‘สุรเชษฐ์’ชี้ เบื้องหลัง คำสั่งคสช.ออกฤทธิ์ ทำต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวมีปัญหา

‘สุรเชษฐ์’ ชี้ คำสั่งคสช.ออกฤทธิ์ ทำต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวมีปัญหา หลังใช้ม.44 ลัดขั้นตอน ระบุ ปชช.อาจรับกรรม จ่ายค่าโดยสารแพง ชวนจับตา เงื่อนงำมหากาพย์รถไฟฟ้าหลากสี

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยขณะนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดการกำหนดค่าโดยสาร ว่า ปัญหาคือ รัฐอุดหนุนไม่เพียงพอ เพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง ทำให้ค่าโดยสารแพง ประชาชนเดือดร้อน กระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบอีกหลายสีและดูแลโครงข่ายในภาพรวม ทั้งคู่ถูกบีบโดยประชาชนให้ลดค่าโดยสารลงจากเดิมสูงสุด 158 บาท ตามผลการศึกษาเดิมซึ่งแพงมากและมีปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสีอื่น ซึ่งก็คือปัญหาตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมนั่นเอง ปัญหาเหล่านี้หมักหมมมาจากการวางแผนที่แย่มากโดยรัฐบาล คสช. คือเล็งแต่จะผลาญเงินไปกับการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่ไม่คิดถึงการบริหารจัดการที่ดีและธรรมาภิบาลในการอนุมัติ ใจกลางของข้อขัดแย้งอยู่ที่การใช้มาตรา 44 ไปงุบงิบเจรจาเพื่อเอารายได้จากอนาคตมาโปะหนี้ที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยเกินจำเป็นไปมาก นั่นก็คือการขอขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ทั้งที่สัมปทานเดิมยังเหลืออีกตั้ง 9 ปี

เมื่อถามว่า ขณะนี้รัฐบาลควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพื่อไม่ให้รัฐบาลและประชาชนเสียประโยชน์ นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาในสภาแล้วโดยเป็นญัตติด่วนแรกๆ ตนอภิปรายเรื่องนี้ไปตั้งแต่ 8 กันยายน 2562 โดยตนและพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในขณะนั้นเห็นตรงกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เสียงข้างมาก มีมติไม่ขยายสัญญาสัมปทาน ตนเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหานี้โดยการเจรจาหรือหาทางออกใหม่อย่างโปร่งใสและรอบด้าน อาจใช้ PPP Gross Cost แทน PPP Net Cost และไม่ควรคิดแก้ปัญหาแบบ Hot Fix โดยมองเฉพาะเส้นนี้ เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการในภาพรวมล่าช้าออกไปอีก 30 ปี คือจะปล่อยให้ประชาชนจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนไปอีก 30 ปีหรืออย่างไร จะไม่ให้พรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายประเภท 30 บาทตลอดทางไปอีก 30 ปีหรืออย่างไร เมื่อถามหน่วยงานทั้ง กทม. และ รฟม. ก็ไม่มีคำตอบ ได้คำตอบแค่ว่า เตรียมการเจรจาตามขั้นตอนปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ ก็มีมาตรา 44 ลอยมา เลยต้องปฏิบัติตาม จากวันที่สภามีมติ จนถึงวันนี้ก็ปีกว่า สัญญาที่คณะกรรมการตามคำสั่ง คสช. ไปมุบมิบเจรจามาก็ยังอยู่ ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขใดๆ แต่รัฐบาลนั่งทับปัญหาไว้ จนถึงตอนนี้ก็มีข่าวว่าจะเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน คือบอกว่า หากไม่ขยายสัญญา ต้องให้ผู้โดยสารจ่าย 158 บาท สำหรับสิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้รัฐบาลและประชาชนเสียประโยชน์ ตนก็บอกไปปีกว่าแล้วแต่รัฐบาลไม่ทำ จนถึงตอนนี้ก็จะดึงดันทำแบบเดิมคือขยายสัญญา ทั้งที่จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ส่วนประเด็นการจะลดจาก 158 บาท เป็น 65 บาทหรือต่ำกว่านั้น ต้องพูดให้ชัดว่าไม่ใช่การเจรจาเพื่อให้บริษัทลดราคาให้ประชาชนแบบฟรีๆ แต่เป็นการที่รัฐเอารายได้จากอนาคตมาอุดหนุนเพิ่มเติมในวันนี้ ซึ่งก็ต้องคลี่รายละเอียดการคำนวณออกมาให้ดู ว่าทำไมเป็น 65 บาท ทำไมเป็น 30 ปี ถูกกว่านั้นหรือสั้นกว่านั้นได้หรือไม่

