วันนี้ได้ข้อสรุป ปม ‘เทกอะเวย์’ ร้านอาหารกทม. ศบค.แจงไม่ล็อกดาวน์ เหตุกระทบศก.

วันนี้ได้ข้อสรุป ปม ‘เทกอะเวย์’ ร้านอาหารกทม. ศบค.แจงไม่ล็อกดาวน์ เหตุกระทบศก.

‘บิ๊กตู่’ หัวโต๊ะศบค.ชุดใหญ่ กทม. เคลียร์ปม ‘เทกอะเวย์’

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตึกสันติไมตรี(หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้(4 ม.ค.) เวลา 14.30 น. คาดว่าเป็นการพิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดในวงกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ล่าสุดวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุ 315 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้ศบค.พิจารณาจำกัดพื้นที่ 28 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง พร้อมยกระดับมาตรการ อาทิ การจำกัดเวลาเปิดปิดสถานประกอบการ และปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ,การขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นกรณีจำเป็น และให้สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอน เป็นต้น โดยให้นายกฯ และที่ประชุมศบค.พิจารณาในที่ประชุม

ขณะที่ กรุงเทพมหานครได้ประกาศย้ำถึงการประกาศมาตรการ เทกอะเวย์ (Take away) หรือการซื้อกลับบ้านของร้านอาหาร โดยวันนี้ (4 ธ.ค.) คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.จะประชุมเพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ถึงความเหมาะสม

ศบค.แจงพื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่ล็อกดาวน์เหตุกระทบศก.

เมื่อวันที่ 4 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มค.ว่า แผนที่ประเทศไทยตอนนี้คงที่อยู่ 53 จังหวัด แต่คำว่าคงที่คือ ในแต่ละจังหวัดที่ประกาศออกมาขยับจากสีส้มเป็นสีแดง สีเหลืองเป็นสีส้ม เช่น จันทบุรี อ่างทอง สระแก้ว โดยตารางจำแนกการพบผู้ป่วยในแต่ละจังหวัด หากเป็นสีแดงทั้งกระดานก็จะไม่ดีแน่ ส่วนร่างประกาศ ศบค.ฉบับที่ 16 นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เพื่อลงนามในประกาศ ขณะนี้ยังเป็นร่าง หลังจากศบค.ชุดเล็ก ร่วมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ได้ทบทวนมาตรการต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง และนำมาพูดคุยในที่ประชุมช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการที่จะออกมา มาตรการเหล่านี้จะดูจากเหตุการณ์และข้อมูลที่มี สิ่งที่เข้าใจคือจังหวัดต่างๆ แตกต่างกันไป จึงมีการปรับแก้ไขบ้าง เพื่อนำเสนอให้ ผอ.ศบค.พิจารณา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงใน 8 ข้อ และขอเกริ่นนำร่างประกาศ ดังนี้ 1.ห้ามใช้อาคารสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ยังเน้นย้ำว่าใช้ควบคุมพื้นที่สีแดง คาดว่าจะประกาศออกมาใน 28 จังหวัด เป็นพื้นที่พบผู้ป่วยจริงและรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เป็นป้องกันไม่ให้คนจากพื้นที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก แล้วเดินทางไปในพื้นที่อื่นใกล้เคียงที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า เช่น หากให้ประจวบคีรีขันธ์ เป็นสีขาวคนจากเพชรบุรี ก็จะวิ่งมาที่ประจวบคีรีขันธ์เพื่อมาซื้อข้าวของ หรือมาเข้าสถานบันเทิงอีกในจังหวัด ในภาคประชาชนเข้าใจได้ยากแต่ในภาคปฏิบัติต้องทำให้ง่าย ดังนั้น การประกาศสีแดงต้องครอบคลุมจังหวัดที่เป็นบัฟเฟอร์ (Buffer) คือ จังหวัดใกล้เคียงด้วย

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.ห้ามจัดกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง แจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีหลายคนถามว่า การจัดงานแต่งที่คนไม่เยอะ มีการแจกการ์ดไปแล้ว ตรงนี้เปิดช่องเอาไว้คือสามารถขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัด แต่ต้องมีมาตรการสาธารณสุขรองรับ โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กทม. โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยดำเนินการที่เข้มข้นกว่ามาตรการหลักได้แต่อ่อนกว่าไม่ได้

