ท่องเที่ยวกระอัก วอนรัฐเยียวยา ฝ่า‘โควิด’รอบใหม่

หมายเหตุเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ถึงผลกระทบและมาตรการเยียวยา ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ อาทิ การช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน การตั้งกองทุนช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
นายกสมาคมโรงแรมไทย

สมาคมได้เสนอแนวทางเยียวยาตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อให้ภาครัฐร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยว หรือโคเพย์ เป็นมาตรการรักษาการจ้างงาน ขณะที่โรงแรมต้องปิดกิจการด้วยเหตุสุดวิสัยไปแล้วกว่า 40% เช่นที่สมุยหรือภูเก็ต แต่ต้องแบกภาระเงินเดือนของพนักงาน จึงขอให้ภาครัฐช่วยจ่ายคนละครึ่ง โดยมีเงื่อนไขในการรักษาสภาพการจ้างงาน นอกจากนั้นเรียกร้องเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม หลังมีการประกาศว่าผู้ว่างงานจะได้รับเงิน 50% ของเงินเดือน ตลอดระเวลาที่ว่างงาน จากการสั่งปิดกิจการในโรงแรมที่มีฟิตเนสกับสปา

Advertisement

สมาคมขอให้รัฐบาลประกาศเหมือนช่วงกลางปี 2563 กรณีรัฐแจ้งว่าหากโรงแรมปิดด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากไม่มีลูกค้า ให้พนักงานไปขอรับเงินประกันสังคมได้ 62% เป็นเวลา 3 เดือน

ส่วนการลดค่าไฟฟ้าให้โรงแรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ควรลด เพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายรองลงมาจากค่าจ้างพนักงาน โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ต้องแบกภาระค่อนข้างหนัก

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ขอให้ปรับให้ง่ายขึ้น เชื่อว่ายังมีโรงแรมที่ต้องการต่อสู้กับวิกฤตนี้ อาจต้องประสบปัญหาขาดทุนต่อไปอีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นโรงแรมเหล่านี้ควรเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำมาประทังชีวิตอยู่ได้ โดยขอให้พักการชำระเงินต้น 2 ปี และชำระดอกเบี้ยที่ 2%

Advertisement

ส่วนการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือโรงแรมหรือภาคท่องเที่ยว ก็ขอให้ภาครัฐหารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดแนวทางร่วมกัน เช่น การนำเงินทุนมาซื้อหุ้นเพื่อให้โรงแรมอยู่ได้ และให้โรงแรมที่มีศักยภาพซื้อหุ้นคืนในระยะเวลา 5-7 ปี แต่สิ่งที่น่ากังวลผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือไม่ อาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี และสิ่งที่ประเมินยาก คือมูลค่าหุ้นของโรงแรมแต่ละแห่ง รวมทั้งระบบการค้ำประกันเงินกู้เป็นอย่างไร

สมาคมคาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้ง ช่วงสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะควบคุมโรคระบาดได้หรือไม่ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีหรือไม่ หากจะเปิดประเทศช่วงกลางปี 2564 ถ้าจะต้องมีการกักตัว 14 วัน คงไมใช่นักท่องเที่ยวทั่วไปเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ

ดังนั้นภาครัฐควรมีแนวทางคัดกรองนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเพื่อให้เดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว

พัลลภ แซ่จิว
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

มาตรการเยียวยาธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโควิดระบาดรอบใหม่ ต้องชัดเจน และปฏิบัติได้จริง มีแผนงานและงบประมาณรองรับทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว

โดยเฉพาะการตั้งกองทุนเยียวยาและฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ควรให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด เป็นผู้รับรองผู้ขอสินเชื่อ จากสถาบันการเงินหรือกองทุนดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายย่อยเข้าไม่ถึง เนื่องจากรายใหญ่ขอสินเชื่อไปหมดแล้ว บางรายขอกู้ 20-50 ล้านบาท เพราะดอกเบี้ยต่ำ สังเกตจากโควิดระบาดรอบแรก สถาบันการเงินส่วนใหญ่สร้างเงื่อนไข จำกัดวงเงินสินเชื่อ และไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับประโยชน์มากนัก

