“รัฐมีส่วนทำให้โลกออนไลน์เติบโต” ประจักษ์ ก้องกีรติ 1 ในแอคเคาท์ทวิตเตอร์ยอดนิยม

‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ 1 ในแอคเคาท์ไทยยอดนิยม มองรัฐมีส่วน ‘การเมืองโลกออนไลน์’ เติบโต

ไม่ต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก ที่ โลกออนไลน์ และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีผลในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น โดยมีชุดข้อมูลไหลทะลักเข้าสู่มือของเราได้ง่ายดายกว่าเดิม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทวิตเตอร์” กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนไทย ใช้ “บอก” และ “รับสาร” มากที่สุดช่องทางหนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และในปี 2563 ทวิตเตอร์ เข้ามามีบทบาทต่อเรื่องข้อมูลข่าวสารของผู้คนไม่น้อย นับแต่ต้นปี เราได้เห็น ชาวทวิตเตี้ยน ชื่อที่ใช้เรียกชาวทวิตภพ ได้ออกมาใช้แฮชแทกเป็นปากเป็นเสียงให้กับเรื่องต่างๆ เห็นเด่นชัดได้กับกรณีกราดยิงโคราช ที่มีผลอย่างยิ่งในการช่วยกระจายข่าว ช่วยให้คนรอดชีวิตได้ จากกระบวนการกลั่นกรองข้อมูลที่เกิดขึ้น ณ ชั่วขณะนั้น

ทั้งยังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างก้าวกระโดด

เมื่อคนรุ่นใหม่ ใช้พื้นที่ตรงนี้ ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตย และ เผยแพร่ชุดความคิด สร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้เป็นวงกว้าง เราได้เห็นแฮชแท็กการเมือง ติดเทรนด์ขึ้นสู่กระแสหลักในทุกๆ วัน อย่างไม่ต้องสงสัย ใช้พื้นที่นี้ นัดชุมนุม หรือ รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ได้ทันที

Advertisement

หลายครั้งที่แฮชแท็กการเมืองเหล่านั้น ถูกรีทวิต กระจายข่าวต่อไปมากกว่าล้านครั้ง

เป็นจุดใหญ่ ที่รัฐบาลและกองทัพ ยังต้องให้ความสำคัญ ถึงกับตั้ง ชุดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ Information Operation (IO) ขึ้นมาเพื่อโต้กลับ กระทั่งทวิตเตอร์ได้ออกมาแบนบัญชีไอโอ ที่พบความเชื่อมโยงกับกองทัพ มากถึง 926 บัญชี

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ปี 2564 ทวิตเตอร์ ไทยแลนด์ ได้ออกประกาศ บทสรุปปี 2020 ซึ่งปีนี้ ไม่เพียงแต่มีเรื่องราวของเหล่าศิลปิน ดารา ที่เคยยึดครองพื้นที่ทวิตมายาวนาน แต่ยังได้ประกาศแฮชแท็กการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ซึ่งเราได้เห็นทั้ง #15ตุลาไปราชประสงค์ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน 2 แฮชแท็กสำคัญในการนัดชุมนุมครั้งใหญ่ #ธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ #เยาวชนปลดแอก ของกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมทางการเมือง ไปจนถึงเรื่อง #สมรสเท่าเทียม วาระกฎหมายฉบับใหญ่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และ #milkteaalliace ที่ทั้งชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ติดแฮชแท็กช่วยกันเรียกร้องประชาธิปไตย ยังมี #whatishappeninginthailand ที่ชาวโลกออนไลน์ นำมาเผยแพร่เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผ่านภาษาต่างๆ

ทั้งยังประกาศ แอคเคาท์ไทย ยอดนิยมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีทั้ง นักเรียนเลว กระบอกเสียงเบอร์หนึ่งนักเรียนมัธยม , ทราย เจริญปุระ แม่ยกแห่งชาติ , iLawFX ผู้ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน , จอห์น วิญญู พิธีกรรายการคนดัง , เนติวิทย์ โชติพัฒน์ไพศาล นิสิตจุฬาฯ ผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ , บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง , บอล ธนวัฒน์ วงไชย หนึ่งในแอคดังโลกทวิตเตอร์ที่เผยแพร่ข่าวสารในด้านต่างๆ สู่การจัดวิ่งไล่ลุง , ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางการเมือง และ วิโรจน์ ลักขณาดิศร ส.ส.ก้าวไกล

รวมไปถึง ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ติดเข้ามาเป็น 1 ใน 10 ของแอคเคาท์ยอดนิยมในครั้งนี้ด้วยกัน

เบื้องหลัง “แอคเคาท์ยอดนิยม”

