กมธ.แก้รธน.ส่อวุ่น ส.ส.รัฐบาลจับมือส.ว.หวังแปรญัตติให้แก้ยาก

กมธ.แก้รธน.ส่อวุ่น ส.ส.รัฐบาลจับมือส.ว.หวังแปรญัตติให้แก้ยาก หวังล็อคโหวตรับหลักการวาระ 1 ต้องใช้เสียงรัฐสภาถึง 3 ใน 5

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) คนที่หก ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการในชั้น กมธ. ว่า ขณะนี้มีสมาชิกขอแปรญัตติจำนวน 109 คน แบ่งเป็น ส.ว. 8 คน และ ส.ส. 101 คน แต่คงมีหลายประเด็นที่ซ้ำกัน ประเด็นที่สำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ จุดยืนของทั้งสองฝ่ายไม่ต่างไปจากเดิม คือ ระหว่างส.ว. 15 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 17 คน และส.ส.ฝ่ายค้าน 13 คน ในกมธ. คิดเป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1 ฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถกำหนดการประชุมได้ทุกอย่าง เช่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาเนื้อหามาตรา 256 เป็นครั้งแรก เรื่องการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านยืนยันว่าต้องให้แก้ไขง่าย คือ กำหนดการขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากส.ส. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของส.ส. หรือจากส.ส. และส.ว. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แต่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าจะให้แก้ไขยาก คือ แก้จำนวนให้เป็น 2 ใน 5 ซึ่งพรรคที่จะสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีเพียง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) เท่านั้น เพราะมีส.ส. เกิน 100 เสียง หากเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาระหว่างกำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น ปัญหาความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีรุนแรง ก็ต้องรอให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ยื่นแก้ไขรายมาตราได้เพียงฝ่ายเดียว แต่หากแก้เป็น 1 ใน 10 พรรคก.ก. ก็สามารถยื่นได้ทันที

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องจำนวนเสียงในวาระรับหลักการ (วาระที่ 1) ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อยากจะใช้จำนวน 2 ใน 5 และ 3 ใน 5 ซึ่งทำให้การใช้เสียงรับหลักการทำได้ยากกว่าเดิม เพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ในวาระแรกต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา และเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ส่วนในวาระลงมติ (วาระที่ 3) ยังไม่ได้หารือกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของเทคนิคทางกฎหมายที่จะทำให้เกิดการแก้ไขยาก แต่อยู่ที่จุดยืนเป็นอย่างไร มีจุดยืนเพื่อประชาชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือไม่ ทั้งนี้ กระบวนการในชั้นกมธ.จะเสร็จสิ้นช่วงปลายเดือนมกราคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image