คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ผี’ของ‘วัฒนธรรม’

ดราม่าเรื่อง “ผีนางรำและกระทรวงวัฒนธรรมไทย” นี้ เริ่มจากเมื่อคุณภูวพัฒน์ ชนะสกล ทวีตว่าได้ทราบจากที่ประชุมอนุกรรมาธิการ E-Sport ของสภาผู้แทนราษฎรว่า ตอนแรกเกม Home Sweet Home จะเอาท่ารำไทยต่างๆ ใส่เข้าไปในเกม แต่ก็ถูกกระทรวงวัฒนธรรมห้าม จนทำให้ทางผู้ผลิตเกมต้องไปคิดท่ารำและออกแบบตัวนางรำใหม่เองหมด

แม้ในที่สุดจะมีการกึ่งๆ แก้ข่าวให้โดยคุณ ศรุต ทับลอย ผู้สร้างเกม ว่าจริงๆ แล้ว ทางกระทรวงเขาก็ไม่ถึงกับ “ห้าม” เสียทีเดียว แต่เป็นลักษณะของการ “ไม่ให้ความร่วมมือ” เสียมากกว่า

โดยแรกทีเดียวผู้สร้างเกมต้องการให้การออกแบบตัวละคร “ผีนางรำ” ในเกมออกมาอย่างสมจริง จึงประสานขอข้อมูลไปที่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอใช้ภาพประกอบที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทย การแต่งกายของนางรำ และรูปแบบท่ารำไทยต่างๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากทางกระทรวงมองว่าการสร้างเกมให้มีผีเป็นนางรำจะทำให้คนรู้สึกกลัวการรำไทย และอาจจะเป็นการทำร้ายศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยได้ในที่สุด พร้อมกับข้อตำหนิกังวลและคำแนะนำเชิงข้อห้ามอีกหลายอย่าง ทางทีมจึงตัดสินใจออกแบบตัวผีนางรำและท่ารำขึ้นมาเองใหม่ทั้งหมดเพื่อตัดปัญหา

เกม Home sweet home เป็นผลงานของ Yggdrazil Group บริษัทผู้ผลิตเกมชาวไทยออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2017 และสร้างปรากฏการณ์ได้รับความสนใจในระดับโลกเมื่อนักแคสเกมชื่อดังชาวสวีเดนอย่าง PewDiePie ที่มีผู้ติดตามกว่า 100 ล้านคน ได้แคสเกมนี้โชว์แล้วถึงกับร้องเสียงหลงให้กับ
ความสยองของผีไทยในเกมคอมพิวเตอร์นี้ หลังจากนั้นนักแคสเกมทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นที่ชื่นชอบเกมแนวสยองขวัญก็มา “ลองของ” เอากับผีไทยในบ้านแสนหวาน จนทำให้เกมนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

Advertisement

กล่าวได้ว่า Home sweet home คือวิดีโอเกมจากผู้ผลิตเกมชาวไทยที่ย่างก้าวเข้าปักธงในตลาดเกมคอมพิวเตอร์ระดับโลกได้อย่างสวยงาม และน่าจะเป็นเกมไทยเกมแรกด้วยที่มีขายในระบบ Playstation 4 และเครื่องเล่นวิดีโอเกมชั้นนำอื่นๆ อย่าง XBOX One และ Nintendo Switch นอกจากนี้ เกมยังรองรับระบบ Virtual Reality เพื่อเพิ่มความหลอนแบบหลุดไปอยู่ในฝันร้ายแห่งโลกจำลองจริงได้ด้วย

เกมนี้ควรจะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตา และเป็นความภาคภูมิใจในฐานะของสินค้าทางวัฒนธรรมของชาติไทยในโลกยุคใหม่ที่ไม่อายใคร แต่เราเพิ่งได้รู้กันในวันนี้เองว่า ความสำเร็จของเกมไทยที่ว่านี้เริ่มต้นก็ไม่ได้รับการ “เห็นชอบ” จากหน่วยราชการไทยที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมแล้ว แม้จะพูดไม่ได้ว่าพวกเขา “ห้าม” สร้างเกมผีนางรำ แต่ในสาระสำคัญแล้วก็คือกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว และอย่างน้อยก็ได้พยายามสร้างอุปสรรคในขอบเขตอำนาจของพวกเขาแล้ว