“แปลกใจ” เป็นคำตอบที่ อ.ประจักษ์ตอบ เมื่อถูกทำถึงเหตุผลที่ติด 1 ใน 10 แอคเคาท์ครั้งนี้ ก่อนว่า “เราไม่ได้ทวิตดุเดือด จะเน้นให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลเรื่องหนังสือ และวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ก็แปลกใจในส่วนของตัวเอง”

“ใน 10 คนที่ติดเข้ามา คนอื่นก็เข้าใจได้ เขาเป็นคนมีชื่อเสียง อย่าง จอห์น วิญญู ทราย เรียกว่าเป็นคนดัง บก.ลายจุด ก็เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อทวิตเตอร์มานาน สิ่งที่น่าสนใจคือ แอคเคาท์ทวิตเตอร์ของ iLawFX และศูนย์ทนายฯ ที่ติดเข้ามา แสดงว่าเด็กให้ความสนใจ ติดตามแอคเคาที่ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และสิทธิต่างๆ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งแอคเคาท์เช่นนี้จะติด”

ปัจจุบัน แอคเคาท์ @bkksnow ของประจักษ์ มีผู้ติดตามมากกว่า 193,300 คน ด้วยกัน ซึ่งเหล่าฟอลโลเวอร์เหล่านี้ ก็มีบ้างที่เข้ามาขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์งาน กระจายข่าว แนะนำหนังสือ โดยเฉพาะกับเรื่องหลัง ที่อ.ประจักษ์บอกว่า เข้ามาเยอะที่สุด

ประจักษ์ เผยว่า เด็กรุ่นหลังจริงจังกับการอ่านหนังสืออย่างชัดเจน อะไรที่เป็นทวิตเกี่ยวกับหนังสือ จะมีคนรีทวิตไปเยอะมากจนแปลกใจ มีบ้างที่ส่งข้อความมาว่า หนังสือเล่มนี้จะหาได้ที่ไหน แนะนำไปแล้วหาไม่เจอ หรืออ่านหนังสือเรื่อง ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีจบแล้ว ต้องอ่านอะไรต่อ อาจจะเป็นเพราะเทรนด์ในช่วงหลัง เด็กกระหายความรู้ทางการเมือง และประวัติศาสตร์

แน่นอนว่า ในยุคที่ได้เห็นไอโอขับเคี่ยวโต้กลับในหลายต่อหลายแอคเคาท์ การติดแอคเคาท์การขับเคลื่อนสังคมยอดนิยม อาจทำให้ถูกเพ่งเล็งได้ “ประจักษ์” บอกว่า ไม่ได้รู้สึกกังวล แต่มีคนตามมากขึ้น ไม่รู้ว่าเพราะเป็นไอโอเป็นส่วนใหญ่หรือมาตามจริง เพราะเป็นคนนิสัยเสีย ไม่ได้ตามไปอ่านคอมเมนต์มากเท่าไหร่ ยกเว้นจะแท็กโดยตรง พวกที่เข้ามา thread ตอบใต้ทวิตจะไม่ค่อยได้อ่าน จนบางทีคนอื่นก็ต้องคอยบอกว่า ให้ไปลบบ้าง ก็ไปบล็อกบ้าง เห็นอยู่แต่ไม่อยากเสียสุขภาพจิต หรือมีเวลาเยอะขนาดจะไปสู้รบกับไอโอ ก็ปล่อยไป ยกเว้นเจอป่วนชัดเจน หรือหยาบคายมากไป ก็บล็อก เพราะเราก็ปุถุชน

มองความเปลี่ยนแปลง “โลกทวิตเตอร์”

“ทวิตเตอร์ เป็นช่องทางหลักในการรับสารของเด็กๆ เวลาที่ถามนักศึกษา หรือสัมภาษณ์เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัย ชัดเจนว่า ทวิตเตอร์เป็นอันดับหนึ่งในการติดตามข้อมูลข่าวสาร มากว่าเฟซบุ๊ก แต่ว่าปีนี้เป็นปีที่ก้าวกระโดนของทวิตเตอร์ในไทย ที่ว่าไม่ใช่แค่เด็กที่ใช้อย่างเข้มข้น เด็กใช้อยู่แล้ว แต่คนเจนเอ็กซ์ เจนเบบี้ บูม เริ่มสมัครใช้มากขึ้น อาจจะกลัวตกเทรนด์ หรือว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะเห็นเพื่อนของเรา คนที่รู้จัก หรือผู้ใหญ่ อยู่ดีๆมาสมัครใช้ทวิตเตอร์มากขึ้นในปีนี้”

“กลายเป็นพื้นที่ ที่มีการก้าวกระโดด ทั้งปริมาณและคุณภาพ พูดง่ายๆว่า แทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ที่แฮชแท็กการเมือง กลายเป็นแฮชแทก main stream ของทวิตเตอร์ ทุกวันต้องมีเทรนด์”

