‘ลาวัณย์’ ศิลปินแห่งชาติ หนุน 3 ข้อเรียกร้อง ปลื้มเด็กไทยก้าวหน้า ‘ส.ศิวรักษ์’ เตือนประยุทธ์ศึกษาบทเรียน ‘สุจินดา’

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม 2535 สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 จัดกิจกรรมแนะนำอนุสรณ์สถาน พฤษภาประชาธรรม โดยมีนางลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภริยานายสมโภชน์ อุปอินทร์ ศิลปินชื่อดังผู้ล่วงลับ ผู้ออกแบบอนุสรณ์สถาน เดินทางมาเยี่ยมเยือน พร้อมด้วยนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ,นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตร, นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชน พฤษภา 35 พร้อมด้วยญาติวีรชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เดินทางมาถึงบริเวณอนุสรณ์สถาน ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. โดยเดินชมอนุสรณ์ดังกล่าวและยืนอ่านรายชื่อวีรชนที่สลักอยู่บริเวณฐานของตัวอนุสาวรีย์ จากนั้น นายอดุลย์เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนฯ ได้เข้าไปกราบขอบคุณนายสุลักษณ์ที่มีส่วนผลักดันกระทั่งเกิดอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ต่อมา นางลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ ภริยานายสมโภชน์ อุปอินทร์ซึ่งผู้ออกแบบอนุสรณ์สถานเดินทางมาถึง ญาติวีรชนที่รออยู่ก่อนหน้า ได้มารวมตัวถ่ายภาพร่วมกันและขอบคุณครอบครัวอุปอินทร์ โดยมีการพูดคุยถึงรูปแบบอนุสรณ์สถานซึ่งในการก่อสร้างจริงมีความแตกต่างออกไปจากแบบที่นายสมโภชน์ออกแบบไว้ ซึ่งนายอดุลย์อธิบายว่าติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ หากสามารถหางบเพิ่มเติมได้ จะปรับเปลี่ยนอีกครั้งในส่วนของวัสดุ

นางลาวัณย์กล่าวว่า นายสมโภชน์ได้ออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ด้วยความตั้งใจอย่างมาก แม้เคยออกแบบผลงานมากมาย แต่เป็นผลงานชิ้นแรกที่ทำเพื่อประชาชน โดยบริเวณฐานจะต้องสร้างด้วยหินอ่อนสีแดง เพื่อสื่อสัญลักษณ์ของเลือดเนื้อผู้สละชีพ แต่เมื่อสร้างออกมา มีการใช้หินแกรนิตสีดำแทน ส่วนบนเป็นรูปลูกบาศก์ซึ่งตามที่ออกแบบต้องมีการสลักชื่อวีรชนไว้บริเวณดังกล่าว แต่อนุสาวรีย์ที่สร้งออกมา ได้สลักชื่อไว้ที่ฐาน ไม่ใช่ที่ลูกบาศก์ สำหรับส่วนบนสุด คือนกพิราบสีทอง สื่อถึงเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ สัดส่วนหลังสร้างเสร็จ มีความสูงชะลูดกว่าแบบที่นายสมโภชน์ทำไว้ หากมองในแง่ดี คือ ทำให้มองเห็นได้ง่ายและสง่างามมากขึ้น

ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

นางลาวัณย์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ตนเห็นด้วยอย่างมากกับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น 1. พลเอกประยุทธ์ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบัน ทุกวันนี้ติดตามข่าวการชุมนุมทุกวัน และเคยนั่งรถมาสังเกตการณ์การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาด้วย ยังได้เห็นข่าวที่มีพ่อแม่ไล่ลูกออกจากบ้านเพราะเข้าร่วมม็อบ ซ้ำยังเป็นลูกสาว ในฐานะแม่อยากให้ผู้ปกครองรับฟังเสียงของเด็กๆ สำหรับในยุคเดือนตุลา ตนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแนวหน้า แต่ช่วยเขียนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตนเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ฯ ม.ศิลปากร เวลานักศึกษาธรรมศาสตร์จะเคลื่อนไหว ก็ช่วยเขียนป้าย

Advertisement

“เห็นแล้วปลื้มใจ ที่เด็กตัวเล็กๆ ยังมีความสำนึกทางด้านการเมืองอย่างนี้แล้ว ดูข่าวแล้วน้ำตาไหล ประทับใจว่านอกจากนิสิต นักศึกษา ยังมีเด็กระดับประถมตัวนิดเดียวออกมาเดิน ดูแล้วเด็กสมัยนี้เขาก้าวหน้าจริงๆ ติดตามข่าวทุกวัน เคยแว่บมาดูการชุมนุมด้วย” นางลาวัณย์กล่าว