เมื่อถามว่า คำสั่ง คสช. ที่ยกเว้นบางเรื่องของการทำสัญญาแบบปกติ ที่ต้องทำตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีส่วนทำให้เกิดความยุ่งยากใช่หรือไม่ นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ใช่ การเจรจาขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี คือผลประโยชน์มหาศาล สายสีเขียวตอนนี้มีคนมาใช้วันละ 1,264,000 เที่ยว เฉลี่ยเที่ยวละ 30 บาท คือรายได้วันละ 40 ล้านบาท การเจรจาซ่อนตัวเลขแค่ 1% ก็ 4,380 ล้านบาทในช่วงสัมปทาน ดังนั้น ต้องมีคณะกรรมการมาเจรจาอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ไม่ใช่ลัดขั้นตอนด้วยมาตรา 44 แล้วตั้งคนของตัวเองไปเจรจาแบบนี้ รายละเอียดการคำนวณก็ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะแม้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะอนุมัติอยู่ในขณะนี้

เมื่อถามว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวเรื่องประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอความเป็นธรรมกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประเด็นนี้คาดว่ามีความเชื่อมโยงกับสายสีเขียวหรือไม่ เพราะเป็นบริษัทเดียวกัน นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้น่าสนใจมาก มีคนให้ข้อมูลในทางลับมามาก แต่ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสายสีส้มกับสายสีเขียวได้ชัดเจนพอ ก็คงได้แต่ร้องขอให้ทุกคนช่วยกันตามล่าหาความจริง ในมหากาพย์รถไฟฟ้าหลากสี โดยมี BTS & BEM เป็นคู่แข่ง/แบ่ง/แย่ง ผลประโยชน์กัน ผู้ถืออำนาจจะมีการเอา สายสีส้ม มาใช้ต่อรองหรือไม่ เหตุผลของใครสมเหตุสมผล จะมีใครแทงกั๊กหรือเปลี่ยนจุดยืนแบบไม่มีเหตุผลอันสมควรอีกหรือไม่ จะมีการจับประชาชน เป็นตัวประกันในการขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ มีหลายเงื่อนงำมาก โดยเฉพาะการใช้คำสั่ง คสช. (11 เมษายน 2562) หลังเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) เพียงไม่นาน และมีรัฐมนตรีลาออกไปแล้วแม้ว่าจะเพิ่งรับตำแหน่งไม่นานเพราะไม่อยากมีเอี่ยวกับเรื่องนี้

Advertisement

เมื่อถามว่า จากกรณีนี้เป็นบทเรียนเรื่องการประมูล และการสัมปทานกับรัฐบาล หรือการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตอย่างไรบ้าง นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า

สิ่งที่รัฐไทยควรเรียนรู้คือ สร้างเยอะไม่ได้แปลว่าเก่ง แต่ต้องระลึกถึงเสมอในเรื่องของความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า เราควรพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นระบบ อะไรควรทำก่อนทำหลัง ด้วยเงินที่เท่ากัน เอาไปทำอะไรดีกว่ากัน ไม่ใช่เล็งแต่หัวคิวจากการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ แล้วสร้างปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือปัญหาค่าโดยสารแพง ซึ่งก็ต้องคิดต่อว่าจะเอาเงินจากไหนไปอุดหนุน สิ่งที่ประเทศไทยขาดมากคือรถเมล์ ซึ่งใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่ารถไฟฟ้ามากและผู้มีรายได้น้อยจะได้ประโยชน์โดยตรง แต่ตอนนี้รัฐบาลดันจะขึ้นราคารถเมล์เป็น 30 บาทต่อวัน ปล่อยคนจนดิ้นรนต่อไป ส่วนคนอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ร่ำรวยไปหมดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image