‘โคทม’ ชี้ มีสื่อออนไลน์จับแพะชนแกะ เสนอทฤษฎีสมคบคิดปมสหรัฐอยู่เบื้องหลังม็อบคนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล แสดงความเห็นในกรณีคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา สหรัฐอเมริกา แสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

นายโคทมกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยืนยันตลอดว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักการในระเบียบที่กำหนด สำหรับการตักเตือนของ ส.ว.ก็คงเห็นว่าการชุมนุมในไทยยืดเยื้อมานาน และมีเป้าประสงค์ต้องการให้ยุติลงด้วยดี ส่วนการประคับประคองสถานการณ์มีหลักของสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การประนีประนอม หากนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ก็จะเป็นผลดีกับการคลี่คลายความขัดแย้ง เชื่อว่า ส.ว.คงไม่ได้บอกให้รัฐบาลไทยทำอะไร แต่จะบอกหลักการไว้กว้างๆ และไม่ได้เสียมารยาท เพราะเชื่อว่าเป็นเพียงการแสดงความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศก็คงจะมีคำเตือนหลังจากสถานการณ์มีความรุนแรงแล้ว ก็อาจจะแสดงจุดยืนออกมา ขณะที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศก็คงจะให้โฆษกออกมาพูดอะไรบางอย่าง ก็เป็นวิธีที่จะแสดงความเห็นหรือมีคำอธิบายตอบกลับไปในแง่มุมของรัฐบาล

“รัฐบาลอาจจะบอกว่าตั้งใจรับฟังปัญหาของผู้ชุมนุมมาโดยตลอด หรือพร้อมที่จะประนีประนอม แต่เท่าที่ติดตามการบริหารสถานการณ์ ส่วนตัวไม่ต้องการแสดงความเห็นเพื่อผสมโรงกับ ส.ว.เพียงแต่บอกว่าเมื่อมิตรประเทศส่งสัญญาณมา ถ้าตอบกลับไปได้ก็คงจะดี ซึ่งหากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์การชุมนุมในอดีตของ นปช.หรือ กปปส. เท่าที่ติดตามไม่พบว่า ส.ว.จะมีแสดงข้อห่วงใยในลักษณะนี้ ส่วนการชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกงทราบว่ากระทรวงต่างประเทศของสหรัฐออกมาท้วงติงชัดเจนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนค่อนข้างหนัก” นายโคทมกล่าว

นายโคทมกล่าวด้วยว่า ในไทยมีบางสื่อออนไลน์พยายามเสนอทฤษฎีสมคมคบคิดว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลังของคนรุ่นใหม่ มีการพาดพิงถึงตัวบุคคลบางฝ่ายแบบจับแพะชนแกะ และเมื่อมีเสียง ส.ว.ออกมาอีกก็คงทำให้บางฝ่ายที่เชื่อไปแล้ว ก็คงไม่เปลี่ยนความคิดเดิม แต่คนที่ไม่เชื่อก็คงเห็นว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา และหลังจาก ส.ว.สหรัฐออกมาแล้ว ต้องรอดูว่าฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป หรืออียู จะมีอะไรตามมาอีกหรือไม่ เพื่อแสดงจุดยืนหรือแสดงความห่วงใย เมื่อ ส.ว.สหรัฐออกมาแสดงความห่วงใย ไม่ได้ถือว่ามีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะมีเรื่องอื่นสำคัญกว่า แต่ถ้ามีเหตุรุนแรง หรือความสูญเสียเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในขณะนี้ทุกฝ่ายก็ต้องประคับประคองอย่าให้มีความรุนแรง และการชุมนุมที่ยืดเยื้อก็ถือว่ายังมีความเสี่ยง ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังเหตุผลสถานการณ์ก็จะดีกว่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image