ปิยบุตร ชี้ปัญหา ม.112 แนะปรับฐานคิด เอาออกจาก ‘ประมวลอาญา’ ใช้มุมสิทธิเข้าจับ

ปิยบุตร ชี้ปัญหา ม.112 แนะปรับฐานคิด เอาออกจาก ‘ประมวลอาญา’ ใช้มุมสิทธิเข้าจับ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ สืบเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับ ม็อบเฟสต์ (Mob Fest) จัดกิจกรรม ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง โดยมีกิจกรรม อาทิ วงเสวนาวิชาการ นิทรรศการ ม.112 สลับดนตรี และการแสดงงานศิลปะ

เวลา 14.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ม.112 ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ในตอนหนึ่ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนคณะก้าวหน้า เล่าที่มาที่ไป ในประวัติศาสตร์ไทย ว่า ม.112 ถูกบังคับใช้อย่างไรในอดีต เกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองไทยอย่างไรบ้าง โดยกล่าวว่า

ขอชื่นชมราษฎร ที่แข็งขันในการต่อสู้ แม้ภาครัฐใช้กฎหมายข่มขู่ คุกคาม 10 ธันวาคม ประเทศไทยกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง สากลกำหนดให้เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ย้อนกลับไป เราเคยมีการจัดเสวนา ประเด็นนี้ ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ครบ 10 ปีพอดี เป็นครั้งแรกๆ ที่พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และการเสวนาครั้งนั้น แม้จะจัดโดยคณะนิติราษฎร์ แต่คนที่อยู่ข้างๆ คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่เรายังเล็งเห็นว่า หากกลุ่มนายสมยศจัด อาจถูกข้อหาได้ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัย เอาเสรีภาพทางวิชาการเป็นเกราะคุ้มกันไว้ เสวนาครั้งนั้น 10 ปี ถัดมายังคงมีปัญหาอยู่

Advertisement

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ บทบัญญัติ ที่กำหนดความผิด ฐานดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน การจะพิจารณาความเหมาะสม ต้องตั้งหลักก่อนว่า เราต้องการการปกครองระบอบใด หากเราอยากปกครองแบบรัฐเสรีประชาธิปไตย ที่นานาอารยประเทศได้ให้การนับถือ ต้องยืนยันว่าประชาชนคือผู้ทรงสิทธิเสรีภาพ ในการคิด พูด เขียน แสดงออก อย่างไรก็ตาม รัฐเสรีประชาธิปไตย ยินยอมให้กำจัดเสรีภาพได้ โดยการเขียนกฎหมาย ที่ตรงโดย สภาผู้แทนราษฎร ตังแทนประชาชน เพราะจะไปจำกัดสิทธิประชาชน และต้องทำพอสมควรแก่เหตุ เสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศอื่นๆ จะอ้างเรื่องการคุ้มครอง เกียรติยศ ชื่อเสียงของบุคคลอื่น นี่คือฐานที่มา ที่ระบบกฎหมาย ออกแบบ ความผิด ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ซึ่งต้องหาความสมดุลทั้งสองส่วน

“เมื่อดูแล้ว ประเทศไทยจึงกำหนดประมวลกฎหมายอาญา ฐานดูหมิ่นทั่วไป แต่บุคคลของรัฐ ในฐานะสาธารณะ ความจริงต้องถูกตรวจสอบและจับตา มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว หากไม่อยากถูกวิจารณ์ ต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเป็นสังคมประชาธิปไตย เราเรียกร้องมากขึ้นว่าข้ออ้างในการคุ้มครองการทำหน้าที่รัฐ และกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มากเกินไปจนไม่สามารถแสดงสิทธิ เสรีภาพได้

Advertisement

อย่าง ม.112 มีปัญหา ข้อแรก คือ 1.ตำแหน่งแห่งที่ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่บุคคลทั่วไปอยู่ในหมวดอื่น ซึ่งวางผิดตำแหน่งแห่งที่ผลในทางกฎหมาย เมื่อตีความมักไม่ค่อยให้ประกันตัว เพราะมองว่า เป็นความผิดร้ายแรง

2.อัตราโทษ ก่อนหน้านี้จำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่หลังจากรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รื้อความผิด เพิ่มโทษ เพื่อปิดปากนักศึกษาในสมัยนั้นด้วยกฎหมาย จึงใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ไปแก้โทษทั้งหมด โดยเพิ่มเป็น 3-15 ปี อัตราโทษสูงมากกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งยังกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ โดยปกติมีเพียงกำหนดโทษขั้นสูง นี่คือความผิดประหลาด ของการกำหนดโทษที่เกินกว่าเหตุ

3.ไม่มีเหตุงดเว้นความผิด ยกเว้นโทษ กล่าวคือ หากพูดโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด แต่ข้อนี้ไม่มี ซึ่งข้อหาหมิ่นประมาททั่วไปหากพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ จะยกเว้นโทษ

4.ใครก็แจ้งความได้ทั้งหมด ซึ่งทุกครั้งที่แจ้ง ก็เดินเรื่องต่อทุกครั้ง ส่งผลต่อมา คือการเอาไปกลั่นแกล้ง กลายเป็นภาระในการดำเนินคดี

5.การใช้และการตีความของเจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย ซึ่งเคยตีความย้อนไปถึงอดีต บางครั้งกล่าวเชิงเปรียบเทียบ ก็ถูกขยายตัวบทเกินอักษร” นายปิยบุตรกล่าว และว่า

คำที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะอ้างกับเรา ไม่ช้าก็เร็ว เพราะจะถูกชักชวนไปดีเบต ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักอ้าง 2-3 เรื่อง คือ

