เรืองไกรยื่นศาลปกครอง สั่งยกเลิกผลประชามติ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก่อนวันลงประชามติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายฝ่ายว่าผู้ออกเสียงไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหลังวันลงประชามติ ก็มีเสียงทักท้วงตามมาอีก ทั้งสมาชิก สปท. หรือกระทั่งมีคนบอกว่า เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งจากคำร้องที่รับฟังมา มีมูลที่น่าศึกษาติดตาม จนกระทั่งมาเห็นประกาศ กกต. เรื่อง ผลการออกเสียง จึงทราบว่าผู้มีสิทธิออกเสียงมีกว่า 50 ล้านคน แต่เมื่อไปตรวจสอบงบราคากลางในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญบนเว็บไซต์ กกต.พบว่า ราคากลางพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเล่มละ 15 บาท จากงบกลางที่เปิดเผยไว้ 67,000,000 บาท ซึ่งคำนวณแล้วพิมพ์ได้เพียง 4.47 ล้านเล่มเท่านั้น ต่างจากงบกลางในการพิมพ์บัตรลงคะแนนที่กำหนดไว้ฉบับละ 1 บาท จำนวน 54.6 ล้านฉบับ

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า การพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเผยแพร่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบโดยทั่วไป มีกฎหมายและระเบียบกำหนดบังคับไว้อย่างชัดเจน แม้แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็เคยทำหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง แต่เมื่อตรวจสอบงบกลางแล้ว น่าเชื่อว่า กกต. ไม่ได้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และเผยแพร่ร่างดังกล่าวให้ประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะตนเองก็ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะฉะนั้นการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่กระทำการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นเรื่องที่ประชาชนผู้เสียหายสามารถฟ้องศาลปกครองได้

“นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า กกต.เคยมีหนังสือถึง ครม. ให้มีมติสั่งการให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง และ ครม.ก็มีมติตามที่ กกต.เสนอ แต่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้ไปพูดต่อสาธารณะว่าจะรับทั้งสองคำถาม อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมติ ครม. แต่ กกต.กลับนิ่งเฉย นายเรืองไกรกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า จะนำรวมเป็นเหตุในการฟ้องศาลปกครองด้วย” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ในเช้าวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. จะไปยื่นฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่า ผลการประชามติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบก็ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผลประชามติเป็นโมฆะต่อไป โดยก่อนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาก็จะขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ กกต.ชี้แจงก่อนว่าทำไมจึงไม่ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และมีการใช้งบประมาณในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดกี่เล่ม และส่งให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงครบถ้วนหรือไม่ เงินงบประมาณที่ได้รับมา 2,991 ล้านบาท ใช้ไปที่ใดบ้าง เหลือเท่าใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image