2 มุมความคิด วิกฤตปี2564

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.จรัส สุวรรณมาลา

•ในปี 2564 การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะยังทำหน้าที่ได้ตามระบบการถ่วงดุลอำนาจหรือไม่

ช่วงปีนี้หรือปีหน้าก็คงจะไม่แตกต่างกันเพราะรัฐสภาที่แม้จะมีเสียงฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลไม่ห่างกันมากก็ไม่ได้มีปัญหาทำให้รัฐบาลรู้สึกเป็นกังวล

เพราะประเด็นที่แหลมคมส่วนใหญ่คือ การปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงไม่มีการเสียเปรียบอะไรมากนัก ฝ่ายตุลาการก็ไม่มีประเด็นที่ทำให้สั่นคลอน ถึงแม้จะถูกวิจารณ์กรณีมีคำวินิจฉัยในคดีต่างๆ ซึ่งผมเข้าใจว่าคงจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกในปี 2564

Advertisement

ความจริงแล้วข้อเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผมคิดว่ามีความชอบธรรมอยู่ และน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนที่มาของ ส.ว. ให้ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม

ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่เลยไปถึงเรื่องสถาบันหรือการจัดรูปแบบการปกครองประเทศก็ไม่น่าจะผ่านไปได้ ยังเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งเยอะ

ดังนั้น การเคลื่อนไหวในประเด็นที่มาของ ส.ว.ควรจะทำต่อไปในเรื่องนี้ อาจจะสำเร็จในปี 2565 ถึง 2566 คงไม่สำเร็จในปี 2564 เพราะรัฐบาลยังต้องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมที่ยังไม่ลงตัว

Advertisement

ข้อเรียกร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออก จะไม่สำเร็จในปี 2564 เช่นกัน อาจจะถูกที่บอกว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพหรือคุมฝ่ายข้าราชการไม่ได้ แต่ยังไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่แรงพอที่จะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมได้

•มีบทบาทของการเมืองภาคประชาชน และการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจะสะเทือนรัฐบาลหรือบรรลุข้อเรียกร้องหลักได้หรือไม่

การที่ประชาชนและนิสิตนักศึกษาตื่นตัวออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี เพราะพวกเขาจะกลายเป็นอนาคตของประเทศ ถือเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง พวกคนแก่ๆ อีกไม่กี่ปีก็คงจะลาโลกกันแล้ว

ถ้าวันนี้พวกเขาออกมาบอกว่าคนแก่ๆ ทิ้งปัญหาไว้ให้พวกเขาเยอะ ก็น่าจะตำหนิถูก แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า การแสดงความเห็นในการเรียกร้องทางการเมือง ก็ควรจะต้องมีขอบเขต ความรับผิดชอบ และกลยุทธ์ ไม่ใช่ว่าอยากจะพูดก็พูดไป กลายเป็นว่า สิ่งที่พูดไปที่อยากได้ ก็ไม่ได้ หรือสิ่งที่ควรจะได้ก็ไม่ได้

เหมือนต้นไม้ที่ผลิยอดมานิดหนึ่ง หากสวยเกินไปคนก็เด็ดทิ้ง ทำให้ต้นไม้ไม่เติบโตและแกร็นตาย พวกผมที่ผ่านเดือนตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 ในช่วงก่อนเราก็มุทะลุ แต่เมื่อพวกเราเติบโตขึ้นก็มีคนเด็ดยอดและก็ตาย คนรุ่นใหม่ก็ถูกเด็ดยอด นี่คือสิ่งที่เราไม่อยากจะเห็น

ข้อเรียกร้องตอนนี้ที่สำเร็จแล้วคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมองโลกในแง่ดีที่ปี 2564 จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวภาคประชาชน จะต้องมีกลยุทธ์ในการรณรงค์เรื่องการปฏิรูป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ อย่านำเรื่องที่คนไม่เอาไปรณรงค์ เช่น เรื่องสถาบัน เมื่อต้องรณรงค์กับคนหมู่มากทั้งประเทศ ต้องตระหนักว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คนส่วนใหญ่รับได้ เพราะคนรุ่นเก่า และคนรุ่นแก่ยังมีอยู่เยอะ คนเหล่านี้ก็มีเหตุผล ไม่ใช่ว่าจะไม่เอาด้วยกับข้อเรียกร้อง หากเคลื่อนไหวดีๆ ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูป อาจจะประสบความสำเร็จด้วย

