44 ปี มติชน ประเทศไทยไปต่อ : ษัษฐรัมย์ ชูรัฐสวัสดิการขจัดความเหลื่อมล้ำประเทศ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
ชูรัฐสวัสดิการขจัดความเหลื่อมล้ำประเทศ

หมายเหตุผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงทิศทางประเทศไทยในปี 2564 รวมทั้งแนวทางการขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ

⦁ในปี 2564 เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ถ้าผมเป็นรัฐบาลสิ่งที่จะกังวลคือ คนรุ่นใหม่หรือขบวนการภาคประชาชนไม่ได้เอาตัวเองไปน้อมรับกับความคิดการอยู่เป็น ถ้าคิดถึงคนยุคเบบี้บูมเมอร์ คนที่เกิดปี 2490-2510 คนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับความอยู่เป็น คือระบบมีความเป็นเผด็จการและระบบราชการ ส่วนคนเจนเอ็กซ์ และคนเจนวาย จะเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้ชอบระบบที่เป็นอยู่ แต่สามารถทน และยอมลำบากได้ เพื่อที่ตัวเองจะสามารถอยู่ในระบบและมีความสุขกับมันได้ แต่คนเจนแซด หรือคนอายุ 15-20 ปี รู้สึกว่าต่อให้รักดีแค่ไหน คงไม่มีความสุขกับระบบที่เป็นอยู่

Advertisement

ผมจึงคิดว่านี่จะกลายเป็นปัญหาเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกว่าระบบที่เป็นอยู่และที่จะเป็นต่อไป จะเป็นมิตรกับเขา การตั้งคำถามจึงไม่หยุดอยู่แค่นี้ คือ ไม่ได้หยุดแค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนหนึ่งคน หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในฐานะคนหนึ่งคน แต่การตั้งคำถามคือ โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทั้งระบบ ฉะนั้น ความรุนแรงของการตั้งคำถามของความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นแน่นอน ส่วนรัฐบาลจะคงเสถียรภาพไว้ได้มากน้อยแค่ไหน วิเคราะห์ลำบาก เพราะมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

⦁หากบริหารจัดการให้ไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ จะยุติความขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุมได้หรือไม่

ประเด็นที่ต้องย้ำคือรัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะรัฐสวัสดิการ คือ วิธีการมอง คุณมองคนเท่ากันหรือไม่ ถ้ามองคนไม่เท่ากันวิธีการจัดสวัสดิการก็จะเป็นแบบคนรวยให้คนจน คนดีให้คนที่ด้อยกว่า เหมือนระบบข้าราชการไทย แต่ถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตย จะมองสวัสดิการเป็นสิทธิถ้วนหน้าและสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่ตลอดระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานมาคงไม่สร้างรัฐสวัสดิการแน่นอน ถ้าจะสร้างก็คงเป็นในรูปแบบการสงเคราะห์ซึ่งเป็นฐานความคิดสำคัญของรัฐบาลไทยมาช้านาน ทั้งเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือนโยบายคนละครึ่ง เป็นสิ่งที่คิดว่าถ้าให้มากไปคนจะขี้เกียจ และคนยังต้องพิสูจน์สิทธิ

Advertisement

⦁หากไทยเป็นรัฐสวัสดิการ ปัญหาความขัดแย้งจะลดลงหรือไม่

ผมคิดว่า ถ้าผมเป็นชนชั้นนำสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือการรับ 3 ข้อเสนอ บวกรัฐสวัสดิการเข้าไป เพราะขบวนการคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้แค่เรียกร้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศ แต่ตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมอื่นๆ ด้วย รัฐสวัสดิการจะเป็นยาเม็ดแรกในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างระหว่างวัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่วิ่งตามความฝันได้ แต่รัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นเรื่องพื้นฐานแค่การกินอยู่ แต่หมายรวมถึงสิทธิการเสพสื่อและวัฒนธรรมที่มีเสรี หรือสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ด้วย จึงไม่สามารถเกิดขึ้นในรัฐเผด็จการ ฉะนั้น ผมคิดว่าหากอยากจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ต้องมองเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย

⦁เงินงบประมาณในแต่ละปี สามารถบริหารจัดการให้ไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการได้หรือไม่

วิธีการคิดเรื่องรัฐสวัสดิการของเรายังเป็นการคิดเพื่อการสงเคราะห์ คือต้องพิสูจน์ว่าจน ถึงจะได้ เมื่อเป็นสวัสดิการให้คนจน คุณภาพเลยห่วยและแย่ แต่ถ้าขยับใหม่ให้เป็นสิทธิถ้วนหน้า ที่ทุกคนได้รับสวัสดิการอย่างมีคุณภาพเหมือนกัน ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนเสียชีวิต ต้องใช้งบประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

