ครม.รับทราบ มาตรการป้องกัน จนท.ลักลอบค้ายาเสพติดในเรือนจำ

ครม.รับทราบ มาตรการป้องกัน จนท.ลักลอบค้ายาเสพติดในเรือนจำ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ารับทราบมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตลักลอบซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำและทัณฑสถาน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเข้ามา ว่าปัญหาการลักลอบขายยาเสพติดในเรือนจำส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือสื่อสาร และเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่รู้เห็นเป็นใจและรับผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้วยกันก็ไม่กล้ารายงานเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งสูงกว่า

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้เสนอ 4 มาตรการคือ 1.กรณีผู้ต้องขังเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงิน สามารถติดต่อสั่งการค้ายาเสพติดได้อย่างอิสระกับเครือข่ายภายนอกเรือนจำ ให้เรือนจำทั่วประเทศห้ามเจ้าหน้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ในเรือนจำ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการตรวจจับสัญญาณการโทรออกเป็นรายวัน โดยส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐบาล เพื่อให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบเพื่อลงโทษผู้บัญชาการเรือนจำ และขยายผลการปราบปราม รวมทั้งให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้รับอนุญาตด้านโทรคมนาคมที่ต้องดูแลด้านความมั่นคงของรัฐ เมื่อได้รับการร้องขอให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับใบอนุญาตที่ต้องดำเนินการในทุกๆ ด้าน หากไม่สามารถทำได้อาจจะถูกพิจารณาเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตหรือยกเลิกใบอนุญาต

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า 2.กรณีตรวจพบยาเสพติดในเรือนจำ ให้กรมราชทัณฑ์เปิดเผยผลการตรวจจับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยเปิดเผยผลการดำเนินการเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายภายในเรือนจำด้วย 3.กรณีผู้ต้องขังให้สินบนกับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ทำให้เกิดการซื้อขายยาเสพติดในเรือนจำ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาประกาศกำหนดตำแหน่ง ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้กรมราชทัณฑ์จัดทำแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินคดีอาญา และการลงโทษทางวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

4.กรณีผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเงิน สามารถสั่งการให้เครือข่ายค้ายาเสพติดข่มขู่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีชุดปฏิบัติการพิเศษ ร่วมมือทำงานเป็นการถาวร สังเกตการณ์ ควบคุมดูแลผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายใหญ่ที่ถูกคุมตัวในเรือนจำความมั่นคงสูงสุดเป็นการพิเศษ ซึ่งรัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้อง โดยให้กรมราชทัณฑ์เป็นเจ้าภาพ และให้รัฐบาลมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจถูกบีบบังคับจากผู้มีอิทธิพล และเมื่อร้องเรียนตามกระบวนการแต่ไม่มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ให้เจ้าหน้าที่ร้องเรียนต่อชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image