‘กนก’ ขอ สังคมไทย รับไม้ต่อจาก ‘ชวน’ เดินหน้ากลไกสมานฉันท์ต่อ อย่าให้เสียหาย

‘กนก’ ขอ สังคมไทย รับไม้ต่อจาก ‘ชวน’ เดินหน้ากลไกสมานฉันท์ต่อ อย่าให้เสียหาย

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงบทบาททางการเมืองของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ เป็นผู้นำภารกิจการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกวิกฤตการเมือง  โดย ระบุว่า

ทางออกประเทศไทย ภารกิจใหม่ของ “นายชวน”

1.

Advertisement

ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่ผ่านมา มีการแสดงแนวความคิดเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของเหล่าสมาชิกรัฐสภา นอกเหนือไปจากการนำเสนอสาเหตุของการชุมนุมที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการช่วยกันหาทางออกจากความขัดแย้งของบ้านเมืองในหลากหลายแนวทาง จนมาบรรจบพบเจอกันที่ “คณะกรรมการสมานฉันท์” ความเป็นไปได้ที่สุดในการสลายความแตกแยกของคนในชาติ ณ ตอนนี้ ซึ่งประธานรัฐสภา (นายชวน หลีกภัย) ได้รับเป็นภารกิจในการประสานกับฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองเพื่อออกแบบกลไกที่มีชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ให้สามารถเป็นคำตอบที่ถูกต้องของประเทศได้ และสามารถเป็นความหวังให้กับประชาชนทุกกลุ่มในการบริหารจัดการความไม่พอใจในประเด็นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักของกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน

เบื้องต้น เชื่อว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ในการรับฟัง หารือร่วมกัน ไปจนถึงการประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งทางตรง และทางอ้อม รวมไปถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยกันสร้างเครื่องมือที่ทุกฝ่ายยอมรับ เห็นด้วย และมีความร่วมมือในการนำไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จ นั่นคือการยุติความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆ ของทุกฝ่ายอย่างประนีประนอม ภายใต้กรอบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2.

สำหรับในประเด็นเรื่องของความขัดแย้ง ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมอยากลงรายละเอียดก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ถ้ามองกันให้ชัดจะเห็นว่า มิได้เป็นความขัดแย้งที่มีคู่กรณีเป็นผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่เชื่อมโยงไปยังประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวมีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนความไม่เป็นธรรมที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งประเด็นของความยากจน ความไม่รู้ของประชาชน การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยทุน และนโยบายจากทางภาครัฐ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ได้รับการฝังลึกอยู่ในแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นชนวนอย่างดีในการปลุกเร้าความกระด่างกระเดื่องต่อการบริหารงานของทางภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน)

ดังนั้น การสมานฉันท์จึงเกี่ยวข้องกับคนทุกระดับในสังคมทุกภูมิภาค ไม่ใช่แค่การสมานฉันท์เฉพาะผู้นำการชุมนุมกับรัฐบาล หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น และด้วยความเข้าใจต่อรากของปัญหาความขัดแย้งอันลึกซึ้งเช่นนี้กระมัง ท่านประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” จึงเดินทางไปตามตลาดและแหล่งชุมชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อรับฟังอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะสภาพปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขาที่เป็นเสมือนเชื้อเพลิงอย่างดี ที่สามารถเติมลงไปในไฟแห่งความขัดแย้งนี้ให้ลุกลามบานปลายได้ เพื่อนำไปสู่ข้อมูลในการดับไฟ (แห่งความขัดแย้ง) ที่จะนำไปแจ้งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับการปรึกษาหารือของคณะกรรมการสมานฉันท์ต่อไป

3.