ด้านนายสุลักษณ์ กล่าวว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้ หากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันศึกษาบทเรียน จะไม่ผิดพลาดเหมือนพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเก่งมาก แต่หลงในอำนาจ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 หากพุดอย่างไม่เกรงใจ ประยุทธ์ฉลาดไม่ได้เสี้ยวของสุจินดา จึงควรเรียนรู้ความผิดพลาด อย่าอ้างประชาธิปไตยจอมปลอม การแก้รัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้เนติบริกรทำสำหรับแนวโน้มการเรียกร้อง เชื่อว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขอชื่นชมผู้ออกมาเรียกร้อง แม้แต่นักเรียนตัวเล็กๆ ยังเรียกร้องสิทธิในด้านเครื่องแบบ รัฐบาลต้องฟังคนรุ่นใหม่

Advertisement

“บ้านเมือง คนแก่ ต้องฟังคนรุ่นใหม่ให้มาก สิ่งที่เขาเรียกร้องก็ไมไ่ด้มากมากมายอะไร เขาเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย พื้นฐานความเป็นมนุษย์ ขอเตือนด้วยความเคารพโดยใช้คำของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ว่า ต้องมีสันติ ประชาธรรม ถ้าฉลาด ก็เชิญนักศึกษามาร่วมหาทางออก  คนไทยรอมชอมกันได้ ต้องระวังว่าความรุนแรงจะเกิด แต่จะไม่เกิดจากประชาชน” นายสุลักษณ์กล่าว

นายสุลักษณ์กล่าวว่า สำหรับกฎหมาย ม.112 มองว่าโทษรุนแรงเกินไป และมีการนำมาใช้กับผู้เห็นต่าง มีประโยชน์เฉพาะผู้มีอำนาจ สื่อมวลชนต้องมุ่งเสนอข้อเท็จจริงให้สังคม ส่วนล่าสุดที่มีการเปิดตัวกลุ่ม ‘อาร์ทีมูฟเม้นต์’ โดยมีสัญลักษณ์คือค้อนและเคียว มองว่าควรให้โอกาสการแสดงออก อย่าไปตีความว่าเขาจะไปซ่องสุม

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวว่า ผิดหวังกับการเมืองไทยปัจจุบัน เพราะผ่านเหตุการณ์พฤษภา 35 มานานถึง 28 ปี ยังถอยหลังเข้าคลอง กระบวนการยุติธรรมถูกทำร้ายโดย คสช. การบริหารงานก็ล้มเหลวทุกด้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้าย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ได้เดินทางมาถึง โดยกล่าวถึงอนุสรณ์สถานดังกล่าวซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจคนไทยว่า ในทุกเหตุการณ์ทางการเมือง การที่คนไทยเห็นต่างกันแล้วต้องตาย ไม่ควรมีอีกแล้ว แต่ควรหาทางแก้ไขที่ไม่ใช่การนองเลือด ในนามมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมต้องขอบคุณญาติวีรชนและอาจารย์หลายท่านที่ช่วยสนับสนุนมาตลอด หวังว่าพื้นที่นี้จะได้รับการพัฒนาต่อไปให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

นายปริญญา ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ว่า ตนคิดว่ารัฐบาลคงอาศัยเดือนธันวาคม และช่วงปีใหม่ในการยืดเวลาแก้ปัญหาออกไป สิ่งที่จำเป็นต้องแก้คือประเด็นการเมืองเรื่องการสืบทอดอำนาจ นี่คือต้นเหตุของปัญหา และเป็นเรื่องใหญ่ ปีหน้าตนไม่อยากเห็นสถานการณ์ที่แย่ไปกว่านี้ แต่แนวโน้มเป็นเช่นนั้น คือ แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ รัฐบาลควรฟังเสียงนอกสภาให้มาก ประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญตนมองว่า ทางที่ดีที่สุดคือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“กว่าจะมีรัฐธรรมนูญใช้เวลา ราว 2 ปี ดังนั้นต้องแก้สิ่งที่เป็นปัญหาก่อน การฟังเสียงประชาชน และให้ สสร.มาจากการเลือกตั้ง ช่วยได้ แต่ไม่พอ ดัวนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำค่อต้องแก้ไขประเด็นการสืบทอดอำนาจ อีกข้อหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีตัองยึดหลักที่ว่า อย่าให้มีเรื่องกระทบสถาบันจากปัญหาทางการเมืองของรัฐบาล ที่ผ่านมามีโอกาสแก้ แต่ทิ้งไปแล้ว คือ การตัดอำนาจ สว. ที่มาเลือกนายก ฯ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพราะประชาชนติดใจตรวนี้ ความเห็นต่างเป็นปกติ แต่ควรจบที่หีบเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พอมี สว. ปัญหาเกิด” นายปริญญากล่าว

นายปริญญากล่าวอีกว่า จะไปหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่แก้ได้ ก็นานเกินไป ตนไม่คิดว่า จะสามารถประคองไปได้นานขนาดนั้น ส่วนตัวไม่อยากเห็นการเมืองแรงกว่าที่ผ่านมา สิ่งสำคัญมากคือ รัฐบาลต้องอย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลปฏิเสธในการแก้ปัญหาไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image