หากมีการจัดงบมาเพื่อสวัสดิการถ้วนหน้าก่อน จึงเป็นการจัดลำดับความสำคัญใหม่ คือการจัดบาทแรกถึงบาทสุดท้ายให้ประชาชนก่อน เหลือแล้วค่อยไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นรัฐเผด็จการ บาทแรกถึงบาทสุดท้าย จะนำไปสร้างความมั่นคงแก่กลไกต่างๆ ของราชการ ที่เหลือค่อยให้ประชาชน

ปัจจุบันมีคนที่อยู่ในระบบอุดมศึกษากว่า 2 ล้านคน ทั้งรัฐและเอกชน ถ้าอยากให้เรียนฟรี รวมค่าเทอมและค่ากินเดือนละ 3,000 บาท เทียบเท่าที่ กยศ.ให้ ต้องใช้งบปีละ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ของงบประจำปี สิ่งนี้จะเป็นการเปลี่ยนประเทศขนานใหม่ หรือการอัพเกรดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีขึ้น เทียบเท่าที่ข้าราชการได้ อาจจะต้องใช้งบประมาณรายหัวประมาณ 8,000 บาทต่อคนต่อปี ต้องใช้งบปีละกว่าแสนล้านบาท ในแง่เศรษฐศาสตร์มหภาคก็มีความเป็นไปได้ ฉะนั้นอาจจะต้องหารือเพื่อจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณใหม่ หรือการจัดเก็บภาษีใหม่

ส่วนงบประมาณจำนวนมากที่ลงไปกับระบบข้าราชการ ที่ได้รับเยอะกว่าประชาชนทั่วไปมาก โดยได้รับเงินบำนาญจนเสียชีวิตเฉลี่ย 24,000 บาทต่อเดือน นายพลอาจจะได้เดือนละ 70,000-80,000 บาท เวลาพูดถึงเรื่องการปรับเงินส่วนนี้ พวกนายพลจะไปหลบอยู่หลังทหารเกณฑ์ที่บอกว่าต้องไปรบเพื่อชาติ แต่นายพลได้ไปรบตอนไหน จึงต้องให้ประชาชนนำเงินมาเลี้ยงดู ผมเชื่อว่าถ้าปรับเงื่อนไขรัฐสวัสดิการในภาพใหญ่ สำหรับประชาชนทุกคน ถ้าระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าเกิดขึ้น
ผมคิดว่าในระยะยาวจะเป็นแรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบราชการน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายในระบบราชการก็จะ
ลดลง อย่างไรก็ตาม ก็ต้องใช้ระยะเวลากว่าที่จะเห็นดอกผล

⦁ในช่วงประมาณปี 2570 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดใหม่ก็ลดลง รัฐบาลจะต้องเตรียมตัว
รับมืออย่างไร และรัฐสวัสดิการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วนหรือไม่

วิธีการแก้ไขสังคมผู้สูงอายุของรัฐบาลไทยที่มีตลอดคือ การส่งเสริมการออม และให้ทำงานเพิ่ม ผมคิดว่าใช้ไม่ได้ เพราะความจนของผู้สูงอายุไม่ได้จนเพราะว่าไม่มีวินัยทางการเงิน คือตลอดทางของชีวิตต้องเงินหมดไปกับการส่งลูกเรียน การรักษาพยาบาลของพ่อแม่ พออายุ 60 ปี ไม่มีเงินเก็บ ต้องฝากชีวิตไว้กับลูก แต่ประเทศเดนมาร์กไม่มีปัญหานี้ เพราะมีบำนาญผู้สูงอายุ พอพ่อแม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ลูกสามารถวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ ความกดดันระหว่างคนแก่กับคนรุ่นใหม่จะไม่เยอะ ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่รู้สึกว่าลูกเป็นภาระ ผมจึงเชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาทั้งความมั่นคงของผู้สูงอายุ จะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องพยายามเข้าสู่ระบบราชการ เพื่อได้รับสวัสดิการมาดูแลพ่อแม่