ดังนั้น รัฐบาลควรเปลี่ยนแนวทางจัดตั้งกองทุนดังกล่าว มาเป็นสหกรณ์เพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด โดยให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการเช่นเดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ เพื่อระดมทุนจากสมาชิกจัดตั้งกองทุนในรูปแบบสหกรณ์แทน เพราะผู้ประกอบการบางส่วนมีฐานะและกิจการที่มั่นคง สามารถนำเงินมาฝากกับสหกรณ์ได้ โดยได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์ทั่วไป เช่น ฝากแบงก์ได้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี หากสหกรณ์นำเงินฝากมาปล่อยกู้ หรือให้สินเชื่อสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 5 ต่อปี ยังเหลือส่วนต่างที่นำมาบริหารจัดการและเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกได้

วิธีดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทุกจังหวัด มีสถาบันการเงินหรือแหล่งเงินทุนเป็นของตนเอง และเป็นทางเลือกใช้บริการ ไม่ต้องอิงกับสถาบันการเงินเท่านั้น ที่สำคัญเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่ำ มีกฎหมายรองรับ ไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนเป็นหมื่นล้านบาท แต่ส่งเสริมจัดตั้งสหกรณ์ โดยระดมทุนภายในจังหวัดแทน

อาจระดมทุนได้ 30-50 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนขยายกิจการสหกรณ์ให้มีความมั่นคงตามลำดับ

ศิริวัฒน์ ศรีประเสริฐ
ผู้บริหารเวสต์ไซด์ผับ ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมเชียงใหม่ร้านอาหาร ภัตตาคาร และบันเทิง

ไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จ่ายเงินสมทบเป็นค่าจ้างแก่พนักงานและลูกจ้างเดือนละ 7,500 บาท เพราะมีค่าใช้จ่ายประจำอยู่แล้ว อาทิ ค่าเช่าสาธารณูปโภค หนี้สินที่ต้องจ่ายทุกเดือน ทำให้แบกรับภาระไม่ไหว ควรใช้ระบบประกันสังคมเหมือนโควิดรอบแรก ที่จ่ายเงินชดเชยให้พนักงานลูกจ้าง 62% ของเงินเดือน เป็นเวลา 3 เดือน หากได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ได้อีกคนละ 3,500 บาท โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด เชื่อว่าอยู่ได้แล้ว

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือโครงการคนละครึ่ง จาก 3,500 บาท เป็น 5,000 บาท แต่เพิ่มจำนวนผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิดังกล่าว ไม่ใช่แค่ 1 ล้านคนเท่านั้น ควรเพิ่มเป็น 10 ล้านคน เพื่อให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้าถึงสิทธิและโอกาสดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะคนที่เคยได้รับสิทธิดังกล่าวเท่านั้น เพราะมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ลงทะเบียนไม่ทันและไม่ได้สวัสดิการดังกล่าวเลย

เท่าที่สังเกตโครงการคนละครึ่งรอบแรกมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้รับสิทธิดังกล่าวจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช้จ่ายจริง บางรายมาใช้บริการสถานบันเทิง แต่ไม่เติมเงิน ทำให้เสียสิทธิ และไม่กระจายรายได้สู่สถานบริการหรือสถานบันเทิงอย่างใด

ดังนั้นรัฐบาลควรกำหนดการลงทะเบียนใหม่ ให้โอกาสแก่คนที่ได้เคยได้รับสิทธิดังกล่าวมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและหมุนเวียนเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วย

วิภา สุเนตร
เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตราด และเจ้าของโรงแรมบ้านปูรีสอร์ต

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด รอบนี้ส่งผลกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวมาก ทำให้โรงเเรม รีสอร์ต และธุรกิจต่อเนื่องได้รับผลกระทบ บางรายยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรก มาครั้งนี้จึงกระทบหนักมากขึ้น และอาจจะไม่สามารถกลับมาได้อย่างเดิมได้

ครั้งที่ผ่านมารัฐบาลเยียวยาด้วยการช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินค่าแรงให้พนักงานด้วยการนำเงินประกันสังคมมาจ่ายชดเชยร้อยละ 62 ช่วยได้มาก แต่ครั้งนี้จะให้ 50:50 หรือโคเพย์ เพราะรัฐบาลเลี่ยงไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการมองว่าน่าจะได้เท่าเดิมมากกว่า

การที่รัฐบาลไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์เกรงว่าจะมีปัญหาเพราะผิดเงื่อนไขของประกันสังคมที่จะจ่ายให้ไม่ได้ หากทางจังหวัดไม่สั่งปิดโรงแรม เรื่องนี้รัฐบาลควรจะทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เอกชนเกิดปัญหา หากจะประกาศปิด โรงแรมไหนควรปิดบ้าง หรืออาจจะปิดทั้งล็อตก็ระบุมา เพื่อให้ประกันสังคมจ่ายเงินเยียวยาได้ เพราะวันนี้แม้จะไม่ปิดก็เหมือนปิด

การลดค่าไฟฟ้าให้ร้อยละ 15 เป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกวันนี้ไฟฟ้าจะเก็บสถานประกอบการในลักษณะเสียอัตราขั้นต่ำคือ 30% จากค่าไฟฟ้าที่เคยใช้ หากเคยใช้ 1 แสนบาท/เดือน ขั้นต่ำ 30% ก็ต้องจ่าย 3 หมื่นบาท/เดือนอยู่ดี หากจะช่วยจริงไม่ต้องจ่ายขั้นต่ำ แต่คิดตามที่ใช้จริงได้หรือไม่ เช่น ใช้ 2 หมื่นบาทก็จ่าย 2 หมื่นบาท น่าจะช่วยผู้ประกอบการได้จริง อีกทั้งยังต้องจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดิน หากรัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะดีกับผู้ประกอบการในช่วงวิกฤต

ขณะที่การช่วยหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการติดเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้จนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ หากครั้งนี้จะทำก็ควรจะให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย พักหนี้ หรือยกดอกเบี้ยไปบ้างจะทำให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านช่วงวิกฤตไปได้

เรื่องการตั้งกองทุนเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ควรเร่งดำเนินการ หากภาครัฐนำเงินทุนจากแหล่งเงินท้องถิ่น เช่น จากสหกรณ์ออมทรัพย์ในแต่ละจังหวัดที่มีเงินสะสมมากน่าจะมีเงินมามากเพียงพอ แต่รัฐบาลต้องแก้ไขเงื่อนไขให้ปล่อยเงินกู้ได้ วันนี้ภาครัฐไม่ควรจะล่าช้าเพราะปัญหาของภาคเอกชนก็จะมีมากขึ้น

สริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์
นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด จ.ระยอง

ขณะนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะเสม็ดเลย เกาะเสม็ดมีเจ้าของและผู้ประกอบการรีสอร์ต บ้านพัก โรงแรมบนเกาะเสม็ด กว่า 150 ราย และมีรายเล็กๆ น้อยๆ อีกมาก บางรายเริ่มปิดตัวลอยแพพนักงาน เมื่อวันก่อนคนที่มาเช่าพื้นที่ขายของบนเกาะเสม็ด เริ่มขนของออกจากเกาะ 4-5 รายทั้งน้ำตา ทั้งที่เขาไม่อยากไป แต่มันทนไม่ไหว ดังนั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน เวลานี้ผู้ประกอบการแทบจะถอดใจกันหมดแล้ว

เรือโดยสารนักท่องเที่ยวข้ามเกาะเสม็ดก็ต้องหยุดวิ่ง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนชาวบ้านที่อยู่เกาะเสม็ดก็จะนั่งเรือมาซื้อของที่ฝั่งบ้านเพ วันละ 4 รอบ แต่นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ไม่มีมาเลย

ส่วนการเยียวยาจากภาครัฐ ขอให้กรมธนารักษ์ลดค่าเช่าที่ดิน ค่าประกัน ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของผู้เช่าเหลือ 50% เป็นเวลา 2 ปี รวมถึงยกเว้นค่าปรับ 1.5% ของเงินค้างชำระ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เช่า อีกทั้ง ลดการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ผ่อนผันค่าน้ำ ค่าไฟ เนื่องจากยังคงมีรายจ่ายเหมือนเดิม แต่ไม่มีรายได้เข้ามา

ส่วนซอฟต์โลน ให้ลดขั้นตอนเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินไปได้ก่อน ส่วนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ขอเสนอให้จัดการท่องเที่ยวเกาะเสม็ด แบบพักระยะยาว 15 วัน-1 เดือน โดยลดค่าที่พัก 50% รัฐช่วย 50%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image