ไม่เพียงแต่ผู้เล่นที่เยอะขึ้น ประจักษ์มองว่า เนื้อหาและวิธีการ ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยว่า เนื้อหาเข้มข้นขึ้นในแง่ของสาระ และการถกเถียง ช่วงปีก่อนๆ ยังจะเป็นแบบกาแซะ การด่า ระบาย ซึ่งเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่ แต่พอม็อบเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง คนที่อยู่ในโลกทวิตเตอร์ก็ไปร่วมชุมนุม เราจะเห็นว่าประเด็นม็อบ เนื้อหา มันฟีดกลับมาที่ทวิตเตอร์แบบเรียลไทม์

“พูดง่ายๆ คือเขาอาจจะรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้เขาโดนดูถูกมาก่อน ว่าเจเนอเรชั่นนี้เป็นเกรียนคีย์บอร์ด เก่งแต่โลกทวิตเตอร์ ไม่มีน้ำยาพอจะไปเคลื่อนไหว สุดท้ายเขาลงถนนจริง และผ่านไป 4 เดือน เด็กรุ่นนี้เติบโตทางการเมืองเร็วขึ้นมาก ด้วยการที่รัฐไปทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ เร็วกว่าวัยอันควร คุณไปทำให้เขาต้องเผชิญกับประสบการณ์ การถูกฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ใช้ความรุนแรง มันเหมือน 4 เดือน เขาได้ประสบการณ์ ทางการเมืองไปเยอะมาก บางคนบอกว่า รวมถึงได้ความรู้ทางการเมือง ทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่เรียนรู้มาทั้งชีวิต”

“คุณไปทำให้คนรุ่นนี้ เขากลายเป็นคนที่เติบโตทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รัฐเองทำ เด็กรุ่นนี้เลยเป็นเด็กกร้านโลกไปแล้ว เพิ่งอายุ 20-21 มันได้รับประสบการณ์ตรงแล้ว ว่าราคาของการออกมาต่อสู้ทางการเมืองคืออะไร”

ประจักษ์
ประจักษ์ ก้องกีรติ

ทวิตเตอร์ และ “ม็อบ”

ประจักษ์ มองว่า ทวิตเตอร์ มีส่วนช่วยให้การชุมนุมนั้นเร็วมากขึ้น ด้วยไม่ต้องนัดชุมนุมล่วงหน้านาน แต่ทำได้เพียงชั่วข้ามคืน หรือ ประกาศเช้าไปเย็น ประกาศแล้วไม่ไป ทำให้ม็อบเร็วขึ้น และมีพลวัตมากขึ้น ในอีกแง่หนึ่ง ทำให้เกิดแกนนำที่มาตามธรรมชาติ เหมือนฮ่องกง หรือหลายที่ ที่สามารถเรียกชุมนุมกลุ่มย่อยได้

ทั้งยังมีส่วน ช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ด้วย

“ทวิตเตอร์ช่วยให้แก้สถานการณ์ได้ไว เมื่อประกาศผ่านทวิตเตอร์ไป คนที่อยู่หน้าเหตุการณ์ก็รีบบอกคนอื่น และสั่งการได้ทันที ม็อบไทย ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม ทั้งเยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เอาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นที่ตั้ง หลีกเลี่ยงการปะทะ โดยไม่จำเป็น สู้ด้วยแท็กติก สติปัญญามากกว่า”

“ถ้าสุ่มเสี่ยง มีโอกาสปะทะก็เปลี่ยนได้ทันที ถอย ถือว่าดีแล้ว แม้จะมีเสียงเสียให้ต้องยกระดับ หรือใช้ความรุนแรง แต่ถ้าเราดูจากประสบการณ์ จะเห็นได้ว่า ไม่มีม็อบไหนที่ชนะด้วยวิธีแบบนี้ ในโลกสมัยใหม่”

เทียบม็อบไทย และฮ่องกง

นับแต่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง บ่อยครั้งที่ม็อบไทย มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับ “ม็อบเยาวชนฮ่องกง” ซึ่งไม่นานมานี้ เหล่าแกนนำ ได้ดำเนินคดี และถูกมองว่า “จบไม่สวย” ในเรื่องนี้ ประจักษ์ มองว่า ตอนนี้ ม็อบไทยไม่เหมือนฮ่องกง แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่จุดนั้นหรือเปล่า ไม่รู้