⦁มีด้านลบของการเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่

ผมคิดว่าการเป็นรัฐสวัสดิการจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ด้านจารีต และค่านิยมหลายอย่าง เช่น อาจจะเป็นสังคมที่กตัญญูน้อยลง และอาจจะรักพ่อแม่ในอีกแบบหนึ่ง ไม่ต้องซื้อทองกลับไปให้แม่ช่วงปีใหม่ อาจจะเปลี่ยนเป็นไปพบและกินข้าวกัน โดยที่ไม่ต้องทำให้พ่อแม่ไปอวดว่าลูกตัวเองทำงานบริษัทใหญ่ ผมคิดว่าอาจจะดีต่อความสัมพันธ์มากขึ้น เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่น ไม่แข็งตัวเกินไป ปัจจุบันเราเลือกไม่ได้เพราะต้องมีความรักแบบเดียวกับพ่อแม่ คือความรักแบบกตัญญู ถวายชีวิตกลับคืน แต่ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการสามารถเลือกได้หลายแบบ ส่วนเรื่องความรัก ยกตัวอย่าง เดนมาร์ก ที่มีอัตราการหย่าร้างสูง แต่มีความรุนแรงในครอบครัวน้อย คนไทยอาจจะไม่ชอบที่พ่อแม่ไม่อดทนอยู่เพื่อลูก กลับกันเมื่อไม่ได้รักกัน แล้วต้องทนอยู่เพื่อลูก ผมก็คิดว่าไม่ยุติธรรม มองด้วยสายตาคนไทยก็คงเป็นข้อเสียที่จะมีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น

ส่วนอย่างอื่น ผมคิดว่าเป็นมายาคติ เช่น การทำให้คนขี้เกียจงอมืองอเท้าไม่ทำงาน แต่ผมถามว่า หากให้ทุกคนเรียนมหาวิทยาลัยฟรีทั้งหมด พ่อแม่ก็คงไม่หยุดทำงาน แม่ที่เป็นพนักงานบัญชีอาจจะไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองชอบ แต่ที่มาทำงานนี้เพราะต้องการเงินจำนวนมากมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก จึงไม่มีใครขี้เกียจ ทั้งนี้ งบประมาณด้านสวัสดิการทุกที่ทั่วโลกส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่เด็ก คนแก่ และคนป่วย ส่วนที่ไปอยู่กับคนหนุ่มสาวที่ว่างงานถือว่าน้อยมาก

นอกจากนี้ มายาคติชุดใหญ่ ที่บอกว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนฆ่าตัวตาย ความจริงแล้วเป็นงานวิจัยของนักสังคมวิทยา ชาวอเมริกัน เมื่อทศวรรษ 1960 ที่พยายามบอกว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการมีความคิดแบบสังคม
นิยมอ่อนๆ คนจึงขาดแรงจูงใจในชีวิต และเลือกฆ่าตัวตาย จากข้อเท็จจริงประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ อาจจะมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง เมื่อเทียบกับการตายประเภทอื่น แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ค่อนไปทางทุนนิยม สวัสดิการผูกติดอยู่กับที่ทำงาน อัตราการฆ่าตัวตายจึงสูงกว่าประเทศรัฐสวัสดิการ

⦁ประเทศไทยควรเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่

ผมคิดว่าควรและต้องเป็น ไม่ใช่แค่สำหรับประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่สำคัญสำหรับกลุ่มชนชั้นนำด้วย หากต้องการให้กลไกรัฐสภาทำงานต่อไปได้ และต้องการทำให้กลไกฝ่ายบริหารเป็นที่ยอมรับ รัฐสวัสดิการจะเป็นบันไดเชื่อมคนทุกชนชั้นไว้ด้วยกัน ไม่ให้คนถูกทำลายศักดิ์ศรี และไม่ทำให้คนสูญสียความมั่นคงในชีวิตต่างๆ

ช่วงนี้เราจะเห็นกระแสสังคมนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น สิ่งที่ผมอยากย้ำกับรุ่นก่อนคือ ไม่ว่าคุณจะรู้จักสังคมนิยมในรูปแบบไหน อาจจะล้มเหลว หรือกลายเป็นเผด็จการ แต่ผมอยากเรียกร้องให้ทำความเข้าใจ แนวคิดสังคมนิยมที่คนรุ่นใหม่เขาพยายามจะนำเสนอ เพราะหัวใจใหญ่ของแนวคิดนี้ คือ พวกเขาไม่ประนีประนอมกับความเหลื่อมล้ำ และอยากจะบอกต่อชนชั้นนำว่า ในปี 2564 ยังทันที่จะปรับข้อเสนอต่างๆ รวมถึงการใช้รัฐสวัสดิการ เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าช้ากว่านี้ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารัฐสวัสดิการจะเพียงพอที่จะลดทอนความไม่พอใจของประชาชนได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image