‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ แก้ขัดแย้งหรือแค่หาทางลง

‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ แก้ขัดแย้งหรือแค่หาทางลง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการถึงโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดองในประเทศ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อดูโผรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว มองว่าอาจจะสร้างความน่าเชื่อถือได้ยาก โดยเฉพาะสัดส่วนตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ หรือรัฐบาลก็ดี ล้วนเป็นบุคคลที่เคยใช้คำพูด หรือสร้างวาทกรรมโต้ตอบกับฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากรัฐบาล จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะพูดถึงในแง่การสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อว่าจะเดินทางไปด้วยความราบรื่นได้ และทำให้อีกฝ่ายเริ่มเห็นเค้าลางที่จะสามารถตอบปฏิเสธได้โดยที่ไม่ลังเล เพียงแค่เห็น 2-3 รายชื่อนี้

Advertisement

แน่นอนว่า ภายใต้ความอิสระนั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นต่าง โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่เอาธงทางการเมืองจากความคิดตัวเองมาชี้นำ หรือลบล้างความคิดเห็นของคนที่คิดต่าง นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงการพูดคุยกัน

ประการต่อมา คือ การทำงานในแง่ให้เกิดรูปธรรม จะต้องชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งที่แท้จริงคืออะไร ผู้ที่เข้ามาเป็นตัวแทนต้องเข้าใจรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งด้วย ไม่ใช่เข้าใจเพียงแง่การต่อสู้ทางอำนาจเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

ดังนั้นการใช้พื้นที่ตรงนี้จึงควรมีทุกมิติ ไม่เพียงเรื่องการปะทะทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีประเด็นอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกรรมการปรองดองขึ้นมาแล้วจะไม่เสียของ

Advertisement

ส่วนตัวคิดว่า การสร้างคณะกรรมการชุดย่อย หรือชุดเล็ก ขึ้นมานั้น ก็เพื่อสร้างทางเลือก กรณีมีผู้เห็นต่างเกิดความไม่สบายใจเมื่อเห็นรายชื่อคณะกรรมการปรองดอง

จึงอาจมีรูปแบบกรรมการจากผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผ่านช่วงวิกฤตผันผวนทางการเมืองไทยมาก่อนแล้ว เพื่อรับฟังโดยนำเอาประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์การเมือง ที่บริบทเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด

ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์จึงควรมีหลากหลายมิติ การมีกรรมการเพียงชุดเดียวก็อาจทำให้ความสะเปะสะปะเกิดขึ้นได้ หากทิศทางที่เป็นสาระสำคัญไม่ได้อยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการหลายชุด แต่ไม่ควรมีมากเกินไป จนทำให้ประชาชน-คนภายนอกมองแล้วรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ ควรจะมีบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่เข้าใจและเห็นว่าประเด็นความขัดแย้งทุกมิติควรนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง

ส่วนเวทีสำหรับการพูดคุยนั้น แน่นอนว่า สถาบันพระปกเกล้า มีประสบการณ์ในฐานะที่คล้ายกับเป็น วาทยกรทางการเมือง เนื่องจากสามารถควบคุมวงในที่ประชุมได้ดีอยู่แล้ว และเครือข่ายทั้งหลาย ไม่ว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ต่างผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันพระปกเกล้า

ดังนั้น ความคุ้นเคยหรือไว้วางใจในพื้นที่ตรงนี้ น่าจะมีมากกว่าตัวกลางอื่นที่จะมารับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายควรจะส่งคนที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือคนที่สามารถรับสาร-ข้อความ ส่งตรงไปยังผู้มีอำนาจได้มากกว่าเข้ามาเป็นตัวแทน มากกว่าที่จะเป็นบุคคลไม้ประดับ แถว 2 แถว 3

คิดว่าประโยชน์โพดผลที่เป็นรูปธรรมจะมีมากกว่า แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์จะหาทางออกได้จริง

หากแต่มองว่า เป็นทางออกของทางลงให้ผู้จัดที่ได้รับแรงกดดันมาตลอดว่าจะลงอย่างสวยงามอย่างไรมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image