ทั้งนี้ ควรจะทำข้อเรียกร้องให้ชัดขึ้น ไม่ใช่เรียกร้องประเด็นรายวัน เพราะจะทำให้ข้อเรียกร้องไม่มีพลัง และคนจะไม่เอาด้วย

การจะไปสั่นคลอนรัฐบาล จนต้องลาออกหรือหมดความชอบธรรมภายในปี 2564 เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังต้องทำงานสู้กับโควิด-19 คงไม่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึกดังนั้นการแซะรัฐบาลให้ออกก็คงจะยาก

•ในปี 2564 เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ผมมองว่า ประเด็นที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลในปี 2564 คือเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องการเมือง คือรัฐบาลจะนำเงินส่วนไหนมาดูแลเศรษฐกิจ เพราะปี 2563 ก็ใช้เงินไปเยอะมากแล้ว อีกทั้งในปีหน้าเศรษฐกิจก็ถดถอย รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง จึงต้องหากลยุทธ์เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ อีกเรื่องคือ เรื่องการเมืองท้องถิ่น ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563

เราจะเห็นว่านักการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ยังเป็นเครือข่ายของอำนาจเก่า ที่บอกเราได้ 2 อย่างคือ การเมืองไทยยังเป็นโครงสร้างอำนาจทางแนวดิ่งอยู่ ชาวบ้านยังเลือกคนที่คิดว่าตัวเองพึ่งได้ หากเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีระดับเล็กลงไปอีก อย่างเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เครือข่ายแนวดิ่ง และผู้มีอำนาจมากบารมี ยังมีความผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

ดังนั้น การเมืองท้องถิ่นจะยังคงอยู่ในรูปเดิมอีก 1-2 ปี หรืออีกระยะหนึ่ง ถ้าผมเป็นนายกฯ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในเรื่องงานการเมือง ที่น่าห่วงคือเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า

•การตื่นรู้ข้อมูลของประชาชนในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนดุลการเมืองอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันก็มีสื่อที่เข้าถึงคนได้เยอะ แต่ว่าคนไทยยุคนี้ยังไม่มีใครเข้าใจการเมืองจริงๆ มากนัก การทำนโยบายของรัฐบาลในช่วงโควิด-19 ด้านหนึ่งทำให้เราเห็นว่าประชาชนให้ความร่วมมือพอสมควร ถือว่าข่าวสารข้อมูลทำให้เกิดความร่วมมือ และช่วยเหลือกันดี แต่ว่าพอพูดถึงเรื่องการเมือง เช่น การจัดสรรผลประโยชน์ การแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล และนโยบายของรัฐ ยังเหมือนเดิม และไม่มีอะไรดีขึ้นเลย คนไทยยังไม่ค่อยรู้สึกรังเกียจกับนโยบายประชานิยม ยังเฉย และยังแอบชอบด้วย

แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลเอาเงินจากไหนมาแจก ไม่รู้ว่ารัฐบาลเก็บภาษีปีละ
เท่าไหร่ และนำเงินไปทำอะไรบ้าง คนไทยเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่มีคุณภาพ ไม่ต่างจากช่วงก่อนปี 2500 เลย

•มีแนวโน้มการเมืองแบบเก่า จะค่อยๆ จางหายไปหรือไม่ เพราะคนรุ่นใหม่จะเข้ามาทำการเมืองในระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง และอนาคตของประเทศตามที่พวกเขาต้องการ

ไม่อยากจะพูดให้คนรุ่นใหม่เสียใจหรือหมดกำลังใจ

แต่ว่าระบบการเมืองอุปถัมภ์และเล่นพรรคเล่นพวก ยังคงมีอยู่ต่อไประยะยาวพอสมควร ปี 2564 ไม่มีทางมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เลย เพราะเราจะเห็นการเมืองในระดับชาติ ที่จับกลุ่มเป็นพรรคพวก ทำการเมืองโดยไม่คำนึงประโยชน์ของประเทศ การเมืองท้องถิ่นก็ยังเป็นการเมืองของพรรคพวก เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ระบบราชการก็แบบเดียวกัน

ฉะนั้น ถ้าคนรุ่นใหม่ต้องการโค่นระบบการเมืองเก่าไปให้ได้ ต้องบอกว่าเป็นความฝันที่ยังต้องอยู่อีกไกล แต่อย่าหยุดทำ ให้ทำไปเรื่อยๆ