ถึงขนาดนั้น ผู้พัฒนาเกมก็ยังสอดแทรก “ความเป็นไทย” ในลักษณะของวัฒนธรรมร่วมสมัยและตำนานเรื่องเล่าความเชื่อแบบไทยๆ ลงไปในเกมสยองขวัญของพวกเขาได้ ทั้งเรื่องการทำคุณไสยฝังรูปฝังรอย เปรต ตำนานผีลักซ่อน หรือลิฟต์แดงในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เบล” ผีสาวในชุดนักศึกษา ที่ทำให้เกมเมอร์ทั่วโลกแหกปากเสียงหลงเมื่อหันหน้าไปเจอเธอเข้าในเกม

Advertisement

ตลาดวิดีโอเกมเป็นธุรกิจที่เติบโตมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่ากว่าหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยมากจากวิกฤต COVID-19 ในทางกลับกัน วิกฤตดังกล่าวยังไปเสริมให้กลายเป็น
ปีที่เฟื่องฟูของวงการธุรกิจนี้ไปได้เลย เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้คนต้องอยู่เล่นเกมที่บ้านเป็นความบันเทิงไม่กี่อย่างในที่จำกัด

ที่น่าสนใจคือ ในธุรกิจวิดีโอเกมนั้นมีธรรมชาติที่เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ผลิตรายเล็กที่ไม่ได้มีทุนมากมายนัก แต่ถ้าไอเดียดี มีจุดขายก็สามารถสร้างเกมที่มีคุณภาพระดับยอมรับได้ภายใต้ทุนอันจำกัดก็ได้

โดย “ทุน” อย่างหนึ่งที่จะสร้างความได้เปรียบในธุรกิจนี้ ก็คือ “ทุนทางวัฒนธรรม” ซึ่งเราก็ได้เห็นกันแล้วว่าทุนทางวัฒนธรรมนี้เป็นส่วนประกอบอันทรงพลังยิ่งในผลิตภัณฑ์ประเภทสื่อของโลกยุคใหม่

เอาใกล้ๆ ชัดๆ ก็อย่างภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ดาบพิฆาตอสูร” (Kimetsu no Yaiba) ที่เขียนถึงไปในคอลัมน์สัปดาห์ที่แล้ว ก็กำลังทำเงินถล่มทลายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทยที่น่าจะกวาดรายได้เกินระดับ 50 ล้านบาทไปแล้ว หรือซีรีส์เกาหลีที่ทำให้เราและโลกได้รู้จักราชวงศ์โซซอนมากกว่าบ้านพลูหลวง

สินค้าทางวัฒนธรรมไทยที่อาจจะถือว่าขายได้และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกก่อนหน้านี้คือมวยไทย แต่ด้วยความเชื่อที่ก็ไม่ได้ผิดความจริงนักว่า ประเทศเรานี้มีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อยู่อีก
หลากหลาย เหมือนบ่อน้ำมันดิบขนาดใหญ่ แต่ทำไมเหมือนกับเราไม่ค่อยได้เอาทุนอันเป็นขุมพลังสำหรับโลกยุคใหม่มาใช้ได้มากกว่านั้น

ภายใต้ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมไทยที่ได้แก่การรักษาการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และ “…ศึกษา วิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้ทางวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางในการศึกษา รวบรวม เผยแพร่ และให้บริการสารสนเทศและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ส่งเสริมกระบวนการถ่ายทอดและเรียนรู้คุณค่าทางวัฒนธรรม ฯลฯ …”

หากต้นตอแก่นแกนของปัญหาของเรื่องนี้ จะมาจากภารกิจแห่งการ “เสริมสร้างค่านิยมอันดีงาม และเหมาะสมกับสังคมไทย” ซึ่งรวมถึง “ป้องกัน และแก้ไขปัญหาทางวัฒนธรรมไทย”

