‘ยิ่งชีพ’ ชี้การต่อสู้ ปี 63 สะท้อน ‘ความอึดอัดแห่งยุคสมัย’ เชื่อ 64 ชุมนุมหนัก แม้โควิดรุนแรง

‘ยิ่งชีพ’ ชี้ การต่อสู้ ปี 63 ‘ยืดหยุ่นสูง’ สะท้อน ‘ความอึดอัดแห่งยุคสมัย’ เชื่อ 64 ชุมนุมหนัก แม้โควิดรุนแรง

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ให้สัมภาษณ์มติชน ถึงการต่อสู้ของประชาชน ตลอดปี พ.ศ.2563 ว่า การต่อสู้ในปีนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มที่เรียกตนเองว่าราษฎรเพียงอย่างเดียว ในช่วงต้นๆ จะมีกลุ่มเยาวชนปลดแอก, ประชาชนปลดแอก, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยกลุ่มราษฎรเป็นชื่อที่มาทีหลัง ซึ่งขณะเดียวกันกับที่กลุ่มราษฎรเคลื่อนไหวก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ เคลื่อนไหวตามจังหวัดต่างๆ กล่าวคือ ต่างคนต่างชุมนุมเป็นกลุ่มของตัวเอง ดังนั้น ภาพรวมการเคลื่อนไหวตลอดทั้งปี 2563 จะบอกว่าเป็นของราษฎรทั้งหมดไม่ได้ ส่วนของกลุ่มราษฎร หรือ หลายครั้งที่เป็นการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้จัดบ้าง กล่าวคือ การรวมตัวยังมีความไม่เป็นทางการมากนัก ไม่ได้มีโครงสร้างในการจัดการที่ชัดเจนว่า งานไหนเป็นของใคร และไม่ใช่ของใคร ใครตัดสินใจ และใครรับผิดชอบ เช่น การ์ดวีโว่ (We volunteer) กับการ์ดอาชีวะ ก็ไปหลายงาน โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำงานที่การชุมนุมเฉพาะหัว ว่ากลุ่มใดเป็นผู้จัด บางวันไม่ได้ร่วมกัน บางวันก็ร่วมกันจัด กล่าวคือ มีความยืดหยุ่น

“ในส่วนของข้อเรียกร้อง ความจริงแล้วเราจะเห็นว่าการชุมนุมแต่ละครั้งมีประเด็นเต็มไปหมด ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ 3 ข้อเสนอ แต่เมื่อดูการชุมนุมแต่ละครั้ง จะมีพูดทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เรื่องการขายบริการทางเพศ (Sex Worker) เรื่องชาวนา เรื่องสิทธิแรงงาน การศึกษา เรียกว่า สะท้อนความอึดอัดของยุคสมัย ส่วนตัวมองเช่นนั้นมากกว่า แต่ละเรื่องไม่ได้หมายความว่าเราจะบรรลุผลได้ในปีนี้ หรือปีไหน ก็มีแต่เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับเรื่องของทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม และอีกหลายด้าน อาจไม่ได้เป็นรูปธรรมชัดเจนภายในปีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

“ปีหน้า อย่างไรเสีย ก็จะมีการชุมนุมอีกเยอะแน่ๆ แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง ร้ายแรงมากแค่ไหน สำหรับสิ่งที่อยากจะเห็นในกิจกรรมทางการเมืองปีข้างหน้านี้ คือน่าจะไปในทิศทางที่เปิดรับความหลากหลายของคน ความหลากหลายในเรื่องความสนใจ ความหลากหลายทั้งในเรื่องเพศ และจุดยืนทางการเมือง ให้สามารถเข้ามาร่วมกันได้ รวมทั้งการออกแบบก็ต้องเน้นการสื่อสารเพื่อดึงกลุ่มคนที่เห็นต่างให้มีโอกาสมาเรียนรู้สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผล ถ้าไปแบบนี้ได้ ก็มีโอกาสที่จะค่อยๆ ขยับสังคมไปได้”

ADVERTISMENT

นายยิ่งชีพกล่าวด้วยว่า การต่อสู้ที่มีพลัง จะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.มีจำนวนผู้สนับสนุนที่มาก 2.มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน เป็นเหตุ เป็นผล เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้ ใครฟังก็เห็นด้วยได้ง่าย 3.มีการจัดการที่ทำให้คนมาร่วมรู้สึกปลอดภัย และมีความสุขที่จะมาร่วม เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามกรอบ “สันติ สงบ ปราศจากอาวุธ” และจะไม่มีข้อกล่าวหาตามมา

เมื่อถามว่า จากการที่ประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างของไอลอว์ ซึ่งภายหลัง มี “รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2563 ยกให้กรณีดังกล่าวเป็น 1 ใน 10 “วาระก้าวหน้าแห่งปี” นั้น ปี 2564 อยากให้มีเรื่องอะไรในสังคมที่เป็นวาระก้าวหน้าอีก

ADVERTISMENT

นายยิ่งชีพเปิดเผยว่า ถ้าพูดถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังทำไม่ได้ ปีหน้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีอีกหลายสเตปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและผลักดันกันไป แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังสามารถดึงให้คนมาสนใจได้

“อย่างตอนนี้มีโควิด ที่ชัดเจนว่ามีประเด็นเรื่องสิทธิของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาอยู่ในประเทศไทย เราจะดูแลเขาเท่ากันได้หรือไม่ ก็ต้องพูด รวมถึงประเด็นที่ปีนี้มาแรงแล้ว ปีหน้าก็จะสำคัญขึ้นเรื่องๆ อย่าง กฎหมายการทำแท้ง กฎหมายเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน หรือผู้ที่ความหลากหลายทางเพศ ปีหน้าต้องมาแน่ๆ เชื่อว่าจะเป็นวาระสำคัญของปีหน้าด้วย” นายยิ่งชีพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image