“สิริพรรณ” ถอดรหัสรัฐธรรมนูญกำมะลอ ย้อนยุคเป็นรัฐราชการ จงใจให้ถูกคว่ำ !

รัฐธรรมนูญร่างแรก ของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรากฏสู่สายธารณะ ท่ามกลางเสียงท้วงติง เสียงวิจารณ์ของไปไกลถึงขั้น “ตำหนิ” จากคนการเมือง-นักวิชาการ

ประชาชาติธุรกิจ ชวน  “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์รัฐธรรมนูญร่างแรก

อาจารย์สิริพรรณ เห็นต่าง – เห็นแย้ง – เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกหรือไม่มีบันทึกไว้ในบรรทัดถัดไป

@ ภาพรวมของรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร

ความรู้สึกแรกที่อ่านคือเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เดินถอยหลังเห็นภาพว่ามันย้อนกลับไปในช่วงรัฐธรรมนูญ2521และ2534มันน่าจะทำให้สูญเสียดุลยภาพของระบบการเมือง เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญ 3 เรื่อง  1.เกิดสภาวะกฎหมายสูงสุดคู่ขนาน เพราะโรดแมป 8 2 5 ที่อาจารย์มีชัย (ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.) บอกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 8 เดือน สนช.พิจารณา 2 เดือน และเตรียมการเลือกตั้ง 5 เดือน แสดงว่าถ้ารับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีเวลา 15 เดือนก่อนจะเลือกตั้ง ในระหว่าง 15 เดือน รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำรงตำแหน่งไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา แสดงว่ารัฐธรรมนูญมีอยู่ อำนาจ คสช.ก็มีอยู่ อำนาจมาตรา 44 ของ คสช.ก็ใช้ได้อยู่ ถามว่าสภาวะอันนี้ก็คือสภาวะที่มีกฎหมายสูงสุดคู่กัน

Advertisement

@ เป็นสภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญหรือไม่

อำนาจ คสช.ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ จึงเลี่ยงไปใช้คำว่ากฎหมายสูงสุดที่มันซ้อนกัน ความน่าสนใจของร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะรออีก 15 เดือนที่รัฐธรรมนูญจะมีความหมาย มันขัดหลักการสากลของประเทศที่ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หลักการแรกของประเทศที่ประสบความสำเร็จร่วมกันจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ของเราผ่านไป 15 เดือน ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้เวลาแค่ 4 เดือน คำถามที่มีให้กรรมการยกร่าง คือทำไมต้องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทำไมตั้ง 8 เดือน ให้เวลา สนช.พิจารณา 2 เดือนเพื่ออะไร จะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในตัวรัฐธรรมนูญที่จะทำประชามติ

@ เป็นไปได้หรือไม่ อาจเห็นบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกือบ 10 ปี ก็ไม่เสร็จ

ก็เป็นข้ออ้างได้แต่น้ำหนักไม่เพียงพอ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการเลือกตั้ง ควรจะดันให้เสร็จ และสามารถทำเสร็จได้ภายใน 1-2 เดือนด้วยซ้ำ เพราะหลักการไม่ได้ต่างไปจากเดิมเชื่อมั่นว่ากฤษฎีกา มือกฎหมายเก่ง ๆ สามารถเขียนได้ภายในอาทิตย์เดียว 8 เดือนมันไม่มีความจำเป็น มันล่าช้าเกินความจำเป็น

Advertisement

@ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่บรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดผลอย่างไร

จะทำให้เกิดการเลือกตั้งกำมะลอ ทำให้ประชาชนรู้สึกขาดกำลังอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะคะแนนเสียงของประชาชนจะไม่ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแท้จริง จะถูกบิดเบือน เจตนารมณ์จะถูกยำใหญ่ เพราะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง อาจไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล ระบบเลือกตั้งนี้มีลักษณะสำคัญคือ บัตรเลือกตั้งมีบัตรเดียว เน้นและเลือกตัวบุคคล ดังนั้น จะทำให้การซื้อเสียงสูงขึ้น เพราะนโยบายไม่ได้เป็นเครื่องมือการหาเสียง

