุ่งไปที่การเมืองระดับ แต่ช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายคงต้องดูกันอีกทีในเรื่องความตื่นตัวของคนที่จะออกไปเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งรอบนี้มีพรรคการเมืองที่มาจากกระแสที่หวังจะไปโค่นอำนาจเก่าในจังหวัดเขาก็ต้องระดมความรู้สึกของผู้คน การเลือกตั้งอบจ.ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่ในสนามที่คนชนะเลือกตั้งสามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรในจังหวัดได้มาก แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างน้อยๆ คือการชนะในจังหวัดๆ หนึ่งถ้ามานับกันใน 76 จังหวัดแล้วแยกการเมืองระดับชาติลงไปจัดการอย่างเช่นพรรคหรือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลชนะเท่าไร ฝ่ายค้านชนะเท่าไรก็มีนัยยะสำคัญทางการเมืองเหมือนกัน ตรงนี้ก็อาจเป็นแรงจูงใจให้พรรคที่เขาต้องการสร้างกระแสทางการเมืองระดมผู้คนให้เห็นความสำคัญ จนเราอาจได้เห็นการกลับบ้านของคนไปเลือกตั้งมากกว่าขึ้นกว่าอดีต
“ต้องยอมรับว่าการเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมาแม้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่มันใกล้ตัวกับประชาชนในพื้นที่คนที่ออกมาทำงานนอกพื้นที่ ออกมาเรียนนอกพื้นที่เขาจะรู้สึกว่าห่างเหิน บริการที่เขาได้จากการท้องถิ่นก็จะได้จากท้องถิ่นที่เขามาพัก มาทำงานมากอยู่ บ้านเกิดที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ฉะนั้นความผูกพันใกล้ชิดก็จะน้อย การที่เขาจะรู้สึกอยากกลับไปเลือกแปลว่าต้องมีแรงจูงใจคล้ายกับการเลือกตั้งระดับชาติที่ทำไมเรายอมกลับบ้านไปเลือกเพราะเราอยากเลือกรัฐบาล และนโยบายที่เราอยากได้ และที่เราสามารถเลือกได้มีแค่ที่บ้านเท่านั้น แต่ท้องถิ่นเราได้บริการในที่ที่เราอยู่ได้โดยไม่ต้องไปเลือกตั้งแทนทำให้มีลักษณะว่าถ้าอยากให้คนไปเลือกตั้งท้องถิ่นมากก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาอยากลับมา”
นายสติธร กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ไม่ใช่ผู้สมัครที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมจะได้เปรียบ เหมือนเช่นอดีต เพราะครั้งนี้มีความท้าทายว่ากลุ่มที่เข้าไปแข่งขันมีความต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจในจังหวัด เขาจะเชิญชวนคนพื้นที่ที่ไปทำงานอยู่นอกเขตแล้วไม่ได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกลุ่มหรือทีมผู้สมัครเจ้าของพื้นที่เดิม ให้กลับมาใช้สิทธิจำนวนมากๆ ในลักษณะที่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสนุกคึกคักมากกว่า
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการร้องต่อกกต.ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะก้าวหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครอบจ. มีลักษณะคล้ายพรรคการเมือง อีกทั้งคณะก้าวหน้าก็มีปัญหากับรัฐบาล จะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่ นายสติธร กล่าวว่า เป็นผลได้ทั้งสองทางในด้านลบภาพของความขัดแย้ง การไม่ได้รับการต้อนรับอาจทำให้ภาพลักษณ์ของคณะก้าวหน้าดูไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชนเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกันภาพเหล่านี้ทำให้เกิดพื้นที่ข่าวกับคณะก้าวหน้าและอาจปลุกความรู้สึกของคนที่มองการเลือกตั้งท้องถิ่นแค่เป็นเรื่องของการเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่ในท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นคือการพิสูจน์อุดมการณ์หรือความคิด หรือจุดยืนทางการเมืองในระดับชาติก็อาจจะเป็นการปลุกกระแสให้คนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นซึ่งก็ได้ทั้งสองทาง แต่ขณะนี้เรายังอาจยังมองไม่เห็นว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งจะคึกคักแค่ไหนแต่ในวันที่ 20 ธันวาคม เขาอาจจะกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้
เมื่อถามว่า จะเป็นการสร้างกระแสเอาเลือกตั้งท้องถิ่นมาล้มการเลือกตั้งระดับชาติได้หรือไม่ คงต้องวัดกัน ส่วนหนึ่งมันมีภาพลักษณ์อยู่แล้วของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่พยายามเชื่อมโยงการเมืองท้องถิ่น หรือการเมืองระดับชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการตัดสินเลือกผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นครั้งนี้ นอกจากจะดูตัวบุคคล กลุ่มของการเมืองท้องถิ่นแล้วน่าจะมองถึงการเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าหากท้ายที่สุด กกต.วินิจฉัยว่าการดำเนินการของคณะก้าวหน้ามีลักษณะคล้ายพรรคการเมืองก็จะมีผลเอาผิดเฉพาะคนที่ทำตัวเสมือนพรรคการเมืองเท่านั้น ถูกลงโทษ ไม่น่าจะเอาผิดกับตัวผู้สมัครของกลุ่มได้