‘สุขุม’ แนะเลิกกังวลปมเลือก ส.ส.ร. ซ้ำรอยสภาผัวเมีย อย่ามองแง่ร้ายนักการเมืองชั่ว ปชช.ตัดสินเอง

สืบเนื่องกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน หากมาจากการเลือกตั้งประชาชนเป็นผู้เลือกมา มีจุดอ่อนอาจเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมือง อาจกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้นั้น

รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า อย่าวิตกกังวลกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะนักการเมืองไม่ใช่คนชั่วช้า อย่าไปมองในแง่ร้ายว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับนักการเมืองแล้ว จะเป็นเรื่องที่นำพาประเทศให้เสียหายไปทั้งหมด ต้องยอมว่าความเชื่อมโยงของตัวบุคคลในสังคมมีทั้งคนในสายเลือดหรือระบบพรรคพวก คงไม่มีใครที่ใช้ชีวิตโดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ดังนั้นควรมองไปที่ผลของการทำงานของนักการเมืองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับหรือมีความชื่นชม

“ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องผ่านการทำประชามติ หากย้อนไปในอดีตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดย ส.ส.ร.ยุคนั้นเข้าไปทำหน้าที่ ก็มีทั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับแถวหน้า ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าจะให้ ส.ส.ร.ไม่มีตำหนิ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ขอเรียนว่าผิดธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม

เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นถกเถียงให้เสียเวลา พรรคการเมืองทั้งหลายควรจะพิจารณาตัวเองด้วยว่าควรจะสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการส่งตัวบุคคลไปแข่งขันหรือไม่ เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกเข้าไปทำหน้าที่หรือไม่ และส่วนตัวไม่เห็นว่านักการเมืองจะต้องเลวทั้งหมด จึงต้องออกมาดักคอ ออกข้อห้าม หรือปลุกกระแสไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญส่วนการแก้ไขก็ควรจะเปิดกว้าง กำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสม แต่จำนวนทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่เชื่อการอาสาเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ร.จะต้องใช้งบทุ่มเทหาเสียงเหมือนการเลือกตั้งไปทำหน้าที่ ส.ส. หรือจะต้องมีการจับผิดในระหว่างการหาเสียงให้เกิดความวุ่นวาย” รศ.สุขุมกล่าว

Advertisement

รศ.สุขุม กล่าวอีกว่า ที่มาของ ส.ส.ร.ไม่ควรจะต้องใช้วิธีการคัดสรรด้วยวิธีการแปลกๆ เพราะมีความเชื่อว่าวันนี้การเมืองได้ลงลึกไปถึงระดับรากหญ้าแล้ว ประชาชนควรจะต้องมีโอกาสจะท้อนความเห็นเพื่อกำหนดทิศทางกรอบกติกาของบ้านเมืองได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการหา ส.ส.ร.ไปทำหน้าที่ต้องดูว่าการแปรญัตติของกรรมาธิการฯในวาระ 2 จะกำหนด ส.ส.ร.จำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 ยังกลัว ส.ว.เพราะเชื่อว่าเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการลดอำนาจ ส.ว.หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.จากเสียงเรียกร้องของกระแสสังคม แม้ว่ารัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่เสร็จ หากมีปัญหาทางการเมือง เงื่อนไขที่จะให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีก น่าจะเป็นหลักการที่ชัดเจนว่า ส.ว.ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกและไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ส.ส.ร.จะถูกมองว่าเป็นสภาผัวเมีย สภาลูกสภาพ่อก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีใครในสังคมการเมืองจะออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ดังนั้นการได้มาของ ส.ส.ร.จะอยู่ที่อำนาจของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกไปทำหน้าที่” รศ.สุขุมกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image