วิเคราะห์ : การเมือง ปี 63 สะบักสะบอม ปี 64 ลุ้น‘ทางออก’

การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน

เมื่อปรากฏเหตุการณ์โรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เริ่มต้นจากจังหวัดสมุทรสาคร และกำลังลามไปยังจังหวัดต่างๆ

ประชาชนจึงกลับมาห่วงพะวงกับสุขภาพกายจนเสียสุขภาพจิต

ขณะเดียวกัน เมื่อผลกระทบเริ่มขยายเป็นวงกว้าง ย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบในจังหวัดสมุทรสาคร ขยายเป็นจังหวัดอื่นๆ และหากไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้ ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement

ประเมินกันว่าหากโรคโควิด-19 ยังแพร่เชื้อโดยมิอาจควบคุม จะกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเดือนละ 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ยังกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชูเอาการควบคุมการระบาดเป็นจุดขาย

หากการระบาดเกินกว่าการควบคุม

Advertisement

รัฐบาลย่อมได้รับผลกระทบ

สําหรับรัฐบาล ปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าผ่านพ้นไปได้อย่างสะบักสะบอม

โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่รวมตัวกัน เรียกขานกลุ่มว่า “ราษฎร” ประกาศขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ให้พ้นจากตำแหน่ง

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรเดินหน้าด้วยการปักหมุดข้อเรียกร้อง 3 ประการ ท่ามกลางคำสบประมาทจาก “ผู้ใหญ่” หาว่าเป็น “ม็อบเด็ก”

กระทั่งกลุ่มเคลื่อนไหวก่อตัวอย่างเหนียวแน่น และรวมตัวกันรวดเร็วด้วยการสื่อสารสมัยใหม่

แม้ทางการจะพยายามใช้กำลังสลายการชุมนุม แต่ผลจากการดำเนินการกลับกระตุ้นให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาประท้วงกันมากขึ้น

และทยอยออกมากันทั่วประเทศ

แม้ต้นปี 2563 การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เหมือนจะจุดติด แต่มอดลงไปเพราะสถานการณ์โควิดระบาด และรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ

แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กลุ่มนักเรียนนิสิตนักศึกษาได้กลับมาประท้วงกันอีกครั้ง

ผลจากการเรียกร้อง บีบคั้นให้รัฐบาลต้องทำตามคำสัญญาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ระหว่างการดำเนินการจะแสดงอาการ “ยื้อ” แต่เมื่อมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ในที่สุดรัฐสภาก็โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วาระ 1 ไป

ขณะนี้การพิจารณายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 อีกรอบ การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรหยุดชะงัก

ทุกอย่างกำลังเฝ้าระวัง การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจต้องชะงัก

ล่าสุดพรรคฝ่ายค้านเริ่มออกมาดักคอรัฐบาลและ ส.ว.

อย่าอ้างโควิด-19 เพื่อเลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป

ดูเหมือนว่าโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่จะเป็นตัวช่วยให้ม็อบหยุดการเคลื่อนไหว และเปิดโอกาสให้รัฐบาลกลับมาทำแต้มได้อีกครั้ง

แต่ผลการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลอีกครั้งเช่นกัน

อย่าลืมว่า เมื่อการสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรมากมายในการป้องกันการระบาด

รัฐบาลต้องยอมหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

การที่โรคโควิด-19 ระบาดอีกครั้ง เท่ากับว่ารัฐบาลต้องเพิ่มต้นทุนในการป้องกันการระบาดรอบใหม่

ปัญหาทางเศรษฐกิจเดิมที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ ต่างรอการช่วยเหลือเยียวยาอีกรอบ

แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ต้องรอจังหวะให้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย

ดังนั้น รัฐบาลคงไม่อยากใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศแบบเดิม ศูนย์บริหารโรคระบาดโควิด-19 จึงตัดสินใจจัดแบ่งโซน 4 โซน ในการควบคุม

และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศจะผ่านพ้นสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ไปได้ แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงค้างคา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างกฎกติกาใหม่ยังไม่คืบหน้า

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลต้องยอมรับหนทาง “คืนอำนาจให้ประชาชน”

ก่อนหน้านี้ นายโภคิน พลกุล เคยเสนอให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.200 คน เพื่อให้ตัวแทนประชาชนไปดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ต้องยอมให้ ส.ส.ร.เลือกตั้ง กำหนดสัดส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ส่งทำประชามติจากประชาชนเลย

ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่ากฎกติกาใหม่มาจากตัวแทนประชาชนที่ไม่ได้อิงกับ คสช.

ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสมานฉันท์

ปี2564 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องกลับไปทำซ้ำในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะเดียวกัน โอกาสที่ปัญหาการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563 จะย้อนกลับมาเกิดอีกรอบก็มีสูง

ยกเว้นเสียแต่ว่า กลไกการแก้ไขปัญหาที่รัฐสภาคิดขึ้นจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดความสมานฉันท์ได้

ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

หากกระบวนการยังอิงกับ คสช. โอกาสไม่สำเร็จย่อมมีขึ้น แต่ถ้ากระบวนการเป็นอิสระจาก คสช. โอกาสสำเร็จก็คงมี

ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเข้าร่วม เท่ากับว่ากลไกสมานฉันท์ต้องหาวิธีใหม่

เป็นวิธีที่ต้อง “คิดใหม่” เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นในการแสดงความคิดเห็น

เป็นวิธีที่ทั้ง 2 ขั้วมีโอกาสดีไซน์การเมืองขึ้นมาร่วมกัน

หากทำได้ นั่นคือทางออก

และเป็นหนทางที่ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image