ก่อนจะกล่าวต่อว่า ที่ไม่เหมือนเพราะคือว่า รัฐไทย ไม่ได้เก่งเท่ารัฐจีน ฮ่องกง เผชิญกับรัฐบาลเผด็จการที่เข้มแข็งที่สุดในโลก พรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่รัฐบาลไทยไม่ได้มีสมรรถภาพขนาดนั้น 2. ม็อบของคณะราษฎรของไทย ยึดมั่นในสันติวิธีมากกว่า แม้ม็อบฮ่องกงจะเริ่มจากสันติวิธี แต่พอยกระดับไปเรื่อยๆ แล้วในที่สุด มันคือใช้วิธีเผชิญหน้าพอสมควร มีการปะทะ สู้แล้วโดนจับ โดนกลั่นแกล้ง ถ้าเราจำภาพเหตุการณ์ได้ ม็อบฮ่องกงก็คือ มียิงธนูก็มี ใช้กระบองก็มี ยึดมหาวิทยาลัยตั้งม็อบสู้กับตำรวจ รู้สึกว่าต้องใช้โหมดปะทะแล้ว พอไปใช้ก็เข้าทางรัฐบาลจีน ซึ่งอยากจะใช้ให้รัฐบาลฮ่องกงปราบปรามด้วยความรุนแรง

ความท้าทายทั่วโลกของ การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร

ประจักษ์ กล่าวว่า การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร และโซเชียลมีเดีย ท้าทายชนชั้นนำทั่วโลก ไม่มีสถาบันไหน ผู้นำประเทศไหน รอดพ้นจากการถูกตรวจสอบโดยโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นพื้นที่ ที่ปิดกั้นได้ลำบาก รัฐเองก็ต้องใช้ จะปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ก็ไม่ได้ ทุกประเทศถูกท้าทายด้วยพื้นที่ใหม่ ที่มาพร้อมเสรีภาพในการแสดงออกที่ยากต่อการเซ็นเซอร์ ขนาดรัฐบาลจีนเองยังต้องปวดหัว นับประสาอะไรกับเผด็จการไทย ที่อ่อนเปลี้ย ไร้สมรรถภาพกว่าชนชั้นนำจีนมาก

“ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทย ถ้าจีนมาดูก็คงขำเลย เป็นกลไกรัฐที่เปลืองภาษีประชาชนมาก คุณเป็นเผด็จการ คุณก็ควบคุมไม่ได้จริง เพราะเผด็จการไทย มันโตมาพร้อมกับสงครามเย็น คุณก็ทำได้อย่างมากคือปฏิบัติการจิตวิทยาแบบตื้นๆ ทีนี้ คุณใช้กลไกแบบสงครามเย็น มาสู้กับยุคดิจิตอล มันสู้ไม่ได้”

“จีนรับมือกับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ กับโซเชียลมีเดียได้ เพราะเป็นเผด็จการที่มีสมรรถภาพ แต่เราเป็นเผด็จการที่ไร้สมรรถภาพ จีน เป็นเผด็จการพลเรือน ไม่ใช่เผด็จการทหาร มันต่างกัน คนที่ขึ้นมากุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นพวกเทคโนแครตส์ เป็นพวกคนที่มีความรู้ความสามารถ มีการกลั่นกรอง กว่าจะขึ้นมาถึงตำแหน่งสูงสุด ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าคุณเก่งที่สุด เหมือนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องพิสูจน์ความสามารถกว่าจะมาเป็นซีอีโอ”

“สีจิ้นผิงขึ้นมา ไม่ใช่เพราะเขาจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์มากที่สุด แต่เพราะเขามีความสามารถมากที่สุด และเขาไม่ได้ขึ้นมาเพราะเขาสังกัด มุ้ง กลุ่มอะไร แล้วก็อุปถัมภ์กัน ที่สำคัญคือ ไม่มีใครครองอำนาจได้ตลอดกาล มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำตลอด ก็ได้คนเก่งขึ้นมาจริง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพรรคคอมมิวนิสต์จีน เอาทหาร ผู้บัญชาการทหาร ขึ้นมาปกครอง ป่านนี้ก็เจ๊งไปแล้ว ก็คือ เขาปกครองโดยนักเศรษฐศาสตร์ โดยวิศวกร พลเรือน แต่ไทย เป็นเผด็จการไร้สมรรถภาพ คือทั้งกดขี่ ริดลอนสิทธิเสรีภาพคน และบริหารประเทศก็ไม่เป็น”

“นี่คือระบอบการปกครองที่นักรัฐศาสตร์บอกว่าแย่ที่สุด”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทวิตเตอร์ ปิด 1,594 บัญชีทำไอโอ ไทยแชมป์ 926 แอคเคาท์ พบโยงกองทัพบก อวยรบ.

ทวิต ประกาศ #เป๊กผลิตโชค แฮชแท็กแรงสุดแห่งปี ‘โควิด-ม็อบ16ตุลาแยกปทุมวัน’ ฮิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image