คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : New Normal แห่งการเรียกร้องความรับผิดชอบจากภาครัฐ

ข้อเท็จจริงที่วิญญูชนยอมรับร่วมกัน คือการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในรอบนี้ (ที่ไม่ว่าจะเรียกระลอกสองหรือระลอกใหม่ก็แล้วแต่) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากความไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉลทางอำนาจขององคาพยพใหญ่ที่ประกอบรวมกันเป็นภาครัฐ

การพบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่เหมือนการเปิดรอบใหม่ในครั้งนี้มาจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่เชื่อมโยงถึงขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและเฝ้าระวังชายแดนจนปล่อยให้ข้ามพรมแดนผ่านเส้นทางธรรมชาติเข้ามาได้

ส่วนครั้งใหญ่ที่กระจายตัวไปทั่วประเทศนั้น ล่าสุดก็เห็นว่ายอมรับกันว่าติดจากบ่อนการพนันหลายจุดในภาคตะวันออก ที่ตอนแรกเลี่ยงบาลีไปว่าเป็นการลักลอบเล่นการพนันกันในโกดังติดกล้องวงจรปิด ซึ่งหากภาครัฐจะอ้างว่าบ่อนการพนันเป็นเรื่องผิดกฎหมายจึงไม่อาจเข้าไปควบคุมได้แล้วก็เป็นเรื่องตลกร้าย ในเมื่อผู้ติดตามของผู้มาชี้แจงในอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบกาสิโนออนไลน์ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นลูกชายของผู้จัดการบ่อนการพนันใหญ่ในจังหวัดระยองรายหนึ่งที่ติดเชื้อไปกับเขาด้วยนั่นเอง

การมีอยู่ของบ่อนการพนันในท้องที่ต่างๆ นั้นเป็นที่รับรู้และสามารถค้นหาจาก Google Map มันจึงเป็นไปได้หรือว่าหูตาของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามอย่างตำรวจทหารที่อ้างว่าเป็นผู้รักษาความสงบสุขและความมั่นคงของชาติประเทศนั้นจะปล่อยให้มีอยู่โดยไม่รู้ไม่เห็น

Advertisement

เมื่อลองเปรียบเทียบความ “เข้มแข็ง” ของการบังคับใช้กฎหมายจากบ่อนการพนันเหล่านี้กับการจัดการกับผู้ชุมนุมทางการเมืองแล้ว ก็ถึงกับมีผู้พูดติดตลกว่า ถ้าอยากให้เจ้าหน้าที่ไปเจอไปจับบ่อนที่ไหน ก็ให้กลุ่ม WEVO เอากุ้งไปขายหน้าบ่อนนั้นก็แล้วกัน

ซึ่งก็อาจจะเป็นตลกร้ายซ้ำซ้อนให้เจ็บใจว่าเจ้าหน้าที่อาจจะบุกเข้าไปอย่างขึงขังเพื่อจับคนขายกุ้ง แล้วก็ปล่อยให้บ่อนอยู่ต่อไปเช่นนั้น

แต่ผลกรรมแห่งความทุจริตฉ้อฉลนั้นก็ดันมาตกอยู่กับประชาชนผู้ระมัดระวังตั้งการ์ดสูงตามที่รัฐ “โดยเฉพาะโฆษกหน้าตาดีวาจาเชือดเฉือนผู้นั้นกำชับกำชาสั่งสอนมาตลอดหนักหนา หลายคนต้องเสียสละทรัพย์สิน เงินเก็บ โอกาส กิจการ และอาชีพไปแบบไม่อาจกลับคืนได้ เพื่อแลกกับภาวะที่ควบคุมได้และเริ่มจะใช้ชีวิตหรือประกอบธุรกิจได้เกือบเป็นปกติ แต่ขณะที่กำลังเก็บกู้กันอยู่นั้น ฝันร้ายของการแพร่ระบาดก็กลับมาเพราะความฉ้อฉลของกลไกเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่ได้กล่าวไว้ โดยที่รัฐเองก็ไม่ได้เตรียมมาตรการใดๆ เพื่อรองรับการระบาดรอบใหม่หรือใช้ประสบการณ์ในการระบาดครั้งที่ผ่านมาเพื่อการรับมืออะไรเลย

