ครม.เคาะเยียวยาแรงงานว่างงาน 50% หนุนนิรโทษแรงงานต่างด้าว หวังเข้าคัดกรองโควิด-19

 

รมว.แรงงาน เผย ครม.เคาะเยียวยาผู้ประกันตนว่างงานเหตุสุดวิสัย 50% จากฐานเงินเดือน ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท หนุน นิรโทษแรงงานต่างด้าว หวังให้เข้าคัดกรองโควิด-19

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ใน จ.สมุทรสาคร ว่า หลังจากมีการล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับตนในเรื่องดังกล่าวด้วย เราจึงมีการนำร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. เข้าให้ที่ประชุม ครม. โดยที่ประชุม ครม.ได้ความเห็นชอบแล้ว จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ทั้งนี้ การชดเชยในร่างดังกล่าวจะให้ในอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ ของฐานเงินเดือน ไม่เกิน 15,000 บาท ระยะไม่เกิน 90 วัน โดยจะชดเชยย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม คาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนชดเชยการว่างงาน ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

นายสุชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการระบาดครั้งก่อนมีการจ่ายใน 62 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเงินเดือน ไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่ว่างานทั่วประเทศ 3 เดือน ทำให้กระทรวงแรงงานต้องปรับอัตราให้เท่ากัน ดังนั้น หากยึดตามค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ใช้แรงงานจะได้เงินไม่ถึง 5,000 บาท ในครั้งนี้ทางบอร์ดประกันสังคมจึงเห็นว่าควรทำตามกฎกระทรวงที่ดูแล เยียวยาผู้ประกันตนที่หยุดงานจากเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย คือ ต้องจ่ายที่อัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน ไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากครั้งนี้รัฐบาลมีการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ขาดรายได้ ทางกระทรวงแรงงานก็จะต้องมีการปรับเกณฑ์ตามให้ได้รับเท่ากัน กระทรวงแรงงานทำเงินเชิงรุก เราไม่ได้รอปัญหา แต่มองปัญหาไปข้างหน้า จึงได้มีการออกมาแก้ปัญหาให้ก่อน

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนั้น กระทรวงแรงงานมีภารกิจหลักในการตรวจผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ หากพบว่ามีการทำผิด กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดี รวมถึงให้ความรู้กับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นการแพร่ระบาดในส่วนของตลาด ไม่ได้แพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาหารแช่แข็งใหญ่ๆ โรงงานเหล่านี้มีการลงตรวจและมีการป้องกันอย่างดี ส่วนผู้ที่มีการลักลอบเข้ามาในประเทศนั้น ทางกระทรวงแรงงานได้ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และทูตแรงงานจากเมียนมา กัมพูชา ลาว โดยมีการกำชับเร่งรัดจับกุมผู้ที่ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา รวมถึงให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการเพราะเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

Advertisement

รมว.แรงงาน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่นำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. คือ การช่วยเหลือผู้ประกันตนต่ออีก 3 เดือน ด้วยการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ และการช่วยเหลือสงเคราะห์บุตร อายุ 1-6 ปี จากเดิมได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน และการคลอดบุตรจาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท โดยจะเริ่มในเดือน ม.ค.64 ขณะเดียวกัน บอร์ดแพทย์ยังมีการพิจารณาเรื่องผู้ประกันตน คนไทยและต่างด้าวตรวจคัดกรองโควิด-19 ฟรี ในโรงพยาบาลสังกัดประกันสังคม โดยเรามีแนวคิดว่าจะใช้รถโมบายเพื่อตรวจแต่ละโรงงาน

เมื่อถามว่า มีแนวคิดที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวเพื่อจะให้แรงงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาตรวจโควิด-19 กับทางภาครัฐหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ เพราะวันนี้เรายึดหลักในการแก้ปัญหาโควิด-19 แต่เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของ ศบค.ที่เป็นผู้พิจารณา แต่ในส่วนของกระทรวงแรงงานคือ การให้ความรู้ผู้ประกอบการว่าอย่ารับแรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ส่วนที่ สตช. ตม. จะตรวจแรงงานคือ ตรวจในการลักลอบส่งหรือขนส่งแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดูใบอนุญาตในการทำงาน

ต่อข้อถามว่า จะย้อนแย้งหรือไม่ ที่ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนิรโทษกรรม แต่ต้องมีการตรวจใบอนุญาตขอทำงาน นายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้การที่จะบอกว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่ในประเทศเท่าไหร่ไม่แน่ชัด เพราะคนพวกนี้มักจะอยู่นอกระบบ การที่จะไปตรวจจับ ยังไม่ทันได้เจอเขาก็หนีแล้ว

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image