เครือข่าย ‘We Watch’ แถลงข้อบกพร่อง ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ จี้ กกต.ทวนบทบาท

เครือข่าย ‘We Watch’ แถลงข้อบกพร่อง ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ จี้ กกต.ทวนบทบาท-ชวน ผลักดัน ‘การกระจายอำนาจ’ บรรจุ รธน.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม เครือข่าย We Watch ซึ่งมีภารกิจจับตาการเลือกตั้งทั่วประเทศ แถลงถึงสถานการณ์ปัญหาการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และข้อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ WE Watch โดยแถลงการณ์เกิดจากการรวบรวมปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กว่า 200 รายงาน โดยอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม และ บุคคลทั่วไป ซึ่งใช้ลักษณะการสังเกตการณ์แบบสุ่ม และส่งรายงานผ่านเว็บไวต์ Electionwatch.org

ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา ข้อสังเกตส่วนตัวมองว่าความเปลี่ยนแปลงของผลการเลือกตั้ง ที่แม้จะยังไม่เป็นทางการ สะท้อนให้เห็นว่า 1.หากมองในเชิงทฤษฎี สะท้อนการเมืองท้องถิ่นที่อยู่ในมิติระบบอุปถัมป์ แต่ที่น่าสนใจ คือการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการพูดถึงนโยบาย มากกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะระดับ อบจ. 2.ข้อสังเกตทั้งจาก กกต. จ.ปัตตานี ที่ตนได้ไปดูสถิติ บัตรเลือกตั้ง บัตรเสีย บัตรไม่ลงคะแนน กล่าวคือ ทั้ง กกต. หรือผู้ปฏิบัติในหน่วยการเลือกตั้ง มองว่า ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนเล็กเกินไป ทำให้เกิดปัญหากับคนที่มาใช้สิทธิ ซึ่งแน่นอนว่า การไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับคนที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้

ผศ.เอกรินทร์กล่าวว่า 3.ประการที่สำคัญไม่น้อย ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเช่นนี้สะท้อนให้เห็นนัยสำคัญข้างหน้า ในการเลือกตั้งเทศบาลว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะในระดับเล็กลงไปเองอีก เช่น นโยบายในพื้นที่ หรือเขต อย่างกรณีทศบาล เป็นต้น 4.การเลือตั้งครั้งนี้ สื่อระดับประเทศแม้ว่าไม่ได้สนใจติดตามรายงานผลมากเท่าที่ควร แต่ที่น่าสนใจคือสื่อในท้องถิ่น ช่องทางดิจิทัล เป็นช่องทางที่สำคัญมาก ทั้ง 76 จังหวัด

เมื่อถามว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้เห็นโอกาสการกระจายอำนาจหรือไม่ ผศ.เอกรินทร์กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ.ไม่เท่ากับการกระจายอำนาจ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ถึงที่สุดแล้วการกระจายอำนาจต้องไปไกลกว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่เราเห็น หรือจินตนาการ กล่าวคือ ความเป็นจริง ณ ตอนนี้ เห็นแค่การเลือกตั้ง อบจ.ซึ่งการกระจายอำนาจ ต้องไปไกลกว่านั้น เช่น เปิดให้เกิดข้อถกเถียง ในระดับที่ว่า การปกครองส่วนภูมิภาคจำเป็นหรือไม่ ถ้าบางจังหวัดมีความพร้อมต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สามารถทำได้อย่างไร หรือแม้แต่บางพื้นที่ต้องมีการจัดการแบบพิเศษ การกระจายอำนาจจะต้องไปในทิศทางนั้น เพียงแต่วันนี้ เวลาเราพูดถึงกระจายอำนาจ ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งกรอบของการเลือกตั้ง ณ ปัจจุบัน สะท้อนว่า การกระจายอำนาจจะต้องเปิดให้คนถกเถียงมากกว่านั้น ให้ถกเถียงมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความแตกต่าง แน่นอนว่า เป็นปัญหาอย่างมาก เวลาเราพูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว จะเห็นว่า เรื่องโควิดที่ผ่านมา ในการมอบอำนาจ ให้ภูมิภาครับฟังส่วนกลาง ซึ่งเสียงท้องถิ่นไม่ได้รับฟังทั้งที่ใกล้ชิดกับประชาชน

ADVERTISMENT

จากนั้น มีการอ่านแถลงการณ์ โดย นายคณิน ฉินเฉิดฉาย อาสาสมัครเยาวชน We Watch นักศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีเนื้อหา ดังนี้

การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอาสาสมัครและการรายงานจากบุคคลทั่วไปจากทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันตก ผ่านทางเว็บไซต์ www.electionwatchth.org เฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch และทางโทรศัพท์ในช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา พบว่า กกต. และ อบจ. สามารถจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงไปได้ แต่มีความบกพร่องหลายประการอันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง We Watch ขอนำเสนอให้เห็นข้อบกพร่องดังกล่าว พร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงการจัดการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดมาตรฐานสากลของการเลือกตั้งทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง ข้อบกพร่องที่พบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย

1. ขาดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน
1.1 ประชาชนถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ) กำหนดให้ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านที่มีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
1.2 การประกาศวันเลือกตั้ง ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดภารกิจในพื้นที่ห่างไกลสามารถกลับมาใช้สิทธิได้อย่างสะดวก เช่น กำหนดวันเลือกตั้งไม่ตรงกับวันหยุดยาวและใกล้กับเทศกาลปีใหม่ รวมถึงไม่มีช่องทางอำนวยความสะดวกอื่นรองรับการใช้สิทธิ
1.3 การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสน ดังกรณี การไม่ระบุชื่อผู้สมัครและรูปภาพของผู้สมัคร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้บัตรเสีย

2. ความเป็นอิสระของผู้มาใช้สิทธิและการวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่
2.1 กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ส่งสัญญาณ ใช้อิทธิพลชักจูงผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งชาวบ้านทราบดีว่ามี กปน. บางคนเป็นหัวคะแนน
2.2 ประชาชนจำนวนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบจาก กกต. เนื่องจากเกรงว่าตนเองจะมีความเสี่ยงและที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้

3.ความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเด็นนี้ กปน. มีการดำเนินการบกพร่องหลายกรณี เช่น ไม่ปิดประกาศเอกสารสำคัญหน้าหน่วย ละหลวมในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้มาใช้สิทธิ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครผิดพลาด ไม่นับจำนวนบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ ไม่เจาะทำลายบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ นับคะแนนโดยละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ติดเอกสารประกาศสรุปผลการเลือกตั้งภายหลังการนับคะแนนแล้วเสร็จ รวมถึง กปน. ในหลายหน่วยไม่อนุญาตให้อาสาสมัครสังเกตการณ์ภายรอบหน่วยอย่างอิสระ

4.การลงคะแนนที่เสี่ยงต่อการไม่เป็นความลับ โดยเฉพาะในกรณีที่ กปน.ไม่จัดวางคูหาให้มีฉากกั้นด้านหลัง หรือ กรณีมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ด้านหลังคูหา

5.การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งยังมีน้อยโดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถดำเนินการสังเกตการณ์ได้มากขึ้นและมีมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยเลือกตั้ง

6. ขาดมาตรการในการควบคุมมิให้เกิดการคุกคามผู้สมัครในการหาเสียงในหลายพื้นที่

ในการจัดการกับข้อบกพร่องข้างต้น We Watch มีข้อเสนอแนะต่อ กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

1.ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน เช่น มาตรา 38 (3) พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้ที่มีการย้ายที่อยู่ในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี

2.กกต. ควรแก้ไขระเบียบหรือจัดการให้มีช่องทางอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเดินทางกลับไปใช้สิทธิ

3.การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่ง่ายต่อความเข้าใจ มีรายชื่อชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน

4.ควรมีการทบทวนเรื่องที่มาและคุณสมบัติของผู้จัดการเลือกตั้งใหม่ เช่น การยกเลิกการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็น กปน. และสร้างกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของ กปน. ใหม่ เพื่อป้องกันหัวคะแนนสร้างอิทธิพลหรือชักจูงผู้ใช้สิทธิภายในหน่วยเลือกตั้ง

5.กกต.ควรทบทวนกระบวนการอบรม กปน. เพื่อปรับปรุงแนวคิดและขั้นตอนการปฏิบัติในประเด็นเกี่ยวกับความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการทำความเข้าใจหลักการเรื่องการลงคะแนนที่เป็นความลับเสียใหม่

6.กกต.ควรมีการวางมาตรการในการทำงานเชิงรุกในประเด็นการป้องกันและดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามและการโกงการเลือกตั้ง

สุดท้าย กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งควรมีเจตนาที่จะแสดงความรับผิดชอบในข้อบกพร่องดังกล่าว และทบทวนบทเรียนในการดำเนินบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพื่อพัฒนามาตรฐานขั้นสูงในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ประกอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมีการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ผู้คนในต่างจังหวัดมีโอกาสทัดเทียมกันคงจะเป็นความฝันที่ยากที่จะเป็นจริง

เครือข่าย We Watch
25 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ เครือข่าย We Watch จะเขียนแถลงการณ์ฉบับเต็ม เพื่อยื่นปัญหาและข้อเสนอแนะต่อ กกต.เพื่อพิจารณา และนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ จะจัดเสวนาให้ความรู้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นอิสระ ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง