บก.ลายจุด ขอเล่าเรื่องชาวเขา แบบไม่ดราม่าการเมือง ย้ำต้องมองเขาเป็นผู้มีอำนาจ

บก.ลายจุด ขอเล่าเรื่องชาวเขา แบบไม่ดราม่าการเมือง ย้ำต้องมองเขาเป็นผู้มีอำนาจ

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความแสดงความเห็น กรณีดราม่า พิมรี่พาย กับการบริจาคของให้เด็กบนดอย โดยระบุว่า

มองบน(ดอย)

มิตรสหายขอความเห็น แต่จะเขียนเรื่องพิมรี่พายยังไง ที่ไม่ดราม่า และไม่มีอคติทางการเมือง

ชาวเขาในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และอาจรวมถึงชาวเขาในประเทศแถวๆ นี้ด้วย การเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ท่ามกลางชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งกว่า ใหญ่กว่า มีอำนาจเหนือกว่า อิสระที่จะเกิดขึ้นได้พวกเขาต้องมีถิ่นฐานเป็นของตนเอง และไม่ถูกชาติพันธุ์หลักรุกรานได้โดยง่าย หลายร้อยปีที่ผ่านมาชาติพันธุ์ที่เป็นชาวเขาในปัจจุบัน จึงอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจนกลายเป็นอัตลักษณ์และวัฒนธรรม แล้วคนไทยก็เรียกคนเหล่านั้นว่าชาวเขา

Advertisement

อาข่า แปลว่า ไกลน้ำ

การมีชีวิตรอดในป่าโดยไม่เจ็บไข้เป็นสิ่งสำคัญ ชนอาข่าจึงเลือกที่จะตั้งหมู่บ้านบนยอดดอยสูง เพื่อให้ห่างไกลจากน้ำ และเมื่อไม่มีน้ำก็จะไม่มียุง ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้สู่ชุมชน แต่ด้วยความไกลน้ำพวกเขาต้องเดินข้ามดอยเพื่อไปตักน้ำ ประปาภูเขาจึงสำคัญมากปีที่แล้วตอนไปดับไฟป่าที่ดอยแม่สลอง ผมเจอประปาหมู่บ้านที่วางต่อข้ามเขามาหลายกิโลเมตร

ในช่วงที่ประเทศไทยส่งออกไม้สัก ช้างเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่ชักลากไม้ออกจากป่าเป็นที่มาของชาวกระเหรี่ยงที่เป็นควาญช้างมาทำไม้ตามป่าเขาต่างๆ ทั่วภาคเหนือ การที่เราเห็นชุมชนกระเหรี่ยงในพื้นที่ใดสามารถสมมุติฐานได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยมีการทำไม้มาก่อน และพวกเขาได้ตั้งรกรากอยู่ต่อจากที่นั่น

หมู่บ้านชาวเขาในอดีตส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ชาวอาข่ามักแยกหมู่บ้านเมื่อสมาชิกในชุมชนมีครัวเรือนเกิน 15 ครัวเรือนขึ้นไป เพราะเมื่อชุมชนขนาดใหญ่มักมีโอกาสเกิดปัญหาด้านการปกครอง และการแย่งชิงพื้นที่ทำกิน การแยกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก จึงเป็นทางออกและการกระจายตัวของชาวเขาตามดอยต่างๆ แต่หลังนโยบายปิดป่า การเกิดหมู่บ้านใหม่แทบเป็นไปไม่ได้ หมู่บ้านชาวเขาจำนวนมากถูกผลักดันให้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่จัดสรรรวมกัน จำกัดพื้นที่ทำกิน หมู่บ้านที่ยังอยู่ที่เดิมก็ขยายได้ในแนวกว้างไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งใหม่ เราจึงเห็นหมู่บ้านชาวเขาที่มีขนาดใหญ่นับร้อยครัวเรือนในปัจจุบัน

คลื่นโลกาภิวัตน์ซัดมาถึงหมู่บ้านบนดอยนานแล้ว มาอย่างเงียบบ้าง และมาแบบถาโถม เพลงไอ้หนุ่มดอยเต่า ของวงนกแล ทำให้คนไทยเรียกชาวเขาทั้งหมดว่า “แม้ว” และเพลง “มิดะ” ของจรัญ มโนเพชร ทำให้หนุ่มๆ มองวิถีทางเพศของคนหนุ่มสาวบนดอยอย่างผิดๆ ครั้งหนึ่งอำนาจรัฐเคยใช้ชาวเขาปลูกฝิ่นเพื่อการส่งออก และเคยใช้กองกำลังชาวเขาต่อต้านคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เป็นธรรมดาที่คนพื้นราบจะนำเข้าวัฒนธรรมและความคิดของตนเองเข้าไปเมื่อเข้าสู่ชาวเขา ความเจริญในรูปแบบของถนน ไฟฟ้า เป็นสาธาณูปโภคพื้นฐานที่ความเจริญในมุมมองของคนพื้นราบยอมรับ ความถูกผิดไม่ได้อยู่ตรงที่ถนนหรือไฟฟ้า หรือทีวี อินเตอร์เน็ต มีความจำเป็นหรือไม่ แต่นี่เป็นเรื่องของการเรียนรู้ และการเลือกประกอบด้วย การได้รู้จักสิ่งที่จะถูกเลือกและอำนาจในการตัดสินใจโดยผู้เลือก ซึ่งต้องเป็นเรื่องของชุมชน

ชุมชนชาวเขาบางแห่งมีความเปราะบางอย่างมาก เพราะถูกปกป้องโดยระยะทางและความสูงของขุนเขา การมีวัฒนธรรมใหม่เข้ามาในหมู่บ้านจึงเปรียบได้กับไวรัส ซึ่งมันสามารถทำให้ชุมชนล่มสลายได้ และอาจปรับตัวมีภูมิคุ้มกันและดำรงอยู่ร่วมกันได้

เป็นธรรมดาที่สังคมที่หวังดีจะมีทั้งการหยิบยื่นให้หรืออีกฝ่ายกังวลต่อการทำลายความบริสุทธิ์ของวิถีชนเผ่าและเกรงว่าการหยิบยื่นอาจเป็นปัญหาต่อชุมชนในอนาคต แต่เราต้องไม่ลืมว่าไม่มีชุมชนใดบนโลกใบนี้ที่ไม่ถูกค้นพบ และเอาเข้าจริงๆ ชาวเขาในไทยล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอยู่แล้ว เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ โทรศัพท์มือถือที่เขาใส่ไว้ในย่าม รองเท้าบูทและมีดจอบก็ล้วนเป็นวัตถุดิบที่มาจากพื้นราบ

ตอนที่ทำงานชาวเขาอยู่เชียงรายช่วงปี 41-47 ผมได้ยินชาวบ้านพูดอภิปรายเรื่องนี้มาโดยตลอด หลายคนอยากได้ถนน อยากได้ไฟฟ้า เพราะเขาพร้อมที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอก แต่ยังอยากอาศัยอยู่บนดอย ในขณะที่บางคนมองว่า ถนน และไฟฟ้านำมาถึงปัญหาจำนวนมาก วิถีที่เคยมีอยู่เดิมจะล่มสลาย และพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ใหม่ๆ ที่บรรพบุรุษไม่เคยเล่าให้ฟัง

การอภิปรายในสังคมวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นธรรมดามากๆ ที่ความคิดที่แตกต่างกันกำลังปะทะกัน แต่คนที่ตัดสินใจคือ คนในชุมชนและต้องทำผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการมองว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจ ไม่ใช่คนด้อยโอกาสแบบไม่มีปากเสียงใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image