Advertisement

ดังนั้นในรอบนี้ ฝ่ายรัฐผู้ต้องรับผิดชอบนั้นสำคัญตนผิด ออกมาพูดจาใหญ่โตโอหังด้วยท่าทีแบบสอนสั่งอย่างคนที่อยู่เหนือกว่า กล่าวโทษประชาชน หรือเรียกร้องความร่วมมืออย่างไร้เหตุผลโดยไม่สำนึกในความผิดของตัวเอง ซ้ำกลับเล่นลิ้นเลี่ยงคำ แล้วหวังจะให้ประชาชนทำตามโดยไม่หือไม่อือเหมือนในครั้งแรกที่ตอนนั้นสั่งให้ทำอะไรประชาชนก็ทำ ให้ปิดอะไรห้ามออกจากบ้านตอนไหนก็ยอมทำตามอย่างที่เคยในตอนนี้คงจะยากเสียแล้ว แถมอาจจะได้รับการต่อต้านอย่างคาดไม่ถึงก็ได้

โดยเฉพาะการใช้มาตรการที่มุ่งเน้นแต่ประสิทธิผลในการควบคุมโรค ขึงขังระดับว่าจะห้ามเดินทางข้ามจังหวัดและสั่งหยุดกิจการห้ามกิจกรรมโดยไม่สนใจวิถีชีวิต อาชีพ และธุรกิจของผู้คนที่เจ็บกันมาหนักโดยแทบไม่มีใครเหลือทุนรอน โอกาส และกำลังใจอะไรเท่าไรแล้ว ไม่ว่าจะประชาชนทั่วไปหรือภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เว้นแต่ฝ่ายราชการกับเจ้าสัวกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไม่ถึงห้ารายในประเทศ

ถ้าเราจะพูดกันถึงแต่ “ประสิทธิผล” การใช้ยาแรงแบบเจ็บครั้งเดียวจบ มันก็เหมือนการแก้ปัญหาแบบข้อเท้าหักแล้วไปตัดขาข้างนั้นทิ้งนั่นแหละ ใช่ คุณจะไม่ปวดข้อเท้าที่หักนั้นอีกต่อไป แต่จะใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปอย่างไร ดังนั้นจึงไม่มีคนสติดีที่ไหนจะตัดสินใจทำแบบนั้น

โชคร้ายของเราคือพวกเขา – ที่หมายถึงภาครัฐและกองเชียร์นั้นไม่ลืมหูลืมตานี้สามารถสั่งให้เราตัดขาตัดแขนเพื่อแก้ปัญหาได้ เพราะมันไม่ใช่ขาใช่แขนของเขา

ดังนั้นที่ถูกที่ควรแล้วในรอบนี้รัฐ “จำเป็น” จะต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผลยอมรับได้ ซึ่งนั่นคือการกลับไปสู่หลักการทั่วไปในการใช้อำนาจทางปกครองที่ว่าดำเนินมาตรการหรือออกคำสั่งของรัฐนั้น จะต้องอยู่บนหลักการสำคัญสามหลัก คือความมีสัมฤทธิผล ความพอสมควรแก่เหตุ และความเสมอภาค หรือการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ความมีสัมฤทธิผล คือมาตรการและเครื่องมือของรัฐจะต้องสามารถอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีเหตุมีผลที่วิญญูชนคนทั่วไปยอมรับได้ว่าจะสามารถแก้ไขหรือป้องกันปัญหานั้นได้จริง

ความพอสมควรแก่เหตุ คือมาตรการและเครื่องมือของรัฐนั้นแม้จะมีสัมฤทธิผลก็ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นด้วย โดยถ้าเป็นไปได้รัฐต้องเลือกใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบในทางร้ายน้อยที่สุดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
วิธีการแก้ปัญหาใดแม้จะทำแล้วได้ผลจริง แต่จะส่งผลกระทบร้ายแรงหรือก่อความเสียหายระยะยาวต่อประชาชนก็ไม่ควรทำ

