รู้จัก 11 กุนซือสมานฉันท์ ใครเป็นใคร มาจากไหน เจอเย้ย แค่เริ่มก็เหมือนจะล่ม…

จากกรณี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ลงนามในประกาศรัฐสภา เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ตามที่มีประกาศรัฐสภาเรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 กำหนดรูปแบบและองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้เสนอชื่อผู้แทนของตนเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ประธานรัฐสภา จึงออกประกาศแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นกรรมการสมานฉันท์

1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล 2.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 3.นายนิโรธ สุนทรเลขา  4.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม 5.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 6.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร  7.นายสุริชัย หวันแก้ว  8.นายวันชัย วัฒนศัพท์  9.นายสมศักดิ์ รุ่งเรือง  10.นายนิรุต ถึงนาค  11.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง

และให้ข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนี้ นายคุณวุฒิ ตันตระกูล เลขานุการ นายณัฐพัฒน์ พัดทอง ผู้ช่วยเลขานุการ นายศตพล วรปัญญาตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ

เราพาไปรู้จัก หน้าตาของกรรมการสมานฉันท์ ผู้ที่กำลังถูกคาดหวังว่าจะช่วยเสนอแนวคิดสร้างความสงบขึ้นในประเทศ เบื้องต้น ดังนี้

Advertisement

พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล หรือ บิ๊กช้าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 2 สมัย คอการเมืองคุ้นหน้ากันดี เวลามีประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพราะจะเป็นคนคอยตอบคำถามเกี่ยวกับทหาร เวลาถูกฝ่ายค้านตั้งคำถาม มีสไตล์การตอบแบบนุ่มนิ่ม อ่านตามกระดาษ ว่ากันตามโพย ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯให้เป็น หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานกับ คสช.มานาน เคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557 ปลัดกระทรวงกลาโหม คุ้ยเคยกับกฎหมายทหารอย่างดี เคยเป็น ตุลาการศาลทหารสูงสุด สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ในด้านการปรองดอง เคยเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว กรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม อดีตหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตประธานตรวจสอบคดีทุจริต อุทยานราชภักดิ์ อดีต กรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ คนนี้พรรคประชาธิปัตย์ส่งเข้าประกวด จัดเป็นรุ่นใหญ่ของพรรค งานในพรรค เป็นกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นบุตรของ เทียม ไชยนันทน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบัน อายุ 76 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์-ไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2512 และปริญญาตรีใบที่สอง สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2520 แล้วยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปีเดียวกันอีกด้วย เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์ 10 สมัย มีฐานเสียงหนาแน่นในพื้นที่ อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก ประสบการณ์การเมืองมากมาย

Advertisement

“เทอดพงษ์มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน มีท่าทีประนีประนอม และสามารถเข้าไปทำหน้าที่แทน ครม.ในคณะกรรมการชุดนี้ได้ เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ และหากมีสิ่งใด นายเทอดพงษ์จะปรึกษาตนและพรรค ปชป. ตนยังเชื่อว่าการส่งตัวแทนของพรรค ปชป.จะไม่มีปัญหาอะไร”  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กล่าวการันตี

สรอรรถ กลิ่นประทุม เข้ามาในฐานโควต้าพรรคร่วมรัฐบาล เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ทำงานการเมืองมายาวนาน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี สังกัดพรรคชาติไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2533 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชาติชาย เคยย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ ในปี พ.ศ. 2544 นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย นั่งรมช.มหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2548 ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นายสรอรรถ จึงได้ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มของนายสรอรรถ จึงได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน และกลุ่มอื่น ๆ ในนามพรรคภูมิใจไทย

หลังพ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นายสรอรรถ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรค เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ในชุดที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 6[14] แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 5 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกสมัย

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา มาในโควต้า ส.ว. นั่นเอง สื่อมักเรีัยก ครูหยุย เกิด 1 ตุลาคม 2498 คุณวุฒิ ครุศาสตรบัณฑิต สาขาพลศึกษา (จุฬาฯ) เป็นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2539 ทำงานในวุฒิสภามานาน 4 มีนาคม 2543 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ลำดับที่ 6 ของ กทม. ด้วยคะแนน 52,154 คะแนน ทำงานด้าน เยาวชน เด็ก เคยเป็น ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ สองสมัย เคยเป็น กรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ทำงานเอ็นจีโอ ก่อตั้ง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นรองประธานมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กรรมการมูลนิธิอุทิศเพื่อเด็กไทยในชนบท ครา รัฐประหาร 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ครารัฐประหาร 2557 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คอการเมืองยังจดจำกันได้ดี จากการทำท่าเชือดที่คอ หลังจากที่ สนช. มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เมื่อปี 2558

ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร มาในโควต้า ส.ว. เป็นสมาชิกวุฒิสภา เลือกโดย คสช. อีกคน จบปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (อุดมศึกษา) เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในทางความคิด เคลื่อนไหว เผยแพร่ความเห็นเรื่อง คุณธรรม บ่อยครั้ง บรรยาย ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านคุณธรรม เคยเขียน แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เคยเป็น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เคยเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การท่องเที่ยว วุฒิสภา , รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เคยให้สัมภาษณ์ “สาเหตุทึ่เสนอรายชื่อนายวัลลภและนางฉวีรัตน์ เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์เนื่องจากทั้งสองคนทำงานภาคสังคมมายาวนาน มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาคสังคม ไม่มีความคิดเอนเอียงทางการเมืองไปทางใดทางหนึ่ง จึงเหมาะสมในการทำงานด้านสมานฉันท์”

