เพื่อไทย จัดเสวนารับมือโควิด จี้รัฐเร่งออกมาตรการเยียวยา ปชช. แนะตั้งกองทุนช่วยเอสเอ็มอี

เพื่อไทย จัดเสวนารับมือโควิด จี้รัฐเร่งออกมาตรการเยียวยา ปชช. แนะตั้งกองทุน 1 ลลบ. ช่วยเอสเอ็มอี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัด เสวนารับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง โดยมีแกนนำพรรค พท. ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรค พท. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรค พท.อดีตรองนายกฯ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค พท. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค และผอ.ศูนย์นโยบายฯ พรรคพท.

นายนพดล กล่าวว่า จากสถานการณ์กาารระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รัฐต้องมีมาตรการสร้างรายได้ กระจายโอกาส และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประชาชน ทั้งการเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาทุกมิติ สร้างแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ จัดหาอุปกรณ์ให้เด็กขาดแคลน เร่งสร้างและเพิ่มทักษะใหม่ให้คนทำงานและตกงานรองรับตลาดงานและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ต้องลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำครบวงจร ผลิตอาหารปลอดภัย ลงทุนวิจัยและพัฒนาในด้านอาหาร การแพทย์ พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มเพื่อให้ไทยแข่งขันได้ ส่งเสริมมาตรการหารายได้เข้ารัฐ ที่ไม่ใช่เพียงภาษี การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มระบบราชการ การคลัง และระบบภาษีทั้งหมด เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน การแก้ไขระบบศุลกากร ปรับปรุงระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และจัดระบบงบประมาณใหม่ โดยต้องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทบทวนงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา

นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลยังจัดระเบียบงบประมาณแบบเก่าๆ มีปัญหาเพราะงบจัดซื้ออาวุธ งบด้านความมั่นคงมโหฬารและโตขึ้นทุกปี มาวันนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ต้องลดงบประมาณลงเพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้รัฐต้องลดภาระประชาชนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยภาครัฐสนับสนุนบางส่วน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการรองรับการเรียนออนไลน์ สนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งดำเนินการนอกจากควบคุมโรค คือเวิร์กฟรอมโฮม เลิร์นฟรอมโฮม และบายฟรอมโฮม

Advertisement

นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีว่า ขณะนี้ เราใช้มาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติในการสร้างสภาพคล่อง โดยการตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์ ต้องเป็นธนาคารกลางดูแล นอกจากนี้ ต้องแก้ไขข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เข้มงวดของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เช่น ไม่เป็นเอ็นพีแอล วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เป็นต้น ขณะที่ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดำเนินมาตรการพักหนี้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกร ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารหยุดคิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารพาณิชย์ให้ภาครัฐชดเชยรายได้ดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักหนี้

นายเผ่าภูมิ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาแรงงานในและนอกระบบว่า ขณะนี้หลังล็อกดาวน์อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสองเท่า สูงสุดในรอบ 11 ปี ส่วนคนทำงานเต็มเวลาและล่วงเวลาก็ลดลงถึง 5 ล้านคน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การล็อกดาวน์อีกซึ่งน่าห่วง ที่ผ่านมารัฐบาลเยียวยาโดยไม่ป้องภาวะการตกงาน พรรค พท.จึงเสนอมาตรการคงการจ้างงาน โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างโดยตรงผ่านผู้ประกอบการ เพื่อดำรงการจ้างงาน โดยเอกชนที่รับการสนับสนุนคงการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนแรงงานเดิม ทั้งนี้ ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันไดตั้งแต่ 50-60% ตามโซนจังหวัดตามความรุนแรงของการระบาด เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนสิทธิอื่นตามประกันสังคมให้คงตามมาตรการของรัฐ ส่วนแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร ให้ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และเงินสนับสนุนคนละ 18,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า นอกจากนี้ขอเสนอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สำหรับเอกชนที่สามารถจ้างงานเพิ่มกว่าจำนวนเดิม เพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มเติมจากเอกชนที่มีกำลัง และจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก เสนอให้จัดตั้งแพล็ตฟอร์มกลางเพื่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติขนาดใหญ่ จับคู่ความต้องการนายจ้าง-ลูกจ้างชนกันผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสองฝ่าย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image