ความเสมอภาค หรือการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม คือมาตรการนั้นจะต้องใช้กับบุคคลหรือกรณีที่มีสาระสำคัญเหมือนกันโดยเสมอหน้ากัน หากจะปฏิบัติแตกต่างออกไป ก็ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้โดยชอบว่ากรณีนี้กับกรณีนั้นแตกต่างกันตรงไหน และการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันนั้นสะท้อนถึงความแตกต่างเช่นว่านั้นอย่างไร

ในสภาวะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังจะไม่ไหวกันแล้วนี้ ภาครัฐยิ่งต้องรักษาหลักการสามประการนี้อย่างเข้มงวด และประชาชนเองก็ต้องจับตา ตรวจสอบ และเรียกร้องว่าการที่รัฐจะประกาศมาตรการใดหรือเครื่องมือใดในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส เราก็ต้องติดตามถามทวงให้เคารพในหลักการดังกล่าวนี้เช่นกัน

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเครื่องมือของรัฐที่ทำเสียใหญ่โตแต่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คือระบบ “ไทยชนะ”
ที่ใช้งานอะไรไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ข้อมูลที่เก็บไปเอาไปทำอะไรได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แม้จะมีระบบคำนวณว่าพื้นที่นั้นมีผู้เข้าเต็มพื้นที่แล้วหรือยัง ก็ไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีระบบเตือนผู้จัดการพื้นที่หรือแม้แต่ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ว่าให้ระวังจำกัดจำนวนคนได้แล้ว

เอาง่ายๆ คือหากระบบ “ไทยชนะ” สามารถทำงานได้จริงอย่างมีสัมฤทธิผลจริง การติดตามว่าผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อรายใดเข้าพื้นที่ไหนบ้าง และเตือนไปยังผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงก็น่าจะทำได้อย่างง่ายดาย

ความไม่มีสัมฤทธิผล ขาดการตรวจสอบอย่างจริงจังและสภาพบังคับ ก็ไม่แปลกอะไรที่ในที่สุดทุกคนก็จะทำตามกระบวนการไทยชนะนี้กันแบบพอแก้บน ฝ่ายผู้คัดกรองก็แค่เอาเครื่องวัดอุณหภูมิชี้ไปมาโดยไม่ดูผล ผู้จะเข้าไปใช้บริการยกโทรศัพท์ขึ้นมาทำท่าสแกน QR-Code หรือไม่ก็เขียนไส้เดือนกิ้งกือลงไปในแบบฟอร์มกันไปพอเป็นพิธี

ตัวอย่างของการไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุมากมาย เช่น การปิดกิจการหรือสั่งงดกิจกรรมโดยไม่ผ่อนปรนหรือไม่หาทางออกอื่นที่น่าจะเสียหายน้อยกว่า บางเรื่องก็ลักลั่นและก่อปัญหาอย่างอื่นตามมาให้ประชาชน เช่น การที่โรงเรียนสั่งปิดการเรียนการสอนให้เด็กเรียนอยู่บ้าน แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่บังคับ หรือแม้แต่สนับสนุนส่งเสริมให้คนทำงานแบบ WFH ดังนั้นเรื่องที่จะตามมาก็คือ ในที่สุดพ่อๆ แม่ๆ ที่ยังต้องไปทำงานที่สำนักงานอยู่ ก็ต้องพาลูกที่หยุดเรียนเดินทางไปทำงานด้วยอย่างจำใจ ยิ่งถ้าครอบครัวที่ต้องใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะที่แน่นขนัดก็ไม่ต้องพูดถึง

สำหรับเรื่องความเสมอภาคหรือการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมนั้นก็เห็นตัวอย่างง่ายๆ จากที่ทางการ “ขอความร่วมมือ” ห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่สาธารณะทั้งหลายว่าให้งดจัดงานฉลองเคาต์ดาวน์ปีใหม่ แต่ก็ดันมีอยู่ที่หนึ่งเท่านั้นที่ทำได้ตามวิถีปกติอยู่ที่เดียว หรือที่เริ่มมีผู้ตั้งคำถามแล้วว่า ตลาดหรือตลาดนัดที่อยู่ในพื้นที่เปิดนั้นเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมากกว่าพื้นที่ปิดและอากาศไหลเวียนวนกันอย่างห้างสรรพสินค้าอย่างไร

วิกฤตระลอกสองนี้หนักหนากว่าครั้งแรก เพราะเราแทบไม่เหลือภูมิต้านทานใด ด้วยเจ็บปวดเสียหายกันอย่างหนักมาก่อนหน้านี้ มาตรการอะไรที่เคยทำให้บาดเจ็บกลืนเลือดกันไปเมื่อต้นปีก่อน ในรอบนี้แม้จะใช้มาตรการอย่างเดียวกันทุกอย่าง แต่ความเสียหายก็จะร้ายแรงกว่าแน่นอน

สิ่งที่เราจะต้องตั้งหลักไว้ให้มั่นคง คือ เราไม่จำเป็นจะต้องยอมรับมาตรการเข้มงวดไร้เหตุผล หรือวิถีทางที่สุดแต่ผู้มีอำนาจใน ศบค. จะกำหนด แต่ก็ไม่ใช่การ Play down ปล่อยปละละเลยราวกับโรคนี้ไม่มีจริง หรือไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ต้องกลัวอะไรขนาดนั้น เราสามารถที่จะรับมือกับวิกฤต COVID-19 ได้ โดยลดความสะดวกสบายเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่คุ้นเคยบ้าง โดยยังรักษาสาระสำคัญของการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ ทำกิจการและกิจกรรมได้

หากเรามีมาตรการที่กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึง “ประชาชน” เป็นสำคัญ มาตรการที่ประกอบไปด้วยหลักการสามประการเพื่อให้ล่วงลุภารกิจได้โดยประชาชนเสียหายน้อยที่สุด

เราจึงไม่ควรยอมให้ภาครัฐประกาศสั่งปิดกิจการหรืองดกิจกรรมเป็นหางว่าว โดยเลือกจิ้มเอาเองว่ากิจการนี้กิจการนั้นเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส โดยไม่อาจอธิบายได้ว่าเพราะอะไรและมีความจำเป็นแค่ไหน สั่งห้ามคนเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่แยกแยะ แต่เราต้องเรียกร้องให้เขาต้องอธิบายเหตุผลและความจำเป็นได้ทุกข้อ รวมถึงการต้องมีตัวเลือกหนักเบาที่จะให้กิจการหรือกิจกรรมนั้นปรับเปลี่ยนอะไรตรงไหนไม่ให้ถึงกับต้องปิดไปเลยทั้งหมดได้หรือไม่ สำคัญที่สุด คือต้องอธิบายให้ได้ว่ากิจการหรือกิจกรรมที่ต้องถูกปิดถูกห้ามนั้นแตกต่างจากกิจการและกิจกรรมที่อนุญาตให้เปิดได้ทำได้อย่างไร

ประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหลายควรจะต้องลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้งภาครัฐบ้าง เพราะพิสูจน์แล้วว่าการปล่อยให้เขากำหนดหรือดำเนินมาตรการนี่นั่นเองแล้ว ในที่สุดมันก็ไม่สามารถป้องกันเราได้ ทั้งจากโรคภัยไวรัส และการล่มสลายของธุรกิจ

ซึ่งถ้าในที่สุด สามารถที่จะช่วยกันบีบคอให้รัฐต้องกำหนดมาตรการหรือใช้เครื่องมือที่สามารถป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างแท้จริง เท่าที่จำเป็น และไม่มีการเลือกปฏิบัติแล้ว จากนั้นพวกเรา ประชาชนทั้งหลายก็ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการหรือใช้เครื่องมือนั้นๆ อย่างเคร่งครัดเข้มงวด เพื่อผ่านปัญหาวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

เราร่วมมือกันโดยยังไม่ต้องหาผิดชี้โทษกันเพื่อจะได้ผ่านวิกฤต COVID-19 ไปให้ได้ แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับการปล่อยให้ผู้ที่มีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้สถานการณ์นี้เลวร้ายเกินกว่าที่ควรจะเป็น ลอยนวลอย่างปลอดพ้นจากความรับผิดใดทั้งปวง

เรายังไม่ชำระความกันในภาวะวิกฤตนี้ก็จริง แต่ก็อย่าตัดสิทธิที่จะทำเช่นนั้นในอนาคต เมื่อเราผ่าน
เรื่องนี้ร่วมกันไปได้แล้ว

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image