‘ทนาย’ เผย ม.112 ถูกใช้มาตลอด ชี้ล่าสุด 11 คดี ยันกฎหมายไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้

‘ทนาย’ เผย ม.112 ถูกใช้มาตลอด ชี้ล่าสุด 11 คดี ยันกฎหมายไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ สืบเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ร่วมกับ “ม็อบเฟสต์” (Mob Fest) จัดกิจกรรม “ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง” โดยมีกิจกรรม อาทิ วงเสวนาวิชาการ นิทรรศการ ม.112 สลับดนตรี และการแสดงงานศิลปะ

เวลา 14.40 น. น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ทนายฯ เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี จากการถูกละเมิดสิทธิ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 จากการใช้สิทธิแสดงออกทางการเมือง มีคดี ม.112 มากที่สุด เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ บอกว่า เป็นคดีนโยบาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ช่วง เฉพาะคดีนี้ ม.112 ที่รับทำ ตั้งแต่ปี 2557-2561 ประมาณ 54 คดี ยังไม่นับปัจจุบัน คือในช่วงยุคแรก ต่อมามีการจับกุมอีกรอบ และเงียบไป แม้ไม่ได้บังคับใช้ ม.112 ก็ยังมีการจับกุมโดยมาตราอื่น กลับมาระลอกล่าสุด ทั้งหมด 11 คดี มีลูกความ 21 คน จะเห็นได้ว่ามีการใช้ ม.112 มาโดยตลอด

“ในแง่การปฏิบัติ จากการทำคดี ม.112 เกิดปัญหาอะไรบ้าง ทั้ง 54 คดี มีทั้งคนลี้ภัย มีผู้ป่วยอาหารทางจิตอีกเกือบ 10 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีเสียชีวิต 1 รายก่อนคำพิพากษา และมีคดีที่ผู้ต้องหาถูกกักขังโดยไม่มีความผิด 84 วัน แต่สุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง เท่ากับถูกขังฟรีแต่ ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ตามหลักสากลต้องสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับคำพิพากษา แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้ง มีทั้ง คนที่วาดภาพ แต่งกลอน เล่นละคร หรือ กดไลค์เพจ ก็มีเช่นกัน”

น.ส.ศศินันท์กล่าวต่อว่า ในกระบวนการพิจารณาที่มีปัญหา หลังได้มีโอกาสสืบพยาน ปกติคดีหมิ่นประมาททั่วไปจะต้องมีการพูดถึงข้อความ แต่ในบางคดีทนายความถูกห้ามไม่ให้พูดข้อความ ต้องแปลงเป็น ข้อความที่ไม่สมควร ที่ 1, 2, 3 แทน จึงเป็นอุปสรรคในการสู้คดีเช่นกัน

Advertisement

อีกคดี ตั้งแต่ ปี 2558 ของคุณลุงที่มักปรากฏตัวตามงานเสวนา ก็เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งข้อความที่ถูกกล่าวหาจะต้องตีความก่อน โดยปกติ โทษอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งคัด คือ ข้อความต้องชัดมาก ซึ่งข้อความค่อนข้างไม่ชัดเจนขนาดนั้น

ระลอกที่ 2 เช่น การโพสต์ขายเหรียญ หรือพูดเล็ก พูดน้อย ถูกดำเนินคดีค่อนข้างถี่ โดยปัจจุบันมี 11 คดี จำนวน 21 คน ส่วนระลอกที่ 3 ยังไม่แน่นอนในการบังคับใช้ เพราะเป็นนโยบายที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาคดีในกระบวนการพิจารณาลับ บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังได้ หรือในบางคดีให้เอาโทรศัพท์มาวางไว้ข้างหน้า เป็นต้น” น.ส.ศศินันท์กล่าว และว่า

Advertisement

“บางคนที่ออกมา ยังคงมีความคิดเช่นเดิม มาเดินในม็อบ เพราะกฎหมายไม่สามารถบังคับความคิดต่างได้ และสะท้อนว่า กฎหมาย มาตรานี้ไม่มีความแน่นอน ประชาชนจะต้องทำตัวอย่างไร เดี๋ยวเปลี่ยนซ้าย เปลี่ยนขวา หน้า-หลัง คนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เห็นความมั่นคงของกฎหมายนั้น จึงทำให้เกิดปัญหา

นอกจากนี้ เมื่อเสิร์ชดู จะเขียนชัดเจนเลยว่า ต่างชาติมองว่า ม.112 คือกฎหมายที่รุนแรง เกินความจำเป็น ในมุมมองทนาย เห็นว่า ควรยุติการดำเนินคดี มาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่แรก 2.ล้าหลัง และไม่ควรนำมาใช้กับการแสดงความเห็นของประชาชนในยุคนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image