เพราะเมื่อตั้งภารกิจไว้เช่นนั้น ก็แปลว่า จะต้องมีวัตถุประสงค์ หรือสิ่งอันเป็นสาระสำคัญของภารกิจจะอยู่ที่ “ค่านิยมอันดีงาม และเหมาะสมกับสังคมไทย” ที่ถ้าสิ่งนี้ถูกรุกรานแล้ว ก็จะถือเป็น “ปัญหาทางวัฒนธรรมไทย” ที่จะต้องป้องกันแก้ไข

ปัญหาของเรื่องนี้คือ ทัศนคติที่มองว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือตีความวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ หรือให้ความหมายใหม่ คือ การคุกคาม หรือทำลายวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย – อันนี้คงคล้ายๆ กับที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าการ “ปฏิรูป” คือการ“ล้มล้าง” นั่นกระมัง

หากกระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดของหน่วยราชการที่รับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมไทยนี้ก็คือ เชื่อว่า วัฒนธรรมอันดีงามนั้นมี “รูปแบบ” ที่ถูกและที่ผิด และ “รัฐ” นั้นเองที่จะเป็นผู้กำหนดความถูกผิดชั่วงามของ “วัฒนธรรม” ได้

ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมนั้นคือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสิ่งที่ใหญ่ยิ่งกว่ารัฐ นั่นคือประชาชนที่รวมกันเป็นชาติผ่านการสร้างและสั่งสมมาในเวลาอันยาวนานจนเกิดเป็นรูปแบบบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์

วัฒนธรรมจึงไม่ใช่บ่อน้ำนิ่งในสวน หากเป็นสายกระแสของแม่น้ำใหญ่ที่เคลื่อนไหลไปเรื่อยๆ แม้ว่าแม่น้ำจะดูไม่ผิดจากเดิมนักเมื่อมองจากมุมไกล แต่ที่แท้แล้วมันก็กำลังเคลื่อนไหว น้ำนั้นอาจจะไหลไปในทิศทางเดิม แต่นั่นก็ไม่ใช่น้ำสายเดิม ดังคำกล่าวทางปรัชญาที่ว่า ไม่มีผู้ใดอาจหยั่งเท้าลงในแม่น้ำสายเดิมเป็นครั้งที่สองได้

ด้วยเหตุปัจจัยมากมาย กระแสธารนั้นย่อมเปลี่ยนทางได้ จากสิ่งกีดขวาง จากความตื้นเขิน ซึ่งอาจจะมาจากเหตุภายนอก หรือด้วยตัวของมันเองก็ได้ วัฒนธรรมก็เช่นกัน

ความพยายามจะดูแล “แม่น้ำ” ให้เป็นเหมือนกับเป็น “สระน้ำ” ในบ้านที่หมายให้เรียบสงบดังใจ จึงเป็นการตั้งต้นที่ผิดตั้งแต่แรก

จริงๆ มันผิดตั้งแต่มีคำประเภท “รำไทยมาตรฐาน” แล้ว เพราะมาตรฐานนั้นย่อมหมายถึงสิ่งชี้วัด ว่าสิ่งใดควรเป็นอย่างไร หากสิ่งใดผิดไปจากมาตรฐานที่ว่าก็จะไม่นับว่าเป็นสิ่งนั้น แต่สำหรับเรื่องนี้ หากจะมีรูปแบบการรำที่เกิดขึ้นโดยผู้คนที่มีเชื้อสายและวัฒนธรรมไทยได้รับการนิยมและทำซ้ำในรูปแบบที่ไม่ได้อยู่ใน “มาตรฐาน” แล้ว นั่นจะเป็นรำใดหากไม่ใช่รำไทยหรือ ? หน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบอำนาจจาก
ประชาชนเพียงชั่วเวลาหนึ่งจะมีอำนาจถึงขนาดไปกำหนดมาตรฐานให้สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหล
และสั่งสมได้หรือ