เป็นความพยายามลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ ผลคือทำให้การจัดสรรที่นั่งไม่เป็นธรรม ลองคำนวณดู สมมติพรรคเพื่อ A ได้ 14 ล้านเสียงในการเลือกตั้งครั้งปี 54 ถ้าคิดจากฐาน 500 เอาฐานคะแนนเสียงในสภาเป็นตัวตั้ง พรรค A จะมีที่นั่งในสภา 225 ที่นั่ง แต่พอพรรค A ได้ ส.ส.เขตได้แล้ว 204 ที่นั่ง ก็จะได้รับการจัดสรรบัญชีรายชื่อแค่ 21 ที่นั่ง ถ้าดูพรรคอันดับสองคือพรรค B มี 10 ล้านคะแนนเสียง คิดที่นั่งในสภาได้ 160 ที่นั่ง แต่เมื่อได้ ส.ส.เขต 115 ที่นั่ง ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 45 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าพรรคอันดับหนึ่ง ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่นั่งมันไม่มีตรรกะรองรับ

และเสียงที่ประชาชนเลือก ส.ส. แต่มันเอาไปกำหนดเป็นที่นั่งของพรรคการเมือง มันจึงย้อนแย้งกัน เพราะถ้าได้ ส.ส.เขตเยอะ พรรคจะได้บัญชีรายชื่อน้อย แล้วยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคก็ต้องไปหา ส.ส.ที่มีชื่อเสียง เช่น เจ้าพ่อท้องถิ่นเดิม ก็จะกลับมา นโยบายพรรคจะถูกลดความสำคัญลอง เพราะยุทธศาสตร์พรรคต้องหาคนที่มีชื่อเสียงเข้าพรรค

ถ้ามากกว่านั้นพรรคที่อยากชนะจริงๆ จะตั้งพรรคอะไหล่ เพื่อดึงคะแนนเสียง ส.ส.เขต ชุดหนึ่ง และ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกชุดหนึ่งแยกจากกัน ซึ่งเหล่านี้มันทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนมันถูกบิดเบือน การซื้อเสียงก็จะมากขึ้นด้วย เพราะมันเน้นตัวบุคคล และที่สำคัญทำให้พรรคอันดับหนึ่ง อันดับสอง ไม่ได้เสียงข้างมาก จะทำให้พรรคอันดับสามเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองสูงสุดเลือกที่จะไปร่วมมือกับใคร คนนั้นจะได้เป็นรัฐบาล

@ การจัดตั้งรัฐบาลก็จะพลิกจากพรรคที่มีเสียงข้างมากเป็นผู้มีอำนาจต่อรอง ไปเป็นระบบเกี้ยเซี๊ยะ

ใช่ แล้วเกี้ยเซี๊ยะในสภาหลังเลือกตั้ง เสียงประชาชนตอนเลือกมันแทบจะไม่มีความหมายเลย มันอยู่ที่ว่าจะวิ่งฝุ่นตลบหลังเลือกตั้ง โดยใครจะจับมือกับใคร ใครจะมีอำนาจต่อรองได้มากกว่า ซึ่งมันพบว่าพรรคอันดับสาม อันดับสี่ พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรอง

@ การจัดตั้งรัฐบาลผ่านระบบเกี้ยเซี๊ยะ จะมีผลต่อการเปิดช่องให้เลือกนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจาก ส.ส.หรือได้ไม่

คนร่างเหมือนกับว่าประชาชนจะได้เห็นก่อนว่าใครจะแคนดิเดตนายกฯ บ้าง เหมือนจะสร้างความชอบธรรมให้พรรคเสนอชื่อ เมื่อพรรคเสนอชื่อแคนดิเคตนายกฯมา 3 คน ปัญหาคือ 3 คนที่พรรคเสนออาจจะไม่ใช่คนที่ประชาชนอยากเลือก แต่คนอยากเลือกเพราะตัวบุคคลคือ ส.ส. แต่พรรคเสนอชื่อนายกฯ มาคนก็จะสับสนแล้วว่าจะเลือก ส.ส. หรือเลือกนายกฯ ที่พรรคเสนอมา มันก็ขัดแย้งกันเองแล้ว

และในที่สุดพรรคที่เสนอชื่อนายกฯ ในที่สุดพรรคที่เสนอรัฐธรรมนูญก็อนุญาตไม่ต้องเลือกแคนดิเดตที่พรรคตัวเองเสนอก็ได้นะ สมมติพรรค ก.เสนอนาย a b c แต่พอเลือกจริง พรรค ก.อาจไปเลือกนาย d ก็ได้ แล้วเส้นทางความรับผิด ความรับผิดชอบ ต่อประชาชนมันไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือให้พรคอนุญาติให้เสนอชื่อคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้อนกลับไปก่อนช่วงพฤษภาทมิฬ ประเทศไทยผ่านประสบการณ์ที่ปวดร้าวสูญเสียขนาดนั้นแล้ว

