ป.ป.ช. ลั่น! มีอำนาจไต่สวน ตลก.ศาล รธน.หลัง เรืองไกร ยื่นสอบปมบ้านพักหลวงบิ๊กตู่

ป.ป.ช.ลั่น! มีอำนาจ ไต่สวน ตลก.ศาล รธน.หลัง เรืองไกร ยื่นสอบปมบ้านพักหลวงบิ๊กตู่

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.ยื่นร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยเรื่องบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 234(1) หรือไม่ ว่า เมื่อหนังสือที่ยื่นมาถึง ป.ป.ช.แล้วจะต้องนำมาพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่เคยมีผู้ร้องมายัง ป.ป.ช.แล้วหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องของบ้านพักทหารนั้น เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบกรณี พล.อ. ประยุทธ์ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา พร้อมนายพลอีกเกือบ 100 คน ทั้งที่ยังรับราชการอยู่และเกษียณราชการไปแล้วยังอยู่บ้านพักทหาร เข้าข่ายรับผลประโยชน์มากกว่า 3,000 บาท ขัดต่อ พ.ร.บ. ป.ป.ช.2561 มาตรา 128 ประกอบประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่รัฐ 2543 โดยเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้ แต่ยังไม่ถึงกับตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยการตรวจสอบนั้นต้องดูประกอบระเบียบราชการเกี่ยวกับเรื่องการพักบ้านของทางราชการ คือ บ้านพักของราชการทหารที่อยู่กับบ้านพักรับรอง บ้านพักรับรองของกองทัพบกเป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการทหารบก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาในเรื่องความเหมาะสม หรือเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามหลักการและระเบียบของกองทัพบก ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีความคืบหน้าพอสมควร ใกล้จะสรุปแล้ว

“ทราบจากข่าวว่า นายเรืองไกร ยื่นให้สอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่วินิจฉัย แต่ที่ ป.ป.ช.สอบอยู่นั้น เป็นเรื่องการอยู่หรือไม่อยู่บ้านพัก ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยถูกร้องมาเมื่อต้นปี แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นอยู่หรือไม่อยู่ที่ ป.ป.ช.สอบอยู่นั้น เป็นประเด็นเดียวกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดุลพินิจในการพิจารณาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่นายเรืองไกรจะร้องก็ร้องได้ แต่มีมูลหรือไม่มีมูลความผิดนั้นก็จะเป็นการพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่งว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งต้องเข้าไปดูก่อน เว้นแต่มีประเด็นอื่น ทั้งนี้ เรื่องดุลพินิจของตุลาการนั้นเป็นอิสระ เช่นของตุลาการหรืออะไรต่างๆ เราจะไปก้าวล่วงไม่ได้ว่าสิ่งที่ท่านพิจารณาผิดหรือไม่ผิด เพราะเป็นอำนาจของท่าน เว้นแต่มีประเด็นเรื่องไปเรียกรับเงิน หรือมีเจตนาจะช่วยเหลือ ก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่จะต้องมีพฤติการณ์ พยานหลักฐาน แต่ถ้าอยู่ๆ ไปกล่าวหาลอยๆ อย่างนี้ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็น ขัดเจตนา” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในวันที่ 8 ธ.ค.จะสามารถนำคำร้องของนายเรืองไกรเข้าสู่ที่ประชุมได้เลยหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอเพื่อทราบ และต้องตรวจสอบก่อน จะวินิจฉัยเลยในทันทีไม่ได้ แต่จะต้องดูที่ข้อเท็จจริงเพื่อดูว่าข้อกล่าวหามีอย่างไร เข้าองค์ประกอบ อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.หรือไม่ ถ้าอยู่เราจะดำเนินการตรวจสอบ โดยอาจจะมีหนังสือขอทราบละเอียดการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนั้นจะต้องขอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถไต่สวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรอิสระด้วยกันได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า “มีอำนาจตรวจสอบได้ถ้ากระทำความผิด 3 ฐาน ได้แก่ ทุจริต กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม รวมไปถึงในแง่ของจริยธรรมก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานชัดเจน แต่ในเรื่องของดุลพินิจเราจะไปตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่ได้ อันนี้เป็นไปตามหลัก เว้นแต่จะมีประเด็นกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โดยมีลักษณะอย่างไรที่ว่ามิชอบ หรือมีประเด็นที่ไปเรียกรับเงินเพื่อว่าคดีอย่างนั้นอย่างนี้”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image