อจ.จุฬาชี้ 10 เหตุผล ก้าวหน้าแพ้เลือกตั้งอบจ. แย้งเรตติ้งตก

อจ.จุฬาชี้ 10 เหตุผล ก้าวหน้าแพ้เลือกตั้งอบจ. แย้งเรตติ้งตก

วันที่ 22 ธันวาคม นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ ข้อสังเกต 10 ประการก่อนจะสรุปผล “ ผมคิดว่าการที่กลุ่มก้าวหน้ามีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. )ครั้งนี้ที่ต่ำลงกว่าเดิม น่าจะมีจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ไม่ควรรีบด่วนสรุปในทันทีว่ากระแสความนิยมของพรรคหรือของกลุ่มฯ ตกต่ำลงแบบที่นักข่าวหลายสำนักหรือผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายตรงข้ามเร่งโหมกระพือข่าวและโจมตีกันในขณะนี้ เข้าทำนองคนล้มต้องรีบเหยียบ

1. ถ้าเราติดตามและเข้าใจบริบทการเมืองท้องถิ่นตลอด 7 ปีที่บ่มกันมา และตามสถานการณ์การคุมเกมของฝ่ายรัฐต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะทราบดีว่ามีการบริหารจัดการแบบ “ตั้งใจ” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการมากที่สุด พอเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้ บรรดาท่าน ๆ จะได้ไม่รีบสรุปอะไรง่าย ๆ ตามกระแสความเชื่อหรือความมีอคติของตนเองที่มีมาแต่เดิม แบบนี้ผิดหลักกาลามสูตรนะจ๊ะ

2. คะแนนของกลุ่มก้าวหน้าที่ลดลงอาจเป็นเพราะกระแสความนิยมตกต่ำลงจริง แฟนคลับจึงตีตัวออกห่าง แต่ต้องประเมินอีกด้วยว่าคะแนนที่ลดน้อยลงเป็นเพราะเหตุผลนี้จริง ๆ ไม่ได้มาจากปัจจัยอื่น

3. เป็นไปได้หรือไม่ว่ากระแสนิยมของพรรคไม่ได้ลดลงแบบทันที แต่อาจเป็นเพราะกลุ่มการเมืองนี้ยังไม่ใกล้ชิดกับพื้นที่ไม่รู้จักท้องถิ่นระดับ อบจ. ที่ดีนัก นโยบายที่ถูกหยิบชูเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงจึงไม่โดนใจประชาชนมากนัก เรื่องที่ดูทันสมัยในการหาเสียงอาจไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชนก็เป็นได้ ชาวบ้านเลยอาจไม่เลือกไม่เทคะแนนเสียงให้ในตอนนี้ แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. หรือแม้แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นอีกในอนาคต ขอคิดอีกทีก็เป็นได้

Advertisement

4. คะแนนเสียงที่ลดลงอาจเป็นเพราะประชาชนแยกแยะเรื่องการเมืองระดับท้องถิ่น/อบจ. ออกจากการเมืองระดับชาติได้ เรื่องระดับชาติอาจมีประเด็นเรื่องปฏิรูปหรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่เรื่องท้องถิ่นเป็นเรื่องวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ประจำวัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอุดมการณ์หรือขั้วการเมือง ทำให้เวลาใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนอาจมุ่งเน้นเลือกคนที่จะมาทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นเป็นสำคัญ

5. เรื่องสืบเนื่องกันคืออาจเป็นเพราะประชาชนใช้เกณฑ์ตัดสินใจคือเรื่องคุณภาพชีวิตประจำวัน ประชาชนจึงเลือกคนที่เขารู้จึก เห็นผลงานมาก่อน สามารถเข้าถึงหรือพึ่งได้เป็นสำคัญ ท้ายที่สุด พวกเขาจึงเลือกคนที่คุ้นเคยกับพวกเขาและยึดโยงกับพื้นที่เป็นหลัก ปัจจัยนี้จึงทำให้คนหน้าเดิมหรือคนบ้านใหญ่มีความได้เปรียบเป็นทุนเดิม และมีศัตรูร่วมกันเฉพาะกิจคือคนหน้าใหม่ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่มาทักท้วงเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งในรอบนี้ คะแนนของกลุ่มก้าวไกลจึงอาจจะลดหรือยังไม่ลดลงก็ได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงต้องให้น้ำหนักด้วย

6. การเป็นกลุ่มการเมืองใหม่อาจทำให้ขาดการวางรากฐานระบบ “หัวคะแนน” หรือแพ้เงินซื้อเสียงและระบบคุมคะแนนที่แพร่ระบาดในหลายพื้นที่ กลายเป็นค่านิยมการเมืองที่ฝังรากลึกมานานในสังคมไทย ดังนั้นคะแนนเสียงของกลุ่มก้าวหน้าที่น้อยกว่าเดิมอาจไม่ได้เป็นเพราะกระแสนิยมของกลุ่ม/พรรคลดต่ำลงโดยตรง แต่เป็นเพราะยังไม่ทันกลยุทธ์ทางการเมืองแบบบ้าน ๆ แบบไทย ๆ ก็เป็นได้