@ ทางรอดของ พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมากเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะต้องได้คะแนนเสียงในเขตท้วมท้น เพื่อไม่ต้องสนใจกับคะแนนบัญชีรายชื่อหรือไม่

ใช่ เป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่สุด หรือ ตั้งพรรคอะไหล่ ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และเป็นวิธีที่ควรจะเป็น เพราะมันคือกลเม็ด ระบบเลือกตั้งแบบนี้ส่วนตัวไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง แต่เป็นเทคนิคเลือกตั้ง ซึ่งมันเป็นเทคนิคที่จะทำให้พรรคการเมืองที่อยากชนะหากลโกงเพื่อเอาชนะเทคนิคแบบนี้

@ ทำไม กรธ.ถึงต้องเอาเทคนิคเลือกตั้งมาติดตั้งในร่างรัฐธรรมนูญ

1 ไม่ไว้ใจเสียงข้างมากของประชาชน กลัวว่าจะเลือกผู้นำทีชนชั้นนำไม่ชอบ ไม่ไว้วางใจ 2 ลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ ซึ่งต้องพูดจริง ๆ ว่าระบบเลือกตั้งของปี 2540 มันเอื้อพรรคใหญ่เกินไป เห็นด้วย เช่น ไทยรักไทยเคยได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาเกินกว่าคะแนนที่ประชาชนเลือกถึง 20 ที่นั่ง ซึ่งไม่เป็นธรรม แต่พอ กรธ.ร่างแบบนี้ มันก็สร้างความไม่เป็นธรรมอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะลดความได้เปรียบของพรรคใหญ่ แต่มันกลายเป็นการลดความได้เปรียบที่ไปสร้างความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่นั่ง

และ 3 ความกลัวนำไปสู่ในข้อ 1 มันนำไปสู่การเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ คนก็จะไม่ไว้วางใจว่ามันเป็นการเปิดช่องให้เป็นการสานต่ออำนาจของ คสช.หรือเปล่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าผมไม่อยากเป็นแล้ว แต่คนอื่น ๆ ใน คสช.ล่ะ ซึ่งอาจรู้ตัวว่าลงเลือกตั้งไม่ชนะ แต่ถูกเสนอชื่อมาโดยพรรค แม้บอกว่าผมไม่อยากเป็น แต่เมื่อเสนอชื่อมาผมก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเห็นแก่ประเทศชาติ แล้วพอโหวตในสภาก็ได้รับเลือก พูดง่าย ๆ ว่า มันขัดแย้งกับวิถีประชาธิปไตยโดยทั่วไปว่า ถ้าอยากเลือกตั้งก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเองไปเลย ไม่ใช่ใช้ทางเลี่ยงโดยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อคุณมา เพราะการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองไม่เท่ากับการเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะประชาชนเลือก ส.ส.ไม่ได้เลือกพรรค แล้วให้พรรคเสนอชื่อนายกฯ มันยิ่งอ้อมไปกันใหญ่

ดังนั้น ที่ประชาชนเลือก ส.ส.ไม่มีสิทธิที่ไปบอกว่าชอบหรือไม่ชอบคนที่พรรคเลือกมา มันถึงเป็นเทคนิคเลือกตั้งไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง แล้วจะสร้างความเสียสมดุลของดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุลด้วย เพราะนายกฯ ที่เสนอชื่อผ่านพรรคการเมืองจะถูกตรวจสอบโดยใคร

@ บทเฉพาะกาลที่ให้ผู้มีอำนาจอยู่ในเวลานี้ต้องลาออกจากตำแหน่ง 90 วัน เพื่อลงเล่นการเมือง ตรงกับสมมติฐานที่เปิดทางคนนอกนั่งนายกฯ หรือไม่

แน่นอนที่สุด ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็จะมี สนช. สปท. ครม. ลาออก เพื่อให้มีระยะเวลา 90 วัน แต่รัฐธรรมนูญกว่าจะเลือกตั้งต้องรอ 15 เดือน ยังพอมีเวลา

@ จะรู้ว่าใครมีเจตนาเข้าสู่อำนาจรอบใหม่ตั้งแต่ไก่โห่

ก็จะเห็นเลย ถ้าจะบอกว่าไม่ได้สืบทอดอำนาจ เพราะป้องกันไว้ 90 วัน จริง ๆ มันเปิดทางไว้อยู่แล้ว ในบทเฉพาะกาลอันนี้ก็จะทำให้เกิดสภาวะสูงสุดสองกฎหมายซ้อนกันอยู่ เพราะ คสช.ยังรักษาการได้ ยังมีอำนาจทุกอย่าง คนเหล่านี้ก็ยังลาออกก่อน 90 วัน เพื่อลงสมัครในทุกตำแหน่งได้

