‘กก.สมานฉันท์’ส่อล่ม ฝ่ายค้านเมิน-ไปต่อยังไง?

‘กก.สมานฉันท์’ส่อล่ม ฝ่ายค้านเมิน-ไปต่อยังไง?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์ หากไม่มีฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมเข้าร่วมจะสามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร

นพพร ขุนค้า
อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

Advertisement

การแก้ปัญหาแบบไทย คิดอะไรไม่ออกก็ตั้งคณะกรรมการ สำหรับคณะกรรมการต่อให้ฝ่ายค้านเข้าร่วมก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการ แต่อยู่ที่รัฐบาลและ ส.ว.ต้องจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะความขัดแย้งเป็นมรดกที่สืบทอดมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการสืบทอดอำนาจและเขียนกติกาเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจต่อ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อให้จัดตั้งคณะกรรมการอีกเป็น 10 คณะกรรมการความขัดแย้งก็ไม่ได้หายไป จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญเอาตัวที่มีปัญหาออก ที่ชัดเจนคือ ส.ว.ทั้งที่มาและหน้าที่มีปัญหา ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาขององค์กรอิสระ มีปัญหาทั้งหมด ตนก็คิดว่าต่อให้ฝ่ายค้านร่วมหรือไม่ร่วมคณะกรรมการไม่ใช่ทางออกของประเทศ

ส่วนตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ล้มเหลวนั้น ปัญหาที่ถูกจุดไม่ใช่ตรงนั้น อย่างที่เราชอบพูดว่าเกาถูกที่คัน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับความจริงใจในการแก้ไข มีการเตะถ่วง ผมคิดว่าตั้งคณะกรรมการไปก็เสียดายเบี้ยประชุม สุดท้ายก็จะได้กระดาษสรุปที่เรียบเรียงสวยหรู ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ระบบการเมืองไม่ถูกเซตให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ถ้าจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์เกิดประโยชน์ สิ่งสำคัญที่สุด ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และผู้ชุมนุม ยิ่งเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนและนักศึกษา เราต้องรับฟังพวกเขา แต่เราก็ต้องไม่ทิ้งกลุ่มที่เห็นต่างเช่นกัน แต่ข้อเสนอของแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมกัน เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางหมวด แต่ผมมองว่าข้อเสนอของน้องๆ เป็นหลักสากล ทำไมเราจะรับฟังข้อเสนอพวกนี้ไม่ได้ ถ้าจะให้เป็นรูปธรรมคือการที่เขามาร่วมแล้ว คุณต้องรับฟังเขาและนำไปสู่การปฏิบัติที่เขาเสนอมาอย่างนี้ถึงจะพอไปได้ แต่กลัวว่าพอเสนอเสร็จไม่มีจุดร่วมกัน ไม่มีฝ่ายไหนยอมสุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าจะมีประโยชน์คือต้องรับฟังกันอย่างจริงจัง และนำมาปฏิบัติหรือแก้ไขอย่างจริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องรับฟังเขาและหาจุดกึ่งกลางที่รับกันได้ เพราะทุกคนก็คือคนไทยด้วยกัน ต้องหาจุดร่วมกันว่าอะไรพอร่วมได้ มาเจอกันคนละครึ่งหนึ่ง และเอาไปปฏิบัติอย่างนี้ถึงจะเป็นไปได้

Advertisement

สำหรับรัฐธรรมนูญในความคิดที่จะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่าง่ายนิดเดียวและไม่ต้องคิดมาก รัฐธรรมนูญต้องเอาระบบเป็นที่ตั้งไม่ใช่เอาข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง เราปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นระบบรัฐสภา จึงต้องเอาหลักการมาใส่ในรัฐธรรมนูญ ที่มาของนายกฯคือ นายกฯต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎรและตัวนายกฯเองต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพราะประการสำคัญใครก็ตามที่จะมาใช้อำนาจอธิปไตยต้องมีฐานเชื่อมโยงกับประชาชน ระบบการเลือกตั้งก็มีปัญหา ระบบใบเดียวตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และนำไปคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ยังไงก็มีปัญหา ต้องแยกบัตรแบ่งเขตและแยกบัตรปาร์ตี้ลิสต์ ให้มีสองบัตรและมีหลักเกณฑ์ การคำนวณแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ชัดเจนและแน่นอน

จะสังเกตได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ยังงงสูตรเลย ผมก็เป็นอาจารย์กฎหมาย เวลาสอนเด็กผมบอกว่ากฎหมายต้องมีความแน่นอนชัดเจน แต่พอมาเจอเรื่องนี้ไม่สามารถตอบนักศึกษาได้เลย เพราะยังไม่รู้จะใช้สูตรเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งต้องสากล ที่มาของคณะรัฐมนตรีต้องมีฐานเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง ต้องไม่ให้ใครคนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าง ส.ว.ต้องไม่มีสิทธิ และที่สำคัญที่สุดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มาในการสรรหา ต้องมีฐานเชื่อมโยงกับประชาชนที่ผ่านมาเป็นการให้ ส.ว.สรรหา ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าจะให้ ส.ว.สรรหา ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องทำให้เป็นสากลก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถเดินต่อไปได้