โดยส่วนตัวเชื่อว่า ความขัดแย้งยุติได้ด้วยการเจรจา ไม่ใช่การใช้กำลัง ทางออกต้องตั้งอยู่บนการประนีประนอม และสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้จัดการกับสาเหตุของความขัดแย้งตามที่ตัวเองเชื่อในกรอบของการยอมรับร่วมกันในสังคมและกฎหมาย การเปิดพื้นที่กลางเพื่อให้ทุกฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ และความต้องการของกลุ่มต่อกัน ย่อมเป็นกุญแจดอกแรกในการไขไปสู่ทางออกของบ้านเมือง ซึ่งการตั้งจำนวนคณะกรรมการสมานฉันท์ตามตำแหน่งและความเชี่ยวชาญที่เผยแพร่ออกมา น่าจะเป็นการให้น้ำหนักในลักษณะดังกล่าวนี้

แต่สิ่งที่อยากจะลงรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อไปการร่วมด้วยช่วยกันออกแบบกลไกแห่งความสมานฉันท์ก็คือ เงื่อนไขของความสำเร็จทั้ง 2 ประการ ดังนี้

1. การรับฟังข้อมูลและความคิด ต้องเกิดขึ้นด้วยการเคารพในความแตกต่างของกันและกัน โดยที่ต้องไม่ตั้งหน้าตั้งตาหักล้างความเห็นความคิดของอีกฝ่าย และควรเปิดใจที่จะรับฟัง และพยายามเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ข้อมูล และความคิดเห็นระหว่างกันอย่างรอบด้าน ที่สำคัญ อย่าทำลายความเชื่อหรือความศรัทธาของอีกฝ่าย ด้วยความไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา เพราะจะนำไปสู่การปิดประตูแห่งความสมานฉันท์ในทันที ดีที่สุดคือการให้เกียรติความเชื่อและศรัทธาต่อกัน จากนั้นค่อยไปคุยในรายละเอียดของสิ่งที่ทำได้ และไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขอะไร

2. ความจริงใจ และความปรารถนาดีต่อกัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยคำพูด แต่ต้องเป็นการกระทำที่ทำหน้าที่แทน ซึ่งต้องใช้เวลา และความอดทนอย่างสูงต่อกัน ดังนั้น ถ้าสามารถยึดหลักในเรื่องนี้ได้ ความสมานฉันท์ก็จะมีโอกาสสำเร็จอย่างสูง

4.

เงื่อนไข 2 ทั้งประการดังกล่าวนี้ จึงเปรียบเสมือนอุปสรรคที่จะขวางกั้นเส้นทางของกระบวนการสร้างความสมานฉันท์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ดังนั้น ถ้าอยากให้ประเทศกลับไปสู่ความสมานฉันท์บนความคิดเห็นอันแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ไม่มีการปะทะห้ำหั่นกันด้วยกำลังหรืออาวุธ การเมืองกลับมาอยู่ในกรอบของนิติบัญญัติและรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง คณะกรรมการสมานฉันท์ต้องยึดหลัก 2 ประการดังกล่าวนี้ในการทำงาน และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการนำทุกฝ่ายของความขัดแย้งเข้าสู่พื้นที่กลางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

นี่คือความยากที่ประธานรัฐสภา ต้องรับบทบาททั้งการออกแบบกลไก กำหนดเส้นทาง และวาระในการทำงาน รวมไปถึงการรวบรวมและแจกจ่ายข้อมูลที่มีความจำเป็น เพื่อที่คณะกรรมการสมานฉันท์จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ภายใต้การยอมรับจากทุกภาคส่วน (เท่าที่จะมากได้) ที่สำคัญ หลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์เริ่มทำงานแล้ว ภาระหน้าที่จากประธานรัฐสภา จะได้รับการถ่ายเทมาที่ประชาชนอย่างพวกเรา ที่จะต้องสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ ให้สามารถเป็นความหวังในการพาประเทศไทยออกจากวิกฤตความขัดแย้งได้สำเร็จ

และนี่คือวาระต่อไปของประเทศไทย ที่พวกเราทุกคนต้องร่วมใจ รับไม้ต่อจาก “นายชวน หลีกภัย” เพื่อประคับประคองไม่ให้เครื่องมือแห่งความสมานฉันท์ชิ้นนี้ ถูกทำให้เสียหาย หรือใช้การไม่ได้ จากใครก็ตามที่ไม่อยากให้ประเทศไทยกลับไป “รู้รักสามัคคี” กันในแบบเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image