@ ถ้าแปลตามบทเฉพาะกาล จะเรียกได้ไหมว่ารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ

ต้องเรียกว่าเปิดช่องให้สานต่ออำนาจ ไม่ได้ปิดประตูตายการสานต่ออำนาจ หรือป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของคนที่อยู่ในรัฐบาลและเกี่ยวข้องกับ คสช.กับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคต

@ อาจารย์มีชัย บอกว่า ครม. สปท. สนช.ก็มีสิทธิที่จะได้ลงรับเลือกตั้งให้ประชาชนเลือก

สิทธิมันก็มีแต่โดยหลักการ คนที่เกี่ยวข้องมันมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและเรื่องของมารยาททางการเมืองอยู่ เพราะคนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญหรือได้ประโยชน์จากการทำกฎหมายก็ควรจะต้องเว้นระยะดังนั้นถ้าจะจริงใจจริงๆก็กำหนดไปเลยเหมือนที่กำหนดในคุณสมบัติส.ว.ว่าจะต้องออกจากพรรคการเมืองจาก ครม. จากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น 10 ปี ภาพพวกนี้สะท้อนถึงสองมาตรฐานในเมื่อคุณป้องกันนักการเมืองไว้ถึง 10 ปี คนเหล่านี้ในฐานะหนึ่งก็เหมือนนักการเมืองเหมือนกัน เพราะทำหน้าที่แทนนักการเมืองในการออกกฎหมาย เป็น ครม. ดังนั้น ทำไม กรธ.ให้ 90 วัน กับ 10 ปี มันห่างกันมาก

@ มองการที่ กรธ. เพิ่มอำนาจการตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยองค์กรต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญอย่างไร

เป็นมาตรการคัดง้างเสียงข้างมาก มีความพยายามหลายมาตรา ที่หาองค์กรที่จะทำให้เสียงข้างมากถูกบดบังโดยการตัดสินใจของเสียงข้างน้อย เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ 2 พรรค รวมกันได้เสียงเกินครึ่งของ ส.ส.แล้วยังแก้ไม่ได้ ต้องได้รับการเห็นชอบของ ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 อีก และในวาระ 3 วาระ สุดท้ายก็ต้องมี 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพรรคขนาดเล็กไม่เห็นชอบก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เท่ากับว่าเสียงข้างมากไร้ความหมาย

ชัดที่สุดในมาตรา 207 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามตัวอักษร ถ้าไม่มีกฎหมายใดต้องตัดสินตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรานี้ที่ออกแบบมาหวังว่าจะไม่ให้มีรัฐประหารในอนาคต เพราะให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนี้ แต่การเขียนแบบนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือนิติบัญญัติ เหนือบริหาร และเหนือรัฐธรรมนูญเองด้วย เพราะเมื่อไม่มีตัวอักษร ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้จินตนาการเอาประเพณีการปกครองมาใช้

คำถามคือประเพณีการปกครองหมายถึงอะไร สมมติศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าจะเอารัฐธรรมนูญ 2534 รัฐธรรมนูญ 2502 มาใช้ จะถือว่าเป็นเพณีการปกครองหรือเปล่า แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจนี้บนฐานความชอบธรรมอะไร ถ้าใช้อำนาจนี้แล้วไม่มีความชอบธรรมมันก็เกิดวิกฤติได้อีกเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นมาตรการที่ป้องกันรัฐประหารในอนาคตได้อย่างสมเหตุสมผลเลย

แต่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่อยากได้อำนาจนี้แต่คนเขียนไม่รู้..เนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญไม่มีความสมดุลในการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่แล้วก็เลยไปสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาตรวจสอบแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกถ่วงดุลโดยใครเลยรัฐธรรมนูญมันเอียงเหมือนกับตราชั่งที่มันเอียงและพร้อมที่จะคว่ำเพราะ3 สถาบันหลักไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันเองระบบนี้ศาลและองค์กรอิสระจะใหญ่กว่าฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ

@ องค์กรอิสระจะกลายเป็นอำนาจที่ 4 ได้หรือไม่

เป็นอำนาจที่ 4 และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้คำว่าองค์กรอิสระ ก็คืออิสระจากการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร อิสระจากประชาชนด้วย นี่คืออำนาจที่ 4 ที่อยู่อย่างลอย ๆ ไม่เชื่อมโยงและไม่ถูกตรวจสอบ นี่คือดุลภาพของรัฐธรรมนูญที่ขาดวิ่น

@ การเมืองหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร

ก็ไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมืองสั่นคลอนประชาชนจะรู้สึกขาดสมรรถภาพทางการเมืองจนไม่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองถ้ามีการบังคับใช้และมีการเลือกตั้งครั้งที่2เชื่อว่าคนจะมาใช้สิทธิเลือกตั้งลดลงเพราะประชาชนจะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเลือกจะไม่มีความหมายเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก เมื่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนไปจะแก้ไขได้ยาก ถ้ารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับสังคม ทางเดียวคือต้องคว่ำมัน ต้องฉีกมันทิ้ง

@ หมายความว่าต้องรัฐประหารอีกรอบหรือไม่

ต้องฉีกมันทิ้งหรือรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง เพราะข้อกำหนดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ยากมาก แล้วไปแก้อำนาจองค์กรอิสระที่มีล้นเหลือก็ไม่ได้ เว้นแต่จะทำประชามติ

@ ผู้มีอำนาจอาจประเมินแล้วว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกใช้จริง หลังการเลือกตั้งอำนาจการเมืองก็ยังอยู่ในมือของผู้มีอำนาจตอนนี้ใช่ไหม

คิดว่าจะเป็นแบบนั้นมันจะเป็นระบบการเมืองที่คุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จซึ่งคนที่คุมอำนาจก็มีโอกาสมากที่จะเป็นคนที่อยู่ในรัฐบาลหรือคสช.

@ ถ้าสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองยอมรับกติกา และยอมเล่นไปตามกติการัฐธรรมนูญใหม่จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อระบบและการตรวจสอบแบบนี้ พรรคการเมืองจะไม่มีความหมายเลย จะไม่มีแรงจูงใจ กำลังใจ ที่จะเสนอนโยบาย เพราะมันแข่งขันที่ตัวบุคคล พรรคการเมืองจะรู้สึกว่าการแข่งขันทางการเมืองจะไม่นำไปสู่การช่วงชิงในการบริหารประเทศ จะไม่พยายามสร้างความเป็นสถาบันการเมือง จะไม่พยายามสร้างความผูกพันทางการเมืองกับประชาชน รอเป็นพรรคอันดับสาม อันดับสี่ ยังมีโอกาสเป็นรัฐบาลและเข้าไปใช้งบประมาณเพื่อผลประโยชน์ตัวเองได้มากกว่า

นักการเมืองไม่ว่าเป็น ส.ส. ส.ว. คนดี ไม่มีข้อผิดพลาดในอดีต ระบบนี้จะสร้างกำแพงกีดขวางคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง เพราะคนที่จะเข้าสู่ระบบการเมือง จะรู้สึกขาดสมรรถภาพในกลไกการเมือง เพราะมันถูกตรวจสอบยุบยับไปหมด มันเป็นระบบที่ร่างที่มีเส้นแบ่งอำนาจทางการเมืองกับอำนาจทางกฎหมายที่เป็นสีเทา

การตรวจสอบโดยใช้กฎหมายบังคับถูกต้องแต่มันมีการตรวจสอบด้วยวิธีการทางการเมืองซึ่งมันตีความหลากหลายเช่นวินัยการเงินการคลังจริยธรรมทางการเมืองซึ่งองค์กรอิสระจะมาร่างยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรความไม่ชัดเจนจะเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้คนอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือมาใช้สติปัญญามาช่วยบริหารประเทศจะรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะเข้าสู่การเมืองและถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยการตีความทางการเมืองที่ไม่มีความชัดเจนและกว้างเป็นแม่น้ำ มหาสมุทร

@ ตัวอักษรที่ต้องตีความทางการเมืองจะบีบพรรคการเมือง รัฐบาลต่อไปมากแค่ไหน

ที่จะรัดมากในแง่การเสนอนโยบาย ไม่ได้ปฏิเสธว่าพรรคการเมืองควรชี้แจงที่มาของการเงินที่จะใช้นโยบาย และประสบการณ์ในอดีตมันต้องมีวินัยการเงินการคลัง แต่มันต้องทำให้ชัดเจนจนพรรคการเมืองกระดิกไม่ได้ เพราะแต่ในรายละเอียดอื่นที่บอกว่านโยบายจะต้องไม่ขัดแย้งกับนโยบายการเงินการคลังไม่ได้ นักการเมืองจะทำอะไรต้องระวังไปหมด การตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตสำคัญแต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ดุลยภาพตรงนี้มันไม่เกิด จะเปิดช่องให้เลือกปฏิบัติ เพราะคำที่ใช้มันกว้างเกินไป การทำแบบนี้พรรคการเมืองจะไม่กล้าเสนอนโยบายที่สร้างสรรค์

