ศาลรธน. ยกคำร้องสอบม็อบ 2 เวที “ไม่ครบถ้วน-ไม่ชัดเจน”

Pro-democracy protesters attend a mass rally to call for the ouster of prime minister Prayuth Chan-ocha's government and reforms in the monarchy, in Bangkok, Thailand, September 19, 2020. REUTERS/Athit Perawongmetha

ศาลรธน.ยกคำร้องสอบม็อบ 2 เวที “ไม่ครบถ้วน-ไม่ชัดเจน”

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 6 ธค.ว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 67/2563 เรื่องพิจารณาที่ 16/2563 ยกคำร้องกรณีนายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (ผู้ร้อง) ยื่นเรื่องร้องกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มประชาชนเยาวชนปลดแอก ที่ปัจจุบันคือม็อบราษฎร 2563 (ผู้ถูกร้อง) กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจัดการปราศรัยโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์

กรณีนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อสั่งให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจัดการชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผู้ร้องเคยยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ อสส.ไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่รับคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ดังนี้ 1.สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม 2.กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามมีการชุมนุมใดๆ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ จึงให้ผู้ร้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ระบุตัวบุคคลที่กระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) นายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก 4 แกนนำม็อบราษฎร รวมทั้งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมปราศรัยวันที่ 19-20 กันยายน 2563 บริเวณท้องสนามหลวง

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า คำร้องและคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้องต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

Advertisement

วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่อ อสส. เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำดังกล่าวได้Ž และวรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่ อสส. มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ตามคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมผู้ร้องจะระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ก็ตาม แต่ยังคงไม่มีการเพิ่มเติมให้เห็นถึงการกระทำ พร้อมข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง คำร้องและคำร้องเพิ่มเติมดังกล่าวของผู้ร้องจึงมีรายการไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และไม่อาจเข้าใจได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง

อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ผู้ร้องไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง เป็นกรณีต้องด้วย พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 53 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของการกระทำในการจัดการชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ไว้วินิจฉัย

Advertisement

ส่วนกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวมีการจัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อ อสส. กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image