1.บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ละเมิดมิได้ จึงจำเป็นต้องมี ม.112 ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปอ้าง เป็นการอ้างอย่างผิดฝาผิดตัว เพราะบทบัญญัตินั้นให้เกียรติในฐานะประมุขของรัฐ แต่ไม่ใช่บทบังคับ ขึ้นชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การกำหนดโทษ “อันละเมิดไม่ได้” คือการฟ้องร้องไม่ได้ บทบัญญัตินี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกฎหมาย มาตรา 112 เป็นคนละส่วนกัน ยกเลิก 112 บทบัญญัตินี้ก็ยังคงมีอยู่

2.กฎหมายอย่างนี้ ประเทศไหนก็มีกัน ประธานาธิบดี ยังมีได้ อยากยืนยันว่า ประเทศอื่นมีแบบหลากหลาย บางประเทศมี แต่ไม่ใช่ เขาปล่อยให้เหมือนตัวอักษรที่ตายไปแล้ว ที่สำคัญโทษไม่สูงเท่านี้ ตัวอย่างประเทศ ญี่ปุ่นไม่มี อังกฤษเคยมี เมื่อ 200-300 ปี มาแล้ว แต่ไม่ได้ใช้ กลุ่มที่ใช้บ่อย อย่าง โมรอกโก ก็ยังโทษต่ำกว่า ดังนั้น การอ้างเช่นนี้ ควรจะต้องชี้แจง ว่าถ้าอย่างนี้ ประเทศอื่นเอาประชาธิปไตย เราก็ต้องมีบ้างสิ เขาไม่เอาทหาร เราก็ต้องไม่เอาบ้างสิ พออ้างแบบนี้ ก็อ้างว่าฝรั่งชังชาติ แต่ข้อนี้สามารถโต้เถียงได้

3.ขนาดมียังขนาดนี้ ไม่มีจะขนาดไหน ดังนั้น ต้องมี และต้องมีให้แรง ต้องอธิบายว่า คนที่จะวิจารณ์ กฎหมายไม่ได้ช่วย การให้คนงดการแสดงออก ผลลัพธ์จะตรงกันข้าม และเกิดตั้งคำถามมากขึ้น การใช้กฎหมายเพื่อหยุดการวิจารณ์ ทำไม่ได้ การหยุดที่ดีที่สุด คือการปฏิรูปให้สอดคล้องกับยุคสมัย

นายปิยบุตร กล่าวว่า มีข้อสังเกตเล็กน้อยเกี่ยวกับ ม.112 เราถกเถียงว่า จะแก้ไข ยกเลิก หรือคงอยู่ เมื่อมอง 112 ไปมากกว่า ตัวบท มีอุดมการณ์ความคิด และอำนาจรัฐครอบอยู่ ใช้กันเกินตัวบทไปมาก จนขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชน บทจะไม่ใช่ก็ไม่ใช่ดื้อ บทจะใช้ก็เอากลับมาอีก หรือใช้ ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แทน แต่เมื่อเอา ม.112 มาใช้ ก็ยังเหมือนเดิม

“กระทั่ง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ได้มองว่าคือกฎหมายหมิ่น แต่มองถึงขั้นการลบหลู่ ใครก็ตามที่พูด จะสะเทือนใจ ต้องใช้ทันที เพราะมีวิธีคิดแบบนี้ ซึ่งในรัฐสมัยใหม่ ไม่ใช้กันแล้ว ล่าสุดมีสัญญาณจากนายกว่าจะใช้กฎหมายให้หมด คุณดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค ไปแจ้งความทันที เพราะมีวิธีคิดเช่นนี้

เช่นเดียวกัน ม.112 ทำงานได้ เพราะ 1.กลไกรัฐเอาไปใช้ ขณะเดียวกัน กฎหมายจะทำงานได้ถ้าเราเชื่อฟัง ถ้าเราไม่ฟังก็ทำงานไม่ได้ ต้องอาศัย 2 กลไกสำคัญ หากขาดสิ่งใด หรือขาดทั้งคู่ กฎหมายมาตรานี้ก็จะทำงานต่อไปไม่ได้ พร้อมกันนั้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การยกเลิกม.112 จะเป็นประโยชน์ นอกจากทำให้อยู่ในกระแสหลัก และหากยกเลิก การดำเนินคดีจะไม่มีทันที เพราะอยู่บนหลัก ‘ไม่มีกฎหมาย ไม่มีโทษ’

เราควรมองโทษหมิ่นประมาททั้งกระบวนการ ถึงเวลาแล้ว ที่ควรต้องเอาออกจากประมาลกฎหมายอาญา ให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไปฟ้องร้องกันเอาเอง และเรียกค่าเสียหายเอา เพราะศตวรรษ ที่ 21 โทษเช่นนี้ ไม่ควรไปถึงการเข้าคุก ในอนาคตกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ต้องเอาออก และปรับเป็นการเรียกค่าเสียหาย ทางตรง และทางแพ่ง” นายปิยบุตรกล่าว และว่า

อยากฝากไปถึงคนที่ไม่เข้าใจในกระแส ว่าทำไมจึงมาเป็นเช่นนี้ได้ หากมองย้อนไป ปี 2549 ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนออกมาพูด แต่เป็นปฏิกิริยาย้อนกลับของสถานการณ์การเมือง ถ้าไม่มี 19 กันยา 2549 ไม่เอาริบบิ้นเหลืองไปผูกรถถัง ปฏิกิริยาก็คงไม่เกิด รอบนี้ก็เช่นกัน เป็นพัฒนาการต่อเนื่องมา แทนที่จะคิดแก้ปัญหาให้เด็กหยุด ควรแก้ที่ตัวเอง เรื่องเหล่านี้จะหมดไป แต่ตอนนี้ดูเหมือนไม่ประนีประนอมแน่ จากการที่รัฐบาลเอา ม.112 มาใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image