นอกจากนโยบายที่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระแล้วก็จะมีแผนยุทธศาสตร์ชาตินโยบายที่พรรคเสนอจะไม่สามารถขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์ชาติได้ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานมากมันจะทำให้พรรคแทบไม่มีความหมายเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันอยากสร้างความมั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เขาอุตสาห์คิดมาจะถูกใช้เหมือนกับว่าเขาอยากเข้ามาคุมและดูแลเองโดยการเปิดช่องให้มีการสานต่อคนของ คสช.ที่จะเข้ามากำกับแผนยุทธศาสตร์ชาติหน้าในรัฐบาลชุดหน้าที่จะมาจากการเลือกตั้ง

ถ้ารัฐบาลเสนอนโยบายโดยที่ไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่สามารถใช้ได้แต่ใครจะเป็นคนบอกว่าใช้ไม่ได้เมื่อรัฐบาลเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือกกับนโยบายที่เสนอให้สภาอนุมัติก็อาจเป็นคนละชุดกันเมื่อเสนอให้สภาอนุมัติในการแถลงนโยบายจะต้องไม่ขัดกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐใครจะเป็นคนตรวจสอบก็จะกลับไปที่องค์กรอิสระพอพบว่าไม่ตรงกันก็จะมีจดหมายติงมาที่รัฐบาลรัฐบาลก็ต้องแก้อีก ถ้าไม่แก้ก็จะขัดจริยธรรม รัฐบาลมีหน้าที่ประหนึ่งระบบราชการที่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เขียนเอาไว้ล่วงหน้า

@ แปลว่ารัฐบาลอาจจะถูกลองของตั้งแต่วันแถลงนโยบายต่อสภาหรือไม่

ใช่… และอาจจะถูกลองของเรื่อยๆ โดยอำนาจขององค์กรอิสระ และถ้าเป็นอย่างนี้จนเกิดวิกฤติขึ้นมาจริงๆ ก็จะกลับไปใช้มาตรา 207 คือ มาตรา 7 เดิม ซึ่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทางใดทางหนึ่งได้ตามประเพณีการปกครอง

@ เมื่อพรรคการเมืองไม่กล้าเสนอนโยบาย จะทำให้การเลือกตั้งพลิกไปแบบไหน

การแข่งขันในระบบจะลดความสำคัญลง จะทำให้ประเทศกลับไปเป็นรัฐราชการ เมื่อนโยบายไม่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ประชาชน พรรคการเมืองจะกลับไปหาเสียงด้วยสโลแกนและคำขวัญเหมือนในอดีต ที่มาของนโยบายอาจไปพึ่งพาระบบราชการ เพราะมันมั่นใจว่าจะไม่ถูกตรวจสอบโดย กกต. สตง. ปปช. แม้ถูกตรวจสอบก็จะผ่าน ระบบราชการจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ ผ่านองค์กรอิสระ ผ่าน ส.ว. ซึ่งองค์กรอิสระรวมถึง ส.ว. เป็นที่พักพิงที่ใหญ่ที่สุดของผู้เกษียณอายุราชการอยู่แล้ว และจะมาเป็นอำนาจที่ 4 คุมฝ่ายบริหาร เป็นรัฐราชการที่โอบอุ้มทุน แต่ละเลยเสียงประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เพราะทุนจะมีพื้นที่อยู่ชัดเจนใน ส.ว. และอยู่ในประชารัฐ

@ เป็นไปได้หรือไม่ที่ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญมาให้ถูกคว่ำ

ถ้าให้ประเมินร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ ตั้งใจเขียน ตั้งใจศึกษา แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปได้มากที่ไม่สนใจว่าจะถูกคว่ำ และยิ่งออกสูตร 8 2 5 ถ้าประชามติผ่านก็จะมีการเลือกตั้งในอีก 15 เดือน ซึ่งไม่สร้างแรงจูงใจให้คนอยากรับร่าง เพราะมันรอนานมาก นานกว่าโรดแมปเดิมของ คสช.ที่จะเลือกตั้ง ก.ค.2560 จงใจที่จะให้ไม่ผ่าน และให้ คสช.ออกมาตรการอีกอันหนึ่งออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image