ผมได้ถามคำถามนี้เมื่อครั้งเป็นนักเรียนเมื่อปี 2520 เป็นคำถามที่ถูกถามซ้ำๆ และผมก็ไม่เห็นว่ามันดีขึ้น เห็นแต่การถูกกลืนเข้าสู่ระบบเดิม ที่เป็นหลุมดำของระบบสุริยะจักรวาล

ถ้าสังคมยังถูกทำให้เป็นทาสทางนโยบาย ก็คงเป็นแบบนี้อีกยาว คนรุ่นใหม่ต้องหาทางเอง

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

•การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ในปี 2564 จะยังทำหน้าที่ได้ตามระบบการถ่วงดุลอำนาจหรือไม่

เมื่อดูตามสถานการณ์บ้านเมืองของไทย เรื่องนี้มีปัญหาและมีความซับซ้อนมาก การถ่วงดุล คือ การทำให้อำนาจไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือใครคนใดคนหนึ่ง การที่อำนาจอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะส่งผลให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจและกระทบถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ในทางรัฐธรรมนูญจึงมีการแบ่งแยกองค์กร ที่ใช้อำนาจอธิปไตย เป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ เพื่อให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกัน และในการร่างรัฐธรรมนูญต้องระบุภารกิจและขอบเขตของอำนาจแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดมีอำนาจเหนือฝ่ายใด

เพราะเมื่อเหนือกว่าการตรวจสอบและถ่วงดุลก็ไม่เกิด จะกลายเป็นการเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายอื่นแทน ซึ่งจะเข้าไปทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วย อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมด้วยว่า ตามหลักการแล้ว การกำหนดอำนาจเพื่อถ่วงดุลระหว่างกันต้องอยู่บนพื้นฐานของความเชี่ยวชาญและความเป็นอิสระของแต่ละฝ่าย โดยต้องพิจารณาถึงที่มาของแต่ละฝ่ายด้วยว่ามีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนมากน้อยเพียงใดตามระบอบเสรีประชาธิปไตย

หากพิเคราะห์โครงสร้างสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ว่าออกแบบให้สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลได้หรือไม่นั้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้น

ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2540 และเมื่อมองย้อนดูรัฐธรรมนูญ ฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา ฉบับแรกที่พูดถึงเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล คือ รัฐธรรมนูญปี 2492 ในอารัมภบท พยายามกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ ก็พูดถึงแต่การถ่วงดุลเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น

จะมีก็แต่เพียงรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายตุลาการได้โดยกระบวนการการถอดถอน แต่กรณีรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความชอบธรรมของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา

คำถามคือ เหตุใดรัฐธรรมนูญไทยที่มีการแบ่งองค์กรที่ใช้อำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย แต่ส่วนใหญ่รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือฉบับปัจจุบัน หยิบยกพิจารณาปรับอำนาจแค่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายตุลาการไม่ค่อยมีการหยิบเข้ามาพิจารณา

เมื่ออ่านอารัมภบท รัฐธรรมนูญปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ยกร่าง ว่าที่ผ่านมาการเมืองไทยเกิดวิกฤตและปัญหาต่างๆ ทางการเมือง รัฐธรรมนูญแก้ไขไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าศาลและองค์กรอิสระทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงพยายามปรับอำนาจศาลและองค์กรอิสระให้มีอำนาจมากขึ้น เพื่อให้เข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นบทบาทของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระสูงมากทางการเมือง และในทางการเมืองก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงกันผ่านข้อกฎหมายและการฟ้องร้องกันในทางกฎหมาย ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ยกร่างต้องการให้เป็นลักษณะเช่นนี้

จากที่กล่าวข้างต้นการที่ให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมีความอันตรายพอสมควร เรื่องนี้ในต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เพราะศาลเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง เมื่อให้ศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองอาจมีผลเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือทางการเมืองและสังคม แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำลังทำอยู่

เช่น การกำหนดให้ศาลฎีกาเข้ามาตัดสินเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองแทนกระบวนการถอดถอนซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ให้ฝ่ายการเมืองอย่างวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ หรือการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมกับองค์กรอิสระในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ฯลฯ เป็นต้น ตรงนี้เอง ไม่แน่ใจว่าจะมีการกล่าวถึงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมหรือไม่