“3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งปิดสถานที่ได้ 4.เงื่อนไขการเปิดดำเนินการเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่อไปนี้เปิดภายใต้เงื่อนไข เวลา และการจัดระบบระเบียบที่กำหนด (1) การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มให้จัดระเบียบเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยใน ศบค.มท. และ ศบค.สธ. ร่วมกันพิจการกำหนดรูปแบบและกำกับให้เหมาะสม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาตามเหมาะสมว่าให้นำกลับหรือนั่งรับประทานที่ร้านได้ (2) การจำหน่ายสุราในร้านอาหาร ห้ามบริโภคในร้าน” โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้ายังเปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งปิดหรือเปิดสถานที่ตามความเหมาะสม ขณะที่ยังไม่มีการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ต้องตรวจคัดกรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศปก.ศบค. กำหนดและไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินกว่าเหตุ อย่างไรก็ตาม ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ เว้นแต่ความจำเป็น

“สรุปคือ ขอความร่วมมือ แต่ไม่งดการเดินทาง หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ ยังสามารถทำงานได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวด อาจมีความไม่สะดวก เช่น ตั้งด่านบ่อยขึ้น เพื่อคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่สีแดงหรืออย่างไร จะได้ดูว่ามีความจำเป็นจริงๆ อาจมีด่านเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ว่าเพราะต้องคัดกรอง คนที่ไม่จำเป็นอย่าเดินทาง รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) สลับวันและเหลื่อมเวลาทำงานให้ทำอย่างเต็มที่” นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า ทั้งนี้ ให้พิจารณาผ่อนคลายหรือบังคับใช้มาตรการป้องงกันและยับยั้ง เสนอต่อนายกฯเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยมาตรการในฉบับนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรขึ้นอยู่กับการอำนาจของ ผอ.ศบค. และจะออกในวันที่ 4 ธันวาคม หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลของการไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์รวมถึงรัฐบาลมีมาตรการเยียวยา ชดเชยหลังจากปิดกิจการต่างๆ อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีคำตอบอยู่ในคำถาม เมื่อใดก็ตามที่ ศบค.ต้องประกาศว่าเป็นการล็อกดาวน์ หมายถึงว่าคำสั่งนี้จะทำให้กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ กระทบต่อการหารายได้ของทุกคน ต้องมีการเยียวยาซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินของทั้งประเทศ ในตอนนี้เราเผชิญอยู่ในการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยเราเอง การใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย ต้องเป็นภาพที่ทำให้ทุกคนต้องลำบากกันทั้งหมด ฉะนั้น ถ้าตอนนี้เราสามารถกระจายความรับผิดชอบร่วมมือกันไปได้ ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากทำมาหากินอยู่ในชีวิตประจำวันที่เราเคยทำกันมา แต่ต้องเป็นรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ต้องปฏิบัติ และในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมาก

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าให้งดเที่ยวบินแล้วจะทำให้ลดโรคได้ งดการขายอาหารแล้วจะลดโรคได้ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นประกอบกันหลายส่วน หากจังหวัดที่ควบคุมโรคได้ดี ยกตัวอย่าง จ.นครปฐม เมื่อพบระบาดก็มีการสอบสวนโรควงแรก มีคนติดหลักสิบคนและรีบสอบสวนโรค ทำให้พบผู้สัมผัสวงที่ 2 และนำไปสู่วงที่ 3 ภายในเวลาไม่เท่าไรก็ลดการติดต่อโรคไปหลายขั้นได้ ดังนั้น แต่ละจังหวัดมีภาพแตกต่างกัน ฉะนั้น การใช้ยาแรงจัดการทั้งประเทศ หลักการข้อนี้ลดท่อนความสำคัญไป และเราได้บทเรียนจากครั้งที่แล้ว คนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชน ที่ต้องถูกจำกัดบริเวณ จำกัดเวลาและพื้นที่

สธ.สั่งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทั่วปท. คลินิกโรคไข้หวัดหาเชื้อตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 มค.ว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้มีข้อเสนอไปยัง ศบค. พร้อมการยืนยันด้วยเหตุผลให้ร้านอาหารเปิด แต่เป็นการซื้ออาหารกลับบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ได้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว โดยปลัด สธ.ได้สั่งการไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ประชุมทุกวันร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมโรงพยาบาล (รพ.) สนาม ให้พร้อมโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงและส้ม เปิดคลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจหาเชื้อทุกรายที่มีประวัติเสี่ยง เช่น มีประวัติสัมผัสแรงงานต่างด้าว ไปบ่อนการพนัน พร้อมทั้งเตรียมทรัพยากรและบุคลากรใน รพ.ให้พอสำหรับอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เฝ้าระวังตรวจตราคัดกรอง ผู้เดินทางจากต่างพื้นที่เข้าชุมชน เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว พยายามไม่ให้คนนอกพื้นที่มาพบปะมากนัก พร้อมช่วยสอดส่องดูแลสถานกักกันโรคด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image