ครม. ไฟเขียวแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาโควิด-19

ครม. ไฟเขียวแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาโควิด-19 ยัน ไม่เปลี่ยนทันที ต้องให้กฤษฎีกาพิจารณา

เมื่อ 14.00 น. วันที่ 22 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“รวมทั้งหากมีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วย่อมทรงผลให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่ง ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้ถูกยกเลิกไปด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้ในปีใหม่นี้ตามที่เป็นข่าวไปแล้วว่าจะมีการยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้วนำ พ.ร.บ.นี้มาใช้ทันที ยังไม่ใช่ เพราะต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนให้กฤษฎีกาตรวจสอบก่อน นำเสนอเข้าสภา แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือในที่ประชุมครม.ในแง่ที่ว่าถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าให้ตราเป็นพรก. ซึ่งทางกฤษฎีกาจะไปหารือกันอีกครั้งหนึ่ง”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เรื่องกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหลังจากครม.อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมมีดังนี้คือ
1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาดเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร

Advertisement

2.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือผู้ที่เป็นพาหะ

3.กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกัน หรือ แยกกักโรค และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง

4.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ หรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

Advertisement

5. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6.ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

7.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค

8.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และ

9.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image