Advertisement

7. อาจเป็นเพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่ 20 ธันวาคมซึ่งอยู่ระหว่างช่วงวันหยุดยาว 2 ช่วง ฐานเสียงของกลุ่มนี้จึงไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง วันเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นนี้จึงทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน ข้อสังเกตนี้จะเห็นได้จากสัดส่วนการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ที่ต่ำกว่าเดิมไปค่อนข้างมาก จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ กกต. น่าจะต้องรับผิดชอบที่ทำให้เกิดความลักลั่นระหว่ากลุ่มคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และควรต้องรับผิดชอบที่ทำให้ผู้คนออกไปใช้สิทธิ์ไม่ถึง 75% ตามที่ตัั้งเป้าหมายไว้ และเป็นตัวเลข Turnout ที่ต่ำแบบน่าใจหาย

ดังนั้นหากจะสรุปว่าจริงหรือไม่ในประเด็นนี้ กกต. อาจต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลการมาใช้สิทธิ์ของคนกลุ่มวัยต่าง ๆ ก็จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าวันเลือกตั้งนี้เป็นอุปสรรคสำหรับคนบางกลุ่มหรือไม่ หากพบว่าเป็นจริง ก็ควรเอาไปเป็นบทเรียนในการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมกว่านี้ในโอกาสต่อไป และถ้าจริงตามนี้ กกต. ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบแบบสุภาพบุรุษซะนะครับ

8. การตัดสินใจที่เร่งรีบของรัฐบาลที่ประกาศให้มีการจัดเลือกตั้ง อบจ. ทำให้เกิดการเตรียมตัวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ไม่เท่ากัน และรวมถึงการเตรียมตัวเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่สั้นไปด้วย ในกรณีนี้จึงอาจทำให้คนหน้าใหม่ ๆ เตรียมตัวได้น้อย และมีระยะเวลาหาเสียงให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคยได้น้อยตามไปด้วย คนหน้าเดิม ๆ จึงมีความได้เปรียบค่อนข้างมาก

9. ทั้งนี้กระแสนิยมของพรรค/กลุ่มการเมืองนี้จะลดลงจริงหรือไม่ คงต้องพิจารณาในการเลือกตั้งรอบต่อไปที่เป็นระดับชาติเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2562 เราจึงจะสรุปได้ชัดเจนและถูกต้องกว่านี้ ผมหวังว่ากติการัฐธรรมนูญที่จะยกร่าง/ทบทวนกันใหม่ในเร็ววันนี้คงไม่วางกฏเกณฑ์ที่ไปปัดเเข้งปัดขาใครจนทำให้เกิดผลที่ลำเอียงหรือมีอคติได้อีก

10. หากคิดอีกมุมหนึ่ง บางทีการส่งคนลงสมัครท้องถิ่น/อบจ. ในรอบนี้ของกลุ่มก้าวหน้า เขาอาจจะพอใจแล้วก็ได้ เพราะได้ยินมาเหมือนกันว่าไม่ได้หวังจะได้อะไร แต่ทำไปเพราะเป็นเครื่องมือราคาถูกในหล่อเลี้ยงกระแสมวลชน สามารถหาเสียงได้โดยถูกกฎหมาย ยึดพื้นที่ข่าวและกระแสความสนใจได้มาก และยังเป็นการเช็คเรตติ้งของกลุ่มการเมืองตนเองได้อีกด้วย ส่วนจำนวน ส.อบจ. ที่ได้รับนั้นถือเป็นกำไรในการสร้างฐานการเมืองสำหรับการเดินหน้าต่อทางการเมืองในอนาคต

ดังนั้นคงต้องดูกันไปยาว ๆ ว่ากลุ่ม/พรรคการเมืองนี้จะเดินเกมกันต่อไปอย่างไร กระแสนิยมจะลดลงจริงหรือไม่… ที่แน่ ๆ อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปอะไรง่าย ๆ ตามสไตล์ไทยแลนด์นะครับ

และทั้งหมดนี้ทำให้คิดต่อว่าการกระจายอำนาจของไทยเราจะเดินหน้าได้เท่าไหน หรือหยุดลงแค่ที่เดิม เพราะส่วนใหญ่ผู้คนที่จะเข้ามาบริหาร อบจ. ก็เป็นกลุ่มการเมืองเดิม ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะมิได้ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจไปมากกว่าเดิมนัก และในบางพื้นที่ยังเป็นการต่อท่อน้ำเลี้ยงจากรัฐสู่ชุมชนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ดังนั้น โอกาสที่เราจะเห็นพื้นที่ต่าง ๆ นอกกรุงเทพฯ มีความเจริญที่ทัดเทียมกันกับเมืองหลวงคงเป็นเรื่องยากในรุ่นเรานี้ และก็จะทำให้ต้องมีคนต่างถิ่น/ประชากรแฝงโดยจำยอมต่อสภาพที่จำต้องเดินทางมาหาโอกาสทางการศึกษาหรือการประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ ๆ อยู่ร่ำไป ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่ลดลงเป็นแน่แท้จากไทยแลนด์ แลนด์ออฟรัฐราชการรวมศูนย์….

วีระศักดิ์ เครือเทพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image