คนใช้รถเมล์ โวย “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ฉบับใหม่ ล่าช้า หลัง เลขาฯ ครม. ตีกลับวนเรื่องไป “สภาพัฒน์ ฯ”

คนใช้รถเมล์ โวย “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ฉบับใหม่ ล่าช้า หลัง เลขาฯ ครม. ตีกลับวนเรื่องไป “สภาพัฒน์ ฯ” พ้อ “คนที่มีอำนาจไม่ได้ใช้บริการรถเมล์ เหมือนอย่างคนทั่วไปที่เดือดร้อน จึงเอาไว้ทีหลังหรืออย่างไร?” แนะต้องเปิดเผยให้ชัดเจนว่าจะพิจารณารายละเอียดเรื่องอะไรอีก

ภายหลังจากที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่อง แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) กลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ไปหารือกับ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ในรายละเอียดอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความล่าช้าจากแผนงาน ประชาชนไม่ได้ใช้บริการรถเมล์รูปแบบใหม่ นั้น

นางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ใช้รถเมล์

นางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ใช้รถเมล์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ถ้ามองในมุมของประชาชน ก็คล้ายกับหลายนโยบายที่ผ่านมา เข้าใจว่าเพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อาจจะต้องคิดมาก ใช้เวลานานในการดำเนินการ และไม่เร่งด่วน นั่นอาจเพราะว่าไม่ได้เกิดความเดือดร้อนโดยตรงต่อผู้พิจารณา

“คนที่มีอำนาจไม่ได้ใช้บริการรถเมล์ เหมือนอย่างคนทั่วไปที่เดือดร้อน เพราะฉะนั้นเขาก็คิดว่าเรื่องนี้ไว้ทีหลังได้ นำกลับไปคิดกันใหม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นเรื่องของเขาเอง หรือเป็นเรื่องที่เขาเดือดร้อน เป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับเขา เขาก็จะคิดเป็นอันดับแรก ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน ถ้ามองปัญหาของประชาชนเป็นหลักก็จะต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อย ทำให้เราต้องมาใช้รถสาธารณะ ซึ่งในวันที่ได้เข้าประชุมประชาพิจารณ์ ดิฉันเห็นด้วยเลยว่าประโยชน์สูงสุดเลยก็คือประชาชนที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่าย และเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนที่โดยสาร หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ขสมก. เองคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น ตอนนนี้ดูเหมือนไม่มีใครไม่ได้มองประโยชน์จากตรงนี้ ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากล้วนๆ” นางสาวปนัดดา กล่าว

ขณะที่นายอาทิตย์ ฤทธิณรงค์ นิติกรชำนาญการ กองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดที่แผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวต้องกลับไปที่สภาพัฒน์อีกครั้ง แต่ในฐานะคนใช้รถสาธารณะ ก็อยากจะให้มีความชัดเจนว่า โครงการรถเมล์ไร้มลพิษ ค่าโดยสารเหมาจ่ายวันละไม่เกิน 30 บาท มีความชัดเจนแค่ไหน อยากให้ออกมาเป็นรูปธรรม ว่าประชาชนจะได้ใช้ อยากให้มีความชัดเจนว่าจะทำแน่ๆ ใช่หรือไม่

Advertisement

“ผมคิดว่าการที่ต้องกลับไปที่สภาพัฒน์ฯ อีกครั้ง อาจจะเป็นปัญหาด้านการจัดการ เช่นว่ามีปัญหาเรื่องการชาร์จ เพราะรถเมล์เป็นพันคัน การชาร์จจะใช้เวลานานมาก รวมไปถึงอาจจะมีประเด็นเกี่ยวกับการสร้างสถานีชาร์จหรือไม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการต้องลงทุนเพิ่ม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็อยากให้มีข้อสรุปออกมาโดยเร็ว ควรมีความชัดเจนว่าผลสรุปเร็วที่สุดได้เมื่อไหร่ ประชาชนจะได้ทราบว่าจะได้ใช้หรือเปล่า อยากให้มีความชัดเจนกับประชาชนว่าโครงการติดขัดอะไรตรงไหนให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ จะได้รู้ว่าที่ต้องเลื่อนเพราะอะไร ตอนนี้ไปถึงขั้นไหนแล้ว มีปัญหาอะไร แก้ไขกันในขั้นตอนไหนแล้ว จะใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ประชาชนจะได้ทราบและรอได้ ไม่ใช่จู่ๆ ก็เงียบหายไป เชื่อว่าตอนนี้ประชาชนจำนวนมากมีความคาดหวังจะได้ใช้ขนส่งสาธารณะที่ไร้มลพิษ ค่าโดยสารที่เหมาจ่ายในราคาที่ถูกลง” นายอาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งมอบการบ้านให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนลงทุน เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (สภาพัฒน์ฯ) ซึ่งในขณะนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการ ขสมก., อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อบูรณาการ และพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบการบ้านไว้ โดยได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image