‘เอกชัย’ ชวนร้อง ‘อียู’ ประจำประเทศไทย อายัดทรัพย์สินผู้ข้องเกี่ยว ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ 6 ม.ค.

‘เอกชัย’ ชวนร้อง ‘สถานทูต EU’ อายัดทรัพย์สินผู้ข้องเกี่ยว ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ 6 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “เอกชัย หงส์กังวาน” โดยระบุว่า วันพรุ่งนี้ (6 ม.ค.2564) เวลา 10.00 น. ผมจะเดินทางไปที่สถานทูต EU (European Union Delegation) ซึ่งอยู่ชั้น 10 ของ Athenee Tower (ถนนวิทยุ) เพื่อเรียกร้องให้ EU อายัดทรัพย์สินผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

1.EU มีกฎหมายใดที่ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน?

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ EU ออกระเบียบว่าด้วยมาตรการที่เข้มงวดเพื่อต่อต้านการกระทำความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง (concerning restrictive measures against serious human rights violations and abuses) โดยอาศัยอำนาจตามสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป (Treaty on the Functioning of the European Union) มาตรา 215 ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้กับประเทศที่เป็นสมาชิก EU จำนวน 27 ประเทศ เพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ไม่แน่ใจสหราชอาณาจักรที่เพิ่งออกจาก EU ในปลายปีที่ผ่านมาจะมีผลบังคับใช้ด้วยหรือไม่)

Advertisement

2.การกระทำใดที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามระเบียบนี้?

ระเบียบนี้ มาตรา 2 กำหนดให้การบังคับสูญหาย (enforced disappearance of persons), การจับกุม/คุมขังบุคคลโดยพลการ (arbitrary arrests or detentions), การกระทำรุนแรงต่อเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ (violations or abuses of freedom of peaceful assembly and of association) และการกระทำรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น (violations or abuses of freedom of opinion and expression) ถือเป็นการละเมิดต่อระเบียบนี้

โดยนายเอกชัยได้แจกแจงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามลำดับ ดังนี้

Advertisement

– ช่วงปี พ.ศ.2557-2562 คสช.อาศัยอำนาจ ม.44 ในการอุ้ม/ปรับทัศนคติประชาชน รวมถึงการสูญหายของผู้หลบภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีหลักฐานเกี่ยวโยงกับ คสช.

– ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติ และการรื้อฟื้น ม.112 เพื่อปิดปากผู้วิจารณ์สถาบันฯ โดยสุจริต
การกระทำเหล่านี้ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามระเบียบนี้

3.EU มีอำนาจใดในการต่อต้านผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน?
ระเบียบนี้ มาตรา 3 ให้อำนาจประเทศสมาชิก EU สามารถอายัดทรัพย์สินของบุคคล/องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในประเทศสมาชิก EU

4.ไทยไม่ใช่สมาชิก EU ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้หรือไม่?

แม้ไทยจะไม่ใช่สมาชิก EU แต่ระเบียบนี้ มาตรา 19 กำหนดให้ประเทศสมาชิก EU มีอำนาจที่จะอายัดทรัพย์สินตามกฎหมายของบุคคล/องค์กรตามนิยามเหล่านี้

– บุคคลที่ถือสัญชาติในประเทศสมาชิก EU (natural person inside or outside the territory of the Union who is a national of a Member State) ดังนั้น ใครที่ถือสัญชาติประเทศสมาชิก EU ย่อมเข้าข่าย

– บุคคล/องค์กรที่จดทะเบียบจัดตั้งตามกฎหมายในประเทศสมาชิก EU (legal person, entity or body, inside or outside the territory of the Union, which is incorporated or constituted under the law of a Member State) ดังนั้น บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิก EU (บริษัทนำเข้า/ส่งออก) หรือดินแดนอาณานิคมของประเทศสมาชิก EU เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ย่อมเข้าข่าย

– บุคคล/องค์กรที่ทำธุรกรรมในประเทศสมาชิก EU (legal person, entity or body in respect of any business done in whole or in part within the Union) ดังนั้น บุคคลที่มีบัญชีเงินฝาก หรือบริษัทที่มีหุ้นจำหน่ายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสมาชิก EU ย่อมเข้าข่าย

5.บุคคล/องค์กรใดที่อาจเข้าข่ายถูกอายัดทรัพย์สินตามระเบียบนี้?

โดยนายเอกชัยระบุว่า
– รัฐไทย : ในฐานะใช้อำนาจรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
– นายกรัฐมนตรี : ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อดำเนินคดีผู้ชุมนุม และการรื้อฟื้น ม.112 เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม
– คณะรัฐมนตรี : ในฐานะผู้อนุมัติการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
– ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ : ในฐานะผู้อนุมัติการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติ
– สำนักงานตำรวจแห่งชาติ : ในฐานะเจ้าของรถฉีดน้ำแรงดันสูง/แก๊สน้ำตา
– ผู้บัญชาการทหารบก : ในฐานะผู้อนุมัติการใช้ยุทธภัณฑ์ทางทหาร เช่น ลวดหนามหีบเพลง
– กองทัพไทย: ในฐานะเจ้าของยุทธภัณฑ์ทางทหาร
– บริษัทเอกชน : กรณีการสลายการชุมนุมที่รัฐสภา (เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) หากปรากฏหลักฐานการใช้พื้นที่ของบริษัทเบียร์ที่อยู่ใกล้รัฐสภาเป็นพื้นที่ซ่องสุมของเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทนี้ย่อมเข้าข่ายในฐานะผู้ให้การสนับสนุน

หากใครสนใจร่วมร้องเรียนการอายัดทรัพย์สินบุคคล/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช./รัฐบาลนี้ สามารถเตรียมหลักฐานเพื่อยื่นต่อสถานทูต EU

ด้าน นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊ก “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” โดยระบุว่า แจ้งสื่อมวลชน ขอเชิญประชาชน นักเคลื่อนไหวที่ถูกรัฐบาลดำเนินคดีจากการชุมนุมร่วมกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยุยงปลุกปั่น ม.112 ฯลฯ ร่วมยื่นจดหมายร้องเรียนต่อ EU ร่วมกับคุณ เอกชัย หงส์กังวาน ที่ชั้น 10 อาคาร Athenee Tower (ถนนวิทยุ) พุธที่ 6 มกราคม เวลา 10.00 น. (ท่านที่จะไปร่วมกรุณานำหลักฐานการถูกดำเนินคดี เช่น หมายเรียกจากตำรวจ ภาพถ่าย คำฟ้อง ถ่ายเอกสาร 1 ชุด ท่านที่จะไปร่วมให้กำลังใจแต่งกายสุภาพใส่หน้ากากอนามัยไปด้วยครับ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวก)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image