กล่าวโดยสรุป เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจมาก เมื่อวางรากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าก็สะท้อนว่าผู้ยกร่างไม่ได้คิดเรื่อง “การถ่วงดุล” หากแต่คิดแต่เรื่อง “การตรวจสอบ” อย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องพึงต้องระมัดระวัง การตรวจสอบไม่ได้ผูกขาดไว้กับฝ่ายตุลาการเท่านั้น ฝ่ายอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เขาถึงเรียกว่าการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่าง 3 ฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายเดียว

•การก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของภาคประชาชน และการชุมชุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจะสามารถสะเทือนรัฐบาล หรือบรรลุข้อเรียกร้องหลักได้หรือไม่

การมีบทบาทของภาคประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพียงแต่ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมาบทบาทดังกล่าวจางหายไปเพราะถูกกดทับจากการทำรัฐประหารปี 2557 ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและการกดทับครั้งนี้เปรียบเสมือนสารเร่งปฏิกิริยาของประชาชน ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นเพื่อแสดงออกและช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดหลังจากที่ถูกจำกัดตัดตอนมาเป็นเวลานาน

โดยสารเร่งตัวแรกมาจากเรื่องที่มาของผู้ปกครอง การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตรงนี้คือข้อเท็จจริงที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นผู้ที่ทำรัฐประหารมาก่อน เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาก่อน ประชาชนมองว่าคุณเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม

เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ที่ทำรัฐประหารกลับได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีก ทำให้ภาคประชาชนมีการตั้งคำถามและเกิดความไม่พอใจ เพราะประชาชนเองก็มองว่าเขาไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดหรือเลือกนายกรัฐมนตรีเท่าที่ควร เพราะปัญหาของกติกาการเลือกตั้งกติการัฐธรรมนูญ สุดท้ายยังมีเรื่องของ ส.ว.จำนวน 250 เสียง ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คอยสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอีก

สารเร่งถัดมาคือการบริหารราชการที่ถูกตั้งคำถาม เนื่องจากตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา หลายคนตั้งข้อสงสัยกับความโปร่งใสในการบริหารราชการ ถึงขนาดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาให้ข้อมูลว่าในยุค คสช.เกิดการทุจริตมากที่สุด การตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญทำได้จริงหรือไม่ภายใต้รัฐบาล คสช. และชุดปัจจุบัน แม้จะมีองค์กรที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ แต่ผลการตรวจสอบที่ออกมาค้านสายตาประชาชนในหลายเรื่อง สารเร่ง 2 ตัวนี้เองเป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลในที่สุด

ทั้งนี้ การที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองและออกมาคัดค้านรัฐบาลเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการที่คนรุ่นใหม่ออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และครั้งนี้พวกเขาสะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ของประเทศไทย ทั้งหมดสะท้อนมาจากการเรียกร้องให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญ หรือถ้าสำรวจข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียด้วยซ้ำ

เพราะเห็นว่าปัญหาของประเทศครั้งนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว เพื่อคนกลุ่มเดียว จึงเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อตั้งต้นด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม กติกานี้ก็ย่อมไม่สามารถให้ผลที่เป็นธรรมได้ เยาวชนคนรุ่นใหม่จึงอยากให้มีกติกาที่เป็นธรรมซึ่งมาจากประชาชนทุกคนร่วมกันร่างมันขึ้นมา

ในส่วนของรัฐบาลนั้นจะรับข้อเสนอของคนรุ่นใหม่หรือไม่ ในเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลก็คงรับฟังแต่จะทำมากน้อยเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะเห็นได้ว่าอย่างน้อยๆ การตอบรับจากรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และหากเข้าไปดูในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจะเห็นการให้สัดส่วนกับคนรุ่นใหม่ในการนั่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่จะเห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกหรือไม่ก็คงต้องไปถกเถียงกัน ส่วนการรับฟังข้อเรียกร้องอื่นๆ ผมเห็นว่าขึ้นอยู่กับการกดดันรัฐบาล แต่ตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ออกแบบมาโดยฝืนธรรมชาติประกอบกับปัญหาของรัฐบาลชุดปัจจุบันทั้งในเรื่องการเข้าสู่อำนาจและพฤติกรรมการใช้อำนาจ ทำให้มีการออกมาเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในครั้งนี้การเรียกร้องของพวกเขามันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทยแบบเก่าไปเรียบร้อยแล้ว และต่อจากนี้ระบบการเมืองไทยในมิติต่างๆ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

•ในปี 2564 จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องเพิ่มระดับการชุมนุม เพื่อให้รัฐบาลรับฟังข้อเสนออื่น

