เดินหน้าชน : สูตรสำเร็จ

บ่อนพนันกลายเป็นหนึ่งในจำเลยตัวสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด-19 ลุกลามไปยังหลายจังหวัด หนักสุดอยู่ในภาคตะวันออก

ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ถูกยกระดับเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม “ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

เข้าออกจังหวัดต้องมีเอกสารรับรองจากฝ่ายปกครอง

บ่อนพนันจากที่เคยตกเป็นเป้ากัดเซาะเศรษฐกิจ สร้างปัญหาสังคม กำลังเพิ่มบทบาทผู้ร้ายด้านสาธารณสุข

Advertisement

เมื่อลงไปดูสิ่งที่เรียกว่า “บ่อนพนัน” มีข้อมูลการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจสถานการณ์ พฤติกรรมการพนันในประเทศไทย เขาศึกษากันปีเว้นปี พบว่าในปี 2562 คนไทย 76.3% หรือประมาณ 40.69 ล้านคน เคยเล่นพนัน

ประมาณครึ่งหนึ่งเริ่มเล่นพนันครั้งแรกเมื่ออายุไม่เกิน 20 ปี

อายุต่ำสุดของการเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอยู่ที่ 7 ปี

Advertisement

จำแนกตามช่วงอายุพบว่า

เยาวชนอายุ 15-18 ปี เล่นพนันประมาณ 7.33 แสนคน วงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ 10,200 ล้านบาท

อายุ 19-25 ปี เล่นการพนันประมาณ 3.05 ล้านคน โดยมีวงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ 58,878 ล้านบาท

กลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นการพนันประมาณ 3.35 ล้านคน โดยมีวงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ 57,131 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จวงเงินหมุนเวียนในกลุ่มนักเล่นพนันในบ่อนที่ต้องมีผู้คนเข้าไปเล่นอยู่ประมาณ 122,566 ล้านบาท

ขณะที่พนันออนไลน์มีประมาณ 20,152 ล้านบาท

จึงไม่แปลกการเล่นพนันในบ่อน คือปัญหาการควบคุมโควิด-19

ด้านผลกระทบต่อสังคมพบว่า 9.8% ของผู้ที่เล่นพนันในปี 2562 หรือประมาณ 2.9 ล้านคน ระบุว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพนัน ได้แก่ ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปัญหาความเครียด เป็นหนี้ มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว สุขภาพเสื่อมโทรม เสียเวลาทำงาน หรือการเรียน และอื่นๆ

คนไทยที่เล่นพนันในปี 2562 จำนวน 1.068 ล้านคน มีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 11,468 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 10,738 บาท สูงสุด 200,000 บาท

พิษสงบ่อนพนันทำให้นายกฯประยุทธ์ประกาศตั้งคณะกรรมการสืบสวนบ่อนพนัน ระหว่างนี้กำลังเฟ้นตัวบุคคลกันอยู่

รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อีกไม่นานคงได้รู้

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่าบทบาทหน้าที่ตอบโจทย์ที่ได้รับมาเข้มข้นเพียงใด

เพราะจากคำอธิบายความของรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” ระบุถึงหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ จะเข้ามาเป็น
เพียงผู้ประสานงาน กำกับ เร่งรัด รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์จากประชาชน จากนั้นก็แจกไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการต่อ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

มีคนค่อนแคะไม่ต่าง “เสือกระดาษ” ทำให้เข้าใจไปว่า เป็นเพียงคณะกรรมการคั่นเวลาในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เท่านั้น

ในเมื่อทั้ง 5 หน่วยงานมีทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือสืบสวน สอบสวน หาเบาะแสผู้ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว หากทำตามหน้าที่ของตัวเองจริงจัง ตรงไปตรงมา ก็ไม่น่ามีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการซ้อนขึ้นมาอีกชั้นคอยชี้เป้า

เอาเวลาไปเข้มงวดขันนอตหน่วยงานเหล่านี้ให้กระชับบทบาทมากขึ้นไม่ดีกว่าหรือ

เช่นนั้นเราก็คงต้องมีคณะกรรมการสืบสวนอีกนับสิบชุด มาดูแลการกระทำผิดต่างๆ

มีคำปรามาสฝ่ายบริหารอยู่เสมอ เวลามีปัญหามักใช้วิธีตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ แล้วประชุมกันไปเรื่อย

แต่ปัญหาต้องแก้ไขก็ยังอยู่ที่เดิม

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image