‘โรม’ หนุนรัฐสภาต้องเดินหน้าถกแก้ รธน.ต่อ ชี้ มีวิธีประชุมลดสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดได้

‘โรม’ จี้ รัฐสภาต้องเดินหน้าถกแก้ รธน.ต่อ แนะหาวิธีประชุมลดสุ่งเสี่ยงต่อการระบาดได้

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเรื่องการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในไทยพุ่งสูง โดยระบุว่า ควรดำเนินการต่อ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด

การประชุม กมธ. แก้รัฐธรรมนูญต้องดำเนินต่อไป ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

เมื่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รอบที่สองเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา คำถามที่เกิดขึ้นทันทีในแวดวงของสมาชิกรัฐสภา คือ แล้วการประชุมสภาจะยังดำเนินต่อไปหรือไม่? ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มมีสมาชิกบางท่านออกมาแสดงความเห็นในทางที่จะให้งดการประชุมกันแล้ว

Advertisement

ผมว่าก่อนที่เราจะด่วนสรุปว่าเมื่อการระบาดเกิดขึ้นแล้วเท่ากับประชุมสภาไม่ได้ไปโดยปริยาย เรามาลองคิดหามาตรการรองรับ เพื่อให้การทำงานของสภายังเป็นไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนดีกว่าไหม

เราต้องไม่ลืมว่าประเทศเรานั้นมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่าย และไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากเราปล่อยให้รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารใช้อำนาจอยู่ฝ่ายเดียวโดยที่ฝ่ายอื่น “พักงาน” ในการตรวจสอบถ่วงดุล (และถ้าหากฝ่ายตุลาการอย่างศาลต่างๆ ก็ยังต้องทำงานพิจารณาคดีต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภาจะว่างเว้นหน้าที่อยู่ฝ่ายเดียว)

งานสภาไม่ใช่งานเล่นๆ ที่เมื่อรัฐบาลปล่อยปละละเลยให้สถานการณ์บานปลายแล้วจะมาบีบให้สภาต้องหยุดงานตัวเองตามอยู่ร่ำไป และสมาชิกรัฐสภาเองก็ไม่ควรถูกปล่อยให้กินเงินเดือนหลักแสนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

Advertisement

ประเทศนี้ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องอาศัยอำนาจของสภาเท่านั้นในการแก้ หนึ่งในนั้นคืองานของคณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เคยคุยกันว่าจะให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 มกราคม 2564 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน

หลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนนับแสนคนสู้อุตส่าห์ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เอาตัวเข้าเสี่ยงกับการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และการคุกคามรูปแบบอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วนกว่าที่สภาจะได้ยินเสียงของพวกเขา คณะกรรมาธิการชุดนี้ทั้ง 45 คน ซึ่งรวมถึงผมด้วย จึงมีหน้าที่น้อมนำเจตนารมณ์และความคาดหวังของพี่น้องประชาชน ทั้งที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องนับแสนคน และที่เห็นพ้องต้องกันอยู่เบื้องหลังอีกนับล้านคน ในการบรรลุภารกิจนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ทุกๆ วันล้วนมีค่า เพราะหนึ่งวันที่งานส่วนนี้ต้องเนิ่นช้าออกไป ก็เท่ากับหนึ่งวันที่พี่น้องประชาชนจะต้องรับผลร้ายจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไปเรื่อยๆ

ดังนั้นผมขอฝากไปยังเพื่อนสมาชิก มาช่วยกันคิดวิธีการทำงานของพวกเรากันเถิดครับ หากเรามีปัญญาสร้างอาคารสภาที่ใหญ่โตถึงเพียงนี้ได้ แล้วเราจะไม่มีปัญญาหาทางประชุมแบบที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการระบาดได้เชียวหรือ

อย่าเพิ่งปิดทางเลือกของพวกท่าน เพราะนั่นหมายถึงการปิดทางออกของประชาชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image