ก็น่าสงสัยว่า หากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคนที่เรามอบหมายให้ทำงานด้านวัฒนธรรมมองงานของพวกเขาด้วยทัศนคติที่ว่านี้ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมได้อย่างไรเมื่อเทียบกับชาติอื่นแค่ไหน โดยประเทศอื่นที่มีทุนในฐานะอันเทียบเท่ากับเรานี้ เมื่อเกาหลีใต้สามารถสร้างซีรีส์ที่จักรพรรดิกลายเป็นซอมบี้ หรือฝรั่งเศสที่เอา “กำเนิดแห่งชาติ” ยุคใหม่คือการปฏิวัติฝรั่งเศสตีความใหม่ในรูปแบบเดียวกัน

เช่นการนำวัฒนธรรมมาเป็นทุนในเกมของญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ใช่แค่การสร้างการ์ตูนหรือเกมที่มีฉากเป็นญี่ปุ่นหรือเรื่องของซามูไร-นินจา แต่มันไปไกลกว่านั้นคือ เอาซามูไรไปเป็นหุ่นยนต์ต่อสู้กันในอวกาศ หรือเอานินจาไปอยู่ในโลกแฟนตาซีซึ่งมีเซตติ้งแบบเดียวกับโลกของนิยายลอร์ดออฟเดอะริง ที่มีอัศวิน มังกร เอลฟ์ และคนแคระ เรื่องนี้ใครเคยเล่นเกม Final Fantasy คงนึกออกทันที

หรือถ้าใครเคยไปญี่ปุ่น คงได้เห็นว่าการสวมชุดประจำชาติอย่างชุดยูกาตะ สวมเสื้อคลุมฮาโอริหรือกางเกงกึ่งกระโปรงฮากามะไปไหนต่อไหนก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมของเขาจึงเข้มแข็งและยังคงมีชีวิตอยู่

คงไม่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับชุดไทยหรือการรำไทยที่เราจะได้เห็นแค่ในงานพิธีการหรือในร้านอาหารที่ขายความเป็นไทย และก็อาจจะต้องถามกันตรงๆ ว่า เราๆ ท่านๆ คนทั่วไปได้ไปดูไปชมนาฏศิลป์ หรือดนตรีไทยกันบ้างหรือไม่ในปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ ซึ่งเป็นการดู หรือชมเพื่อสุนทรียะบันเทิง ไม่ใช่แค่พาฝรั่งไปดูหรือในงานเลี้ยงรับรองต่างๆ

เพราะวัฒนธรรมไทยเราถูกสูบขึ้นมาจากแม่น้ำแห่งวิถีประชาแล้วขังไว้ในสวนที่รัฐจัดคนมาเฝ้าอย่างภาคภูมิใจว่าน้ำในสระนั้นเป็นน้ำเดิมที่นิ่งสงบ หน้าที่ของพวกเขาคือ รักษาสระน้ำนี้ไว้เพียงเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า น้ำนิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว ถ้าไม่แห้งเหือดไปก็เน่าเสีย

และคำว่า “ผี” นั้นอีกความหมายหนึ่งหมายถึง “ศพ” หรือสังขารร่างที่ไร้วิญญาณ

หน่วยงานของรัฐผู้ผูกขาดอาจจะรับไม่ได้ที่นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เขารักษาไว้จะกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผีในวิดีโอเกม ทำให้คนมีภาพที่ไม่ดีกับการรำไทย

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผู้เล่นเกมคนไหน หรือใครสังเกตเลยว่า การร่ายรำของราตรี ผีนางรำในเกมนี้ไม่ใช่การรำไทย เพราะเราก็นึกไม่ออกหรอกว่า การรำไทยจริงๆ แล้วนั้นมันเป็นเช่นไร

เพราะรัฐทำให้วัฒนธรรมการรำไทยกลายเป็น “ผี” ไปตั้งนานแล้ว ผีในความหมายของสังขาร
กายเนื้อที่ปราศจากลมหายใจ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image