‘ก้าวไกล’ เผย ‘ส.ว.-ส.ส.รัฐบาล’ ผนึกกำลังวางเกมล็อกแก้รธน. ให้โหวตรับ 2 ใน 3

‘ก้าวไกล’ เผย ‘ส.ว.-ส.ส.รัฐบาล’ ผนึกกำลังวางเกมล็อกแก้รธน. ให้โหวตรับ 2 ใน 3 ด้านฝ่ายค้าน เตรียมฮึด ดันโมเดลปี 40 ชี้ บริบทการเมืองไม่เอื้อเกิดเผด็จการรัฐสภา ซ้ำรอยอดีต

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) คนที่สี่ ให้สัมภาษณ์ การขอแปรญัตติของส.ว. และส.ส. จำนวน 109 ญัตติ ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดประเด็นหลักที่มีคนขอแปรญัตติ ต้องรอให้เลขากมธ.รวบรวมและสรุปอีกครั้ง คาดว่าจะชัดเจนในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคม แม้ว่าจะมีสมาชิกใช้สิทธิ์ของแปรญัตติจำนวนมาก แต่ในการประชุมชี้แจงในกมธ. จริงๆ อาจจะลดลง เท่าที่ทราบประเด็นหลักที่ขอแปรญัตติคือ เรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน ระยะเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญ และหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในกมธ. ยังถกเถียงกันว่า จำนวนเสียงในวาระรับหลักการ (วาระที่ 1) และวาระลงมติ (วาระที่ 3) ควรใช้สัดส่วนเท่าใด โดยในวาระที่ 1 ฝ่ายรัฐบาลต้องการใช้ ส.ส. จํานวน ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของส.ส. หรือจากส.ส. และส.ว. จํานวน ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกท้ังหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา อย่างไรก็ตาม เราต้องดูว่ารากฐานของรัฐธรรมนูญมาจากอะไร หากมีรากฐานมากจากประชาชน ก็ไม่เป็นปัญหาที่จะเขียนหลักเกณฑ์ให้แก้ไขยาก แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีปัญหาคือประชาชนอยากแก้ไข ดังนั้น เมื่อถึงวาระที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 256 จึงต้องลดระดับจากการแก้ไขยาก ให้แก้ไขไม่ยากมากเกินไป ต้องแก้ไขไปตามสถานการณ์ทางการเมือง ฝ่ายค้านจึงเสนอให้ใช้โมเดลแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ ในวาระที่ 1 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และวาระที่ 3 มากกว่ากึ่งหนึ่ง

หากส.ว. หรือนักการเมืองกังวลว่า ถ้ากลับไปใช้หลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบปี 2540 จะทำให้ให้เกิดการใช้เสียงข้างมาก หรือเผด็จการรัฐสภา ก็ต้องดูว่าองค์ประกอบทางการเมืองในรัฐสภาปัจจุบัน ไม่เหมือนกับเมื่อช่วงปี พ.ศ.2544 หรือ พ.ศ.2548 ที่มีพรรคเล็กจำนวนมาก และไม่ได้มีพรรคที่มีเสียงข้างมาก ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องแก้ไขไม่ยาก และต้องถูกผลักดันจากร่างที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ส.ว.มักจะอ้างความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญที่มีการใช้เสียงส.ว. ว่า ส.ว. เป็นเสียงข้างน้อย นำมาเป็นองค์ประกอบเพื่อป้องกันเผด็จการรัฐสภา แต่ตนอยากจะทำความเข้าใจใหม่คือ องค์กร ส.ว. ไม่มีเสียงข้างน้อย หรือเสียงข้างมาก แต่ส.ว. เป็นองค์กรที่ไม่อยู่ใต้อานัติ หรือภายใต้อิทธิพลทางการเมือง คือ ต้องวางตัวเป็นกลาง ดังนั้น เสียงข้างน้อย ควรหมายถึงฝ่ายค้าน หากต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือมากกว่ากึ่งหนึ่ง ก็ต้องนำเสียงของฝ่ายค้านที่เป็นเสียงข้างน้อย ไปเป็นองค์ประกอบ เช่น ต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในอนาคตหากรัฐบาลเสียงข้างมากต้องการจะแก้ไข ก็ต้องมาถามเสียงฝ่ายค้านด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image