‘หมอสุกิจ’ ร่ายสถิติสภา สมัย 2 ส.ส.ประชุมได้ 42 ครั้ง ประชุมร่วมรัฐสภา 8 ครั้ง ผ่าน กม.ได้ 7 ฉบับ

ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แจง สถิติสภา สมัย 2 ส.ส.ประชุมได้ 42 ครั้ง ประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. 8 ครั้ง ผ่าน กม.ได้ 7 ฉบับ

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 ธันวาคม ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดปี 2563 ว่า เป็นปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มีการประชุมรวม 42 ครั้ง และมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมาย ได้ 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 ฉบับ รอการพิจารณาของสภาในวาระที่หนึ่ง 34 ฉบับ รอการบรรจุระเบียบวาระการประชุม 5 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกฯ เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงิน 25 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงินที่นายกฯไม่ให้คำรับรอง 12 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานสภาฯ 5 ฉบับ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชน อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาฯในวาระหนึ่ง จำนวน 2 ฉบับ และมีพระราชกำหนดที่สภาฯพิจารณาอนุมัติ 4 ฉบับ มีญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 1 ญัตติ

นพ.สุกิจกล่าวยอมรับว่า กฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ จนสามารถประกาศใช้ได้ มีเพียง 7 ฉบับนั้น น้อยไป ด้วยหลายสาเหตุ อาทิ ร่างกฎหมายคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมายังสภาฯน้อยมาก และอาจเป็นเพราะกฎหมายสำคัญๆ จำนวนมากผ่านการพิจารณาไปแล้วสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวมถึงการจัดลำดับวาระการประชุม ที่กำหนดพิจารณากฎหมายไว้ท้ายวาระ จึงทำให้การพิจารณาล่าช้า โดยหลังจากนี้ทุกวันพุธ สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาเฉพาะกฎหมายเท่านั้น

นพ.สุกิจกล่าวต่อว่า ส่วนกระทู้ถามสดด้วยวาจามีจำนวน 49 กระทู้ ส่วนกระทู้ถามทั่วไปที่ถามต่อรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาฯ 41 กระทู้ และกระทู้ถามทั่วไปที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา 58 กระทู้ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอร้องไปยัง ครม.แล้วว่า เมื่อถึงวันถาม-ตอบกระทู้ถาม ขอให้รัฐมนตรีงดภารกิจอื่นๆ  เพื่อสามารถมาตอบกระทู้ถามของ ส.ส.ได้ และเชื่อว่าเมื่อสภาจัดลำดับวันพิจารณาตอบกระทู้ถามใหม่เป็นทุกวันพฤหัสบดีแล้ว จะได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีมากขึ้น

Advertisement

“ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจา โดยไม่ต้องแจ้งรัฐมนตรีล่วงหน้านั้น โหด เพราะเมื่อ ส.ส.มาแจ้งกระทู้ถามต่อรัฐมนตรีก่อนเวลา 08.00 น. แล้ว รัฐมนตรีจะต้องมาตอบทันทีในการประชุมสภาฯ เวลา 10.00 น. จึงทำให้รัฐมนตรีบางกระทรวงเตรียมการไม่ทัน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว จึงไม่อาจเลี่ยงเป็นอื่นได้ แต่มั่นใจว่าหลังจากนี้จะได้รับความร่วมมือจาก ครม.มากขึ้น” นพ.สุกิจกล่าว

ที่ปรึกษาประธานสภาฯกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในสมัยประชุมยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 2 ฉบับ รวมถึงยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่รัฐสภารับหลักการไว้พิจารณาจำนวน 2 ฉบับ มีญัตติที่รอการพิจารณา 1 ญัตติ ที่รอการพิจารณาในปี 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image