จาตุรนต์ โพสต์กินก๋วยจั๊บ สะท้อนเสียงจากเยาวราช ชี้คำสั่งเข้มงวด แต่ไร้มาตรการรองรับ 

จาตุรนต์ โพสต์รูปกินก๋วยจั๊บ สะท้อนเสียงจากเยาวราช คำสั่งที่เข้มงวด แต่ไร้มาตรการรองรับ 

วันนี้ (11 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง เสียงสะท้อนจากเยาวราช ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

“ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปแถวๆ เยาวราช เลยแวะไปกินก๋วยจั๊บเจ้าอร่อย มีโอกาสพูดคุยทักทายพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่คุ้นเคยกัน จึงได้รู้ว่าในช่วงสถาการณ์การระบาดของโควิด-19 พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

เยาวราชวันนี้แปลกตา ภาพผู้คนที่เคยเนืองแน่น จับจ่ายใช้สอย ไม่เหมือนเดิมเลย คนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

วันนั้นมีโอกาสถ่ายภาพมาด้วย จึงคิดว่าควรนำเนื้อสาระที่น่าสนใจจากการได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า มาเล่า มาแบ่งปันกันเพื่อข้อมูลและเป็นกำลังใจให้กันในสถานการณ์นี้

1. ก๋วยจั๊บเจ้าประจำหน้าโรงหนังเก่าเยาวราช ปกติคนแน่นมาก คิวยาว วันนี้คนน้อยลงไปเยอะ แต่อร่อยและบริการดีเยี่ยมเหมือนเดิม

Advertisement

ถามหลายๆ ร้านจะบอกตรงกันว่า ช่วงนี้แต่ละวันแต่ละคืนขายของได้น้อยลง บางร้าน บางร้านบอกว่า ตั้งแต่มีคำสั่งห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน หลัง 21.00 น. บางร้านว่าลูกค้าหายไป 50% บางร้านว่าลูกค้าหายไปกว่า 80 %

2. แม่ค้าทุเรียนเจ้าประจำอีกเหมือนกัน เมื่อก่อนขายดีมาก แต่หลังจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยแล้ว ก็ต้องเลิกขายทุเรียน หันมาขายบัวลอยแทน ช่วงนี้พอขายได้ น่าจะเพราะอร่อยเป็นพิเศษ

3. แม่ค้าขายซีดีเพลงจีน ไปเมื่อไรก็ต้องแวะคุยกันเป็นประจำ ฟังเพลงเติ้ง ลี่ จุน ไปเพลินๆ ยังคุยล้อเล่นกันว่าเคยจะฝากขายซีดีเพลงจีนที่ผมร้องอัดแผ่นไว้ แต่เกรงใจว่า จะไปแย่งลูกค้านักร้องคนอื่น 555

Advertisement

4. ได้คุยกับ project manager ร้านหลงโถว คาเฟ่ (Lhong Tou Cafe) ร้านคาเฟ่สไตล์จีนที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ได้ข้อมูลมามาก โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบรรยากาศการค้าขาย

SMEs หลายรายที่เยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดร้านค้าขายเฉพาะช่วงเย็น บางร้านตัดสินใจปิดร้าน หยุดดำเนินกิจการเลยหลังมีคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านหลัง 21.00 น. เพราะคิดว่าขาดทุนแน่ บางร้านอาจเลิกไปเลยเพราะยังเป็นหนี้อยู่ตั้งแต่รอบที่แล้ว ส่วนที่ยังเปิดค้าขายกันอยู่ก็ลำบากเต็มที ที่สำคัญคือลูกค้ารู้สึกว่าคำสั่งและมาตรการบังคับแสดงถึงว่าไม่ปลอดภัย ไม่ไปกินตามร้านดีกว่า ทำให้ลูกค้าน้อยลงมาก

ปัญหาสำคัญมาก คือ ทางการไม่ได้แจ้งว่า มีแผนจะเยียวยาผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้าง ยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการรักษาพนักงานไว้ ปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องคิดแก้ปัญหากันเอง soft loan ที่น่าจะเป็นความหวังของผู้ประกอบการก็เข้าถึงยาก มีเงื่อนไขยิบย่อยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงมากมาย ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเรื่องนี้

พนักงานลูกจ้างส่วนใหญ่รู้สึกหวั่นไหว ไม่รู้ว่าจะมีงานทำไปอีกกี่วัน จะถูกลดเงินเดือน ค่าจ้างเหลือเท่าไหร่ หรือจะต้องออกจากงานกันอีก ร้านที่ปิดไปแล้วก็ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยแพงๆ เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้ได้ก่อน

ขณะนี้หลายร้านอาหาร พยายามช่วยกันคิดวิธีการในการซื้อขายออนไลน์และจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าผ่านผู้ให้บริการเดลิเวอรี่แทนการขายในร้าน พยายามหาความร่วมมือและจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาในช่วงวิกฤต ให้ SMEs โดยยังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลมีนโยบายในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

การมีภาครัฐคำสั่งบังคับ รวมทั้งเข้มงวดต่อร้านอาหารโดยไม่มีมาตรการมารองรับ กำลังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อคนทำมาค้าขายทั้งหลาย หากยังไม่มีการทบทวนการใช้มาตรการเหล่านี้โดยเร็ว ความเสียหายจะยิ่งมาก

วันนี้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจการแบบเดิมได้และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้กลับมามีชีวิตแบบเดิมได้เมื่อไร

ส่วนการเยียวยา ที่วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากผู้ออกคำสั่งและผู้รับผิดชอบนั้น จะต้องมีการดำเนินการให้ชัดเจนทั้งในส่วนของผู้ประกอบภารธุรกิจภาคเอกชนและประชาชน คนงาน ลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน ตกงาน ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่สั่งปิด สั่งหยุดกิจการสารพัดไปก่อนแล้วค่อยมาหาทางแก้กันทีหลังอย่างที่ทำกันอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image