‘จาตุรนต์’ แนะ รบ.เยียวยาโควิดต้องเร็ว-ทั่วถึง รีบลดความเสียหายจากมาตรการของรัฐ

‘จาตุรนต์’ แนะ รบ.เยียวยาโควิดต้องเร็ว-ทั่วถึง รีบลดความเสียหายจากมาตรการของรัฐ

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีการเยียวยาความเสียหายจากโควิด-19 ต้องรวดเร็ว ทั่วถึง และต้องรีบลดความเสียหายที่เกิดจากมาตรการของรัฐเอง ว่าขณะนี้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังสนใจว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาอะไรออกมา การแพร่ระบาดรอบนี้มีสาเหตุสำคัญจากการปล่อยปละละเลย หรือจงใจหาประโยชน์จากการไม่รักษากฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเอง ไม่ได้เกิดจากความประมาท หรือการ์ดตกของประชาชนทั่วไป ซึ่งได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าการระบาดรอบแรกอย่างมาก

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขณะเดียวกันมาตรการของรัฐ ซึ่งมีทั้งที่หย่อนยาน อ่อนแอ และเข้มงวดแบบไม่ถูกที่ถูกทาง กำลังทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดควบคุมยากยิ่งขึ้น อีกทั้งการดำเนินมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของรัฐก็ออกมาโดยไม่ได้มีการหารือ หรือเตรียมการมาตรการรองรับผลกระทบ หรือเยียวยาให้พร้อมและชัดเจนเสียก่อน คือปิดๆ ไปก่อน แล้วค่อยคิดเยียวยาทีหลัง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ การเยียวยาความเสียหายจะต้องครอบคลุมผลกระทบที่เกิดขึ้นมากที่สุด จึงควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การลดความเสียหายที่ไม่จำเป็นอันเกิดจากการดำเนินมาตรการหรือไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐเอง และ สอง การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐและการถดถอยทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาด

Advertisement

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ในส่วนของการลดความเสียหายที่ไม่จำเป็นอันเกิดจากการดำเนินมาตรการหรือไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐเองนั้นประกอบด้วย 1.ลดมาตรการปิดสถานที่สถานประกอบกิจการลงเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจำกัดเวลาในการประกอบกิจการ ควรเน้นมาตรการจัดระยะห่าง ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ สวมใส่หน้ากากแทนการปิดหรือหยุดกิจการ ควบคู่กับการเพิ่มการตรวจเชิงรุก สืบสวนหาผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงและเพิ่มสถานที่กักตัวและรักษาพยาบาล พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่มี ต้องไม่ใช้มาตรการอย่างเดียวกับพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก 2.เปลี่ยนนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานและนายจ้างมีแรงจูงใจที่จะเข้าระบบและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด

“ในระยะกลางและระยะยาวต้องจัดระบบการดูแลแรงงานข้ามชาติเสียใหม่ ไม่ให้มีการขูดรีดแสวงประโยชน์จากแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนอาศัยแรงงานข้ามชาติได้ด้วยต้นทุนต่ำ ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเพื่อนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย

“ในระยะสั้นต้องไม่ให้มีการเก็บค่าหัวหาประโยชน์จากการนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รัฐต้องให้การดูแลอย่างดี ทั้งการตรวจ การกักตัวและการรักษาพยาบาล และผ่อนปรนงดเว้นการดำเนินคดีต่อแรงงานที่เข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย จนกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้จึงค่อยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป” นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า 3.เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบสูงๆ จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างในการไม่ประณาม หรือแสดงอาการรังเกียจเหยียดหยามผู้ที่ติดเชื้อโควิด สร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ความร่วมมือในการตรวจ กักกันและรักษา ไม่เน้นมาตรการในทางลงโทษหรือดำเนินคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน 4.ทบทวนการใช้มาตรการปิดศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและมหาวิทยาลัยแบบเหวี่ยงแห โดยหันมาคำนึงถึงความหนักเบาของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ คำนึงถึงผลเสียที่เกิดจากการปิดเรียน เช่น การไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ภาระที่พ่อแม่ต้องหยุดงานมาดูแลเด็ก ความเสียหายในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดจากการไม่ได้ไปโรงเรียน รวมทั้งความเสี่ยงที่เด็กจะติดเชื้อจากการอยู่กับผู้ใหญ่ ซึ่งมีสูงกว่าการที่เด็กอยู่ด้วยกันเอง

นายจาตุรนต์กล่าวว่า 5.ต้องเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาจากการสร้างความหวาดกลัวต่อการติดเชื้อและต่อกฎหมาย มาเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความร่วมมือต่อมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแบบนิว นอร์มอล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศด้วย เพราะบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวกำลังทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งหลายไม่กล้าลงทุนหรือทำธุรกิจกันมากแล้ว

“สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลอาจใช้มาตรการที่คล้ายกับรอบที่แล้ว แต่จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากกว่าเดิม จึงควรสรุปบทเรียนจากรอบที่แล้วเพื่อปรับปรุงให้มาตรการเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 1.ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการในการรักษาพนักงานลูกจ้างไว้ แม้อยู่ระหว่างหยุดพักหรือหยุดงานชั่วคราว โดยรัฐช่วยเหลือเรื่องค่าจ้างร่วมกับเอกชน มากกว่าระบบประกันสังคมปกติ 2.หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยรัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลความเสี่ยงร่วมกับธนาคารและสถาบันการเงิน

“3.จัดระบบข้อมูลทั้งจำนวนกิจการร้านค้าที่ต้องหยุดหรือปิดไปหรือค้าขายได้น้อยลง คนที่ต้องหยุดงานหรือลดเวลาทำงานหรือผู้ที่ขาดรายได้หรือรายได้ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการของรัฐและผลกระทบจากภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ 4.รีบจัดหางบประมาณ เฉพาะหน้าต้องรีบโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่มีไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเป็นงบเยียวยาและสวัสดิการ รวมทั้งอาจต้องหาแหล่งเงินเพิ่มเติม รีบจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เตรียมดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยและอาหาร ในระยะต่อไปควรจัดระบบการเยียวยาและสวัสดิการสำหรับประชาชนเสียใหม่ให้ครอบคลุม ทั่วถึง เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ 5.เยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการปิดสถานศึกษา ช่วยให้ครูมีเครืองมืออุปกรณ์ที่จำเป็นและให้เด็กยากจนเข้าถึงออนไลน์ได้ ดูแลครอบครัวที่ต้องเดือดร้อนจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานมาดูแลลูก การที่เด็กไม่มีอาหารเพียงพอหรือการขาดโอกาสได้รับบริการทางสาธารณสุข การป้องกันอุบัติเหตุและการทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นระหว่างที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน

“เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมมากที่สุด ก่อนที่ผลกระทบต่างๆ จะทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจและประชาชนไปมากกว่านี้” นายจาตุรนต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image