ในปี 2564 ปัจจัยที่อาจจะทำให้การชุมนุมเข้มข้นขึ้นไม่มากก็น้อย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่พูดแบบนี้เพราะ 1.กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ได้เสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการเสนอตั้ง ส.ส.ร. เพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สุดท้ายต้องติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อการชุมนุม 2.ในขณะที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 วรรคสุดท้าย ให้อำนาจกับ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือ ส.ส.และ ส.ว.ระหว่างนี้ถ้าผู้ใดเห็นว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วัน 3.นอกจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้เบื้องต้นเป็นการแก้ไขเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าต้องทำประชามติ ดังนั้น ประเด็นเรื่องกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติอาจมีประเด็น กฎหมายประชามติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาของรัฐสภาในวาระสองจะมีปัญหาในเรื่องใดหรือไม่ ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในอนาคต

•ในปี 2564 เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า “อยู่ในสภาวะวิกฤต” ถ้าพูดกันตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ตัวรัฐธรรมนูญเองก็ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลได้ นอกจากจะสร้างสภาวะการเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำเริ่มจากการสลายขั้วพรรคการเมืองใหญ่ จนกลายเป็นการเมืองแบบหลายพรรค ทั้งพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก นำไปสู่การเลือกตั้งแบบใหม่ ระบบการจัดสรรปันส่วนผสม เมื่อระบบพรรคการเมืองใหญ่ถูกสลาย ก็ต้องแลกมาด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลที่กลายเป็น “ระบบรัฐบาลผสม” การเปลี่ยนให้ไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเป็นสององค์กรที่ไม่มีความเข้มแข็ง

ที่พูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้นำพาการเมืองไทยไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพและความไม่แน่นอน เช่น ลองสังเกตว่ารัฐบาลชุดนี้กว่าจะทำการจัดตั้งได้ใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย สะท้อนให้เห็นว่าต้องผ่านการเจราจาต่อรองทางการเมืองสูงและสุดท้ายรัฐบาลที่ผสมพรรคการเมืองหลากหลายพรรคแบบปัจจุบัน ก็จะทำงานไปบนความไม่แน่นอน

ผู้ยกร่างอาจคิดว่าการทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยากจะส่งผลให้การเมืองมีเสถียรภาพได้ แต่การที่รัฐธรรมนูญมีเสถียรภาพไม่ได้การันตีว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพตามไปด้วย

ในเชิงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ การเมืองมีอยู่สองระดับ ได้แก่ 1.การเมืองระดับรัฐธรรมนูญ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเมืองที่เป็นทางการ คือ การเมืองขององค์กรและสถาบันการเมืองต่างๆ หากจะมีเสถียรภาพ ก็จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรอื่นๆ 2.การเมืองทั่วไป คือ การเมืองภาคประชาชน โดยการเมืองระดับนี้จะมีเสถียรภาพได้ต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน

จากหลักการที่กล่าวมาสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลชุดนี้มีเสถียรภาพหรือไม่ จริงอยู่แม้การเมืองในระดับรัฐธรรมนูญ จะกล่าวว่ารัฐบาลถูกจัดว่ามีเสถียรภาพเพราะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรอื่น แต่การกำหนดว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพได้นั้นไม่ได้เกิดจากการเมืองส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องมาจากการเมืองทั้ง 2 ระดับ เมื่อพิจารณาในแง่นี้จะเห็นว่าการเมืองระดับทั่วไปนั้น รัฐบาลประสบกับปัญหาวิกฤตความชอบธรรม ผมจึงมองว่า “เสถียรภาพรัฐบาลมีปัญหาอย่างมากเพราะเป็นผลมาจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองระดับทั่วไป”

อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นทางด้านการเมืองแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ปัญหาเรื่องโควิดที่เพิ่งกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สั่นคลอนท้าทายเสถียรภาพของรัฐบาลเช่นเดียวกัน

มีงานวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นตรงกันว่า โควิดมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพราะมันสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลจะต้องรับมือและแก้ไข งานวิจัยพูดถึงขนาดว่า ด้วยปัญหาเรื่องโควิดเองยิ่งเป็นปัจจัยในกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น คงต้องรอดูถึงมาตรการของรัฐบาลในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิดในครั้งนี้ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

บนพื้นฐานที่รัฐบาลเองต้องให้ความสำคัญพอๆ กันระหว่างเรื่องทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข ภายหลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงเพราะโควิดที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image