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

ปัญหาการตั้งกรรมการสมานฉันท์ ต้องยอมรับว่าผู้ทำหน้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ก่อนที่จะมีการจัดตั้งมีข้อสังเกตว่ากรรมการชุดนี้ไม่มีตัวแทนกลุ่มนักศึกษา ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม ดังนั้นต้องถามว่าการทำหน้าที่ก็อาจจะเสนอแนวทางสมานฉันท์เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเป็นหลักใช่หรือไม่ หรือจะมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของประเทศ

เมื่อมองย้อนหลังที่ผ่านมาจะพบว่ามีการตั้งกรรมการหลายชุด มีผลสรุปให้นำไปพิจารณา ผลการศึกษาถึงต้นตอความขัดแย้ง ถามว่าผู้มีอำนาจในแต่ละยุคได้นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเคยประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่

ทั้งที่การสร้างความสมานฉันท์เริ่มต้นทำได้โดยผู้มีอำนาจต้องมีความจริงใจด้วยการลดความอยุติธรรมที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลิกใส่ร้ายป้ายสีทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลเท็จ ใช้หลักกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ลดความเหลื่อมล้ำ หรือเรื่องที่ทำได้ง่ายสุดก่อนมีกรรมการผู้อำนาจ ก็ควรส่งสัญญาณเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีไทม์ไลน์ชัดเจน แม้ว่าหลายฝ่ายอาจจะเห็นไม่ตรงกันกับสาระสำคัญในบางเรื่อง แต่ไม่ควรใช้เกมการเมืองนำไปตีรวน เพื่อสร้างเงื่อนไขเพิ่มก่อนมีการโหวตวาระ 3 หรือยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพื่อยืดระยะเวลาในการแก้ไขออกไปอีก

วันนี้ต้องถามว่าผู้อำนาจในรัฐบาลนี้ มีความจริงใจและต้องการจะสมานฉันท์กับประชาชนทุกภาคส่วนจริงหรือไม่ หรือต้องการใช้กรรมการชุดนี้เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจต่อไป ที่สำคัญการตั้งกรรมการเพื่อหาทางออก ต้องยอมรับว่าไม่มีใครจะได้อะไรหมดทุกอย่าง เหมือนกล้วยทั้งเครือคงไม่มีใครกินคนเดียวได้หมด จะต้องแบ่งให้คนอื่นกินบ้าง

ประเมินว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการนวดไปเรื่อยๆ ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นมีการใช้ปฏิบัติการไอโอหลากหลายรูปแบบ อาจหยิบยกปัญหาจากการชุมนุมเพื่อทำให้แกนนำแตกแยก เป็นปกติของการทำมวลชนขนาดใหญ่ ทุกแกนนำในการชุมนุมก็คงไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่อง หรือมีปัญหาเรื่องการเงิน สำหรับม็อบทุกกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ก็ไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงโดยเด็ดขาด

ส่วนตัวเชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีความตั้งใจในการจัดตั้งกรรมการสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลทหาร แต่แนวทางนี้ถูกมองว่าอาจจะล้าหลังแล้วในสังคมปัจจุบัน เพราะยังไม่เห็นผู้มีอำนาจออกมาเสนอแนวคิดที่จะสนับสนุนอย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นสารตั้งต้นของความขัดแย้งและรู้ปัญหาทั้งหมด

และที่บอกว่าให้ถอยคนละก้าวก็คงบอกแกนนำมวลชนให้ถอยหลังเข้าห้องขัง มากกว่าการเปิดใจรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุผลหรือเงื่อนไขที่พอจะยอมรับได้ ยกตัวอย่างการไขปัญหาทางการเมืองในประเทศเกาหลีใต้ เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน กระทั่งประสบผลสำเร็จมีการนำคนผิดไปลงโทษ ทำให้ปัจจุบันประเทศก้าวหน้าไม่มีการทำรัฐประหาร

ขณะที่ประเทศไทย ถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่าเสียเวลาไปถามหากรรมการสมานฉันท์ หรือการสร้างความปรองดอง เพราะไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากกองทัพมีอิทธิพลเหนือทุกอย่าง ระเบียบของกองทัพใหญ่กว่ากฎหมายหลักของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงเป็นปัญหาที่ไม่มีแนวทางแก้ไข และถ้ามีปัญหาแบบนี้โอกาสที่ประชาชนจะมีความสงบสุขเกิดขึ้นได้ยากมาก

