สนพ.ฟ้าเดียวกัน โต้ ไชยันต์ กล่าวหา ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ผลงานที่กุเรื่อง

สนพ.ฟ้าเดียวกัน โต้ ไชยันต์ กล่าวหา ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ผลงานที่กุเรื่อง

วันที่ 19 ธ.ค. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่จัดพิมพ์หนังสือ “ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์บัญชี @sameskybooks ระบุว่า

ชี้แจงกรณี นายไชยันต์ ไชยพร กล่าวหาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์ผลงานที่ “กุเรื่อง” ขึ้นมา

 นายไชยันต์ “มโน” ว่าหนังสือเท่ากับวิทยานิพนธ์

ตามที่นายไชยันต์ ไชยพร ได้เผยแพร่เอกสารกล่าวหาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่าได้ตีพิมพ์หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500

Advertisement

โดยนายไชยันต์ “มโน” ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเท่ากับหรือเหมือนกับวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) ซึ่งนายไชยันต์โจมตีว่ามีการอ้างอิงเอกสารที่ผิดพลาด

และสมควรแล้วที่จะถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองบรรณาธิการขอเรียนชี้แจงว่า ก่อนที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวนั้น เราได้มีการตรวจสอบข้อผิดพลาดในจุดที่นายไชยันต์กล่าวอ้าง (เรื่องผู้สำเร็จราชการนั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีจาก วพ. น.105) และได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว

ในคำนำของสำนักพิมพ์เองก็ได้ชี้แจงแล้วว่าหนังสือเล่มนี้ “ณัฐพลเรียบเรียงพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นจากวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว” (ดูหน้า [11]) อีกทั้งในคำนำผู้เขียนเอง ณัฐพลก็ได้ชี้แจงว่า “ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ให้มีความถูกต้องตามข้อท้วงติงของหลายท่าน” (ดูหน้า [31])

Advertisement
ไชยันต์ ไชยพร

การกล่าวหาของนายไชยันต์จึงเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยของนักวิชาการขี้เกียจไร้ความรับผิดชอบ แม้กระทั่งจะเปิดหนังสือดูว่าใช่อย่างที่ตนเองกล่าวหาหรือไม่ก็ยังไม่ทำ นายไชยันต์จึงไม่รู้ว่าหนังสือเล่มดังกล่าว “ไม่ใช่การเอาวิทยานิพนธ์มาตีพิมพ์ทั้งดุ้น” แต่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง

รวมถึงการอ้างอิงที่ไชยันต์กล่าวหาด้วย

นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยังระบุถึงยุทธวิธีของนายไชยันต์ ไชยพร พร้อมทั้งตอบโต้ และปิดท้ายด้วยการถามว่านายไชยันต์ ไชยพร กลัวอะไร เป้าหมายที่แท้จริงของเขาคืออะไร แต่ละปีมีวิทยานิพนธ์มากมายถูกผลิตขึ้น เหตุใดนายไชยันต์จึงสนใจตรวจสอบวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวของนายณัฐพลเป็นพิเศษและพยายามหยุดยั้งทุกวิถีทางไม่ให้มีการเผยแพร่ กระทั่งเมื่อเผยแพร่แล้วก็ยังพยายามดิสเครดิตโดยไม่ตรวจสอบ

ว่าหนังสือมีแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมดแล้ว ผู้อ่านที่ได้อ่านหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ แล้ว พอจะนึกคำตอบได้ไหมว่านายไชยันต์ ไชยพร มีเหตุจูงใจอะไร เขากลัว “ความจริง” เรื่องอะไรจะถูกเปิดเผยในหนังสือขุนศึกฯ แท้จริงแล้วเขาพยายามหยุดยั้งอะไรกันแน่

เขาทำไปเพราะขยันมากจริงๆ เพียงเพราะต้องการหยุด “ความลวง” ดังที่เขากล่าวอ้างจริงๆ หรือ?

ขณะที่นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทวีตข้อความระบุว่า หนังสืออาจารย์ณัฐพล ใจจริง เรื่อง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ที่ขายดีและคนอยากอ่านอยู่แล้ว คงยิ่งขายดีและคนอ่านกันมากยิ่งขึ้น 🙂

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image