วันนี้ยังไม่มีกรรมการสมานฉันท์ แต่ผู้มีอำนาจสามารถเลือกคิดและทำได้เพื่อให้ประเทศสงบสุขด้วยการแสดงความจริงใจ หรือการกล่าวคำขอโทษในการกระทำบางเรื่องที่มีปัญหา เช่น การใช้ทฤษฎีการคลังบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด หรือการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วยังปล่อยให้โควิด-19 ระบาดซ้ำในภาคเหนือ เชื่อว่าไม่มีอะไรเสียหาย เพราะคนเราไม่มีใครมีความสมบูรณ์ครบทุกอย่าง และเชื่อว่าประชาชนยังให้โอกาส

ถ้าจำได้ในสมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังเอ่ยคำขอโทษกรณีปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ไม่ได้สนใจว่าจะตั้งใคร ฝ่ายไหนไปทำหน้าที่ มีการระยะเวลาทำงานยาวแค่ไหน แต่ปัญหาอยู่ที่กรรมการชุดนี้คิดแล้วมีข้อเสนอ รัฐบาลจะยอมทำตามหรือไม่ หรือมีใครเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้ามีข้อเสนอที่ดีอย่างไร ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย สาระสำคัญในข้อเสนอก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้ตำหนิกลุ่มบุคคลที่ริเริ่มแนวคิดนี้ เชื่อว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภา มีความตั้งใจและหวังดีกับประทศ

ในโลกความเป็นจริงการเดินหน้าสร้างความปรองดองสมานฉันท์ สามารถเริ่มต้นได้ทุกวัน สิ่งสำคัญคือใครเป็นคนคิด และนั่งคิดเพียงคนเดียวก็ได้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ขอให้คิดเพื่อให้มีแนวทางที่อีกฝ่ายยอมรับได้ ดังนั้นอย่าไปสนใจหรือมีข้อกังวลว่ากรรมการชุดนี้จะแต่งตั้งล่าช้าเกินไปไม่ตอบโจทย์ให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมีการแต่งตั้งกรรมการประเภทนี้หลายชุด แต่ที่สุดก็ล้มเหลว

ประธานกรรมการบางรายยังท้วงติงผู้มีอำนาจในยุคนั้นว่า เสนอแล้วแต่ไม่เห็นเอาไปทำจริงจัง หรือเลือกทำในสิ่งที่รัฐบาลได้ประโยชน์ ดังนั้นอย่าไปตั้งความหวังสูงเกินไปว่ากรรมการจะแก้ปัญหาได้จริง ทั้งที่รัฐบาลควรคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ ในอดีตรัฐบาลยุคพลเอกเปรมคิดนโยบาย 66/23 แล้วทำไมจึงประสบผลสำเร็จ เพราะได้รับความร่วมมือจากอีกฝ่ายที่เคยขัดแย้ง ต้องเอาไปคิดว่าทำไมทำได้จริง เพื่อไม่ให้คนไทยฆ่ากันเอง แล้วยังร่วมมือพัฒนาชาติเป็นของแถม รัฐบาลยุคนั้นคิดเองเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ใช้อำนาจไปบังคับให้อีกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ

จึงสรุปได้ว่ายุคไหน ถ้าหากผู้มีอำนาจตั้งใจจะทำจริงด้วยความตั้งใจ ไม่มีอะไรแอบแฝง เพราะหลงหรือยึดติดในอำนาจเก่าๆ ความสำเร็จก็รออยู่ที่ปลายทางแน่นอน แต่ถ้าผู้มีอำนาจไม่อยากทำ เสนอไปอย่างไรก็ไร้ค่า หรือยอมทำบางอย่าง แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีประโยชน์ หรือจะยอมทำบางเรื่องโดยไม่ฟังเสียงของกลุ่มที่ออกมาเชียร์รัฐบาลหรือไม่

เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงเลือกได้ว่าจะเดินไปทางไหน เพื่อสร้างท่าทีให้มีการยอมรับได้จริงเพื่อให้เกิดความสงบ จากการแก้ปัญหาเรื่องที่ประชาชนส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ทั้งที่จะเป็นข้อเท็จจริงตามนั้นหรือไม่ก็ตาม แต่กลุ่มที่ไม่ยอมสงบคิดได้แบบนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลายเรื่อง

เชื่อว่าความขัดแย้งที่มีมานานก็จะมีประโยชน์กับบางฝ่ายเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากรัฐบาลถูกมองว่าไม่ได้อยู่ตรงกลางอย่างแท้จริง และต้องติดตามให้ดี จากกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะมีอาการหนักกว่าของเก่า มีเงื่อนไขเพิ่มให้แก้ได้ยาก ถือเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐบาลมีความจริงใจกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image