สุริชัย หวันแก้ว ส่งชื่อมาโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นศาสตราจารย์ด้านสังมวิทยาและมนุษยวิทยา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็น อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สุริชัยเป็นนักวิจัยทางสังคมวิทยา ในปี พ.ศ. 2549 เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ได้ลาออกก่อนครบกำหนด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 โดยให้เหตุผลว่า สภานิติบัญญัติฯในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้กำลังหมดความชอบธรรมลงแล้วจึงไม่สมควรผ่านร่างกฎหมายต่างๆ อย่างเร่งรีบเกินสมควรดังที่เป็นอยู่ สุริชัย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิชาสังคมวิทยา ภาควิชาสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2552 จบการศึกษาระดับปริญญาโท และได้รับ Ph.D. Candidate สาขาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

มีผลงานวิจัยด้าน ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชนบทศึกษา ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาวัฒนธรรม ผลกระทบจากการพัฒนา โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม ป่าชุมชน การพัฒนาที่ยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์

วันชัย วัฒนศัพท์ ส่งชื่อมาโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นหมอที่สนใจประเด็นด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่อง ความขัดแย้ง เป็นอดีตอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มข. ระดับศาสตราจารย์ จบ แพทยศาสตร์บัณฑิต (คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรผ้เูชี่ยวชาญศัลยศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประกาศนียบัตรฝึ กอบรม การแก้ปัญหาความขัดแย้งและกระบวนวิธีการจากมหาวิยาลัยวิคตอเรีย รัฐบริสทิช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ประกาศนียบัตรฝึ กอบรม “Effective Negotiation in Rapid Change Era” จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

เคยเป็นคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ้อูำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตกรรมการแพทยสภา สนใจประเด็นสันติวิธี จนเป็น ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2544-2550 ผู้อำนวยการศูนย์/สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า 2550-2556 ผู้อำนวยการหลักสูตรพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักสูตรการเจรจาไกล่เกลี่ย และหลักสูตรวิทยากรการจัดการ ความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้า

ด้านการบรรยาย เผยแพร่ความรู้ การแก้ป้ญหาความขัดแย้งและการมีส่วนร่วม ของประชาชน การจัดการศึกษา การพัฒนา ผลักดันพัฒนาให้เกิดศูนย์ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

สมศักดิ์ รุ่งเรือง ส่งชื่อมาโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ตำแหน่งเป็นนายกรับเลือก สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท) ผลักดัน ทำงานในแนวทาง ร่วมมือและส่งเสริมการสร้างสามัคคีธรรมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และกับการศึกษาอื่นๆ ร่วมมือและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการศึกษาแก่รัฐบาล หรือองค์การของรัฐบาล ร่วมมือและประสานงานในด้านวิชาการ การบริหารและการปกครอง ตลอดจนการอื่นๆ ในระหว่างสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยกัน เพื่อให้การศึกษาแก่นักศึกษาดำเนินไปโดยได้มาตรฐานและบังคับผลดีที่สุด

นิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม , ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เคลื่อนไหว โดดเด่นในมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลักดัน “นโยบายและแนวทาง” การขับเคลื่อนอุดมศึกษา “เพื่อเดินหน้าสู่อนาคต” ในการเป็นมหาวิทยาลัย “การพัฒนาเชิงพื้นที่” ตามนโยบายพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย

กรณีดราม่าอธิการบดีจากผู้เกษียณ เมื่อ เดือน ก.ย. 2561 หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)กาญจนบุรีว่าอธิการบดี/รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ จะอายุเกิน 60 ปีไม่ได้ ต่อมา  รักษาการ / อธิการบดีหลายสถาบันพากันลาออก “นิรุต” เลือกอยู่ฝั่ง อธิการบดี/รักษาการอธิการบดีที่ไม่ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า “จะไม่ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมรภ.มหาสารคาม เพราะเกรงว่าจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเพราะตำแหน่งอธิการบดีเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง”

 

วิโรจน์ ลิ้มไขแสง ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเช่นกัน วิโรจน์ เป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.อีสาน) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) จบปริญญาตรี วท.บ ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโท วท.ม การสอนฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาเอก Ph.D Environmental and Material Science Hiroshima University ญี่ปุ่น

หลังจากเห็นรายชื่อกรรมการสมานฉันท์ชุดใหม่แล้ว ก็มีความเห็นจากคนการเมืองต่างกันไป

แรงสุดเห็นจะเป็น เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า “ประธานชวน ได้ลงนามเซ็นตั้ง กรรมการสมานฉันท์โดยไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม จากสัดส่วนและรายชื่อ ที่ดูแล้วก็ไม่ค่อยเอื้อต่อการปรองดองอย่างแท้จริง แค่เริ่มต้นก็ดูเหมือนจะล่มแล้ว เมื่อรัฐยังไม่หยุดคุกคาม ไล่จับ ไล่ฟ้อง ผู้เห็นต่าง ตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมโดยไร้หลักแห่งความยุติธรรม และนี่ไม่ใช่บรรยากาศของการสร้างความปรองดอง รัฐบาลเองต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ถ้าไม่ยุติการคุกคาม-ยุติการฟ้องร้อง-ยุติการจับกุม ผู้เห็นต่าง ก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การพูดคุยสร้างการปรองดองได้เลย ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น – แก้ไขรัฐธรรมนูญ – ประยุทธ์ลาออก – หรือ การปฏิรูปสถาบัน ทุกเรื่องต้องถูกนำมาพูดคุยกันได้ ย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา เรามี คกก.สมานฉันท์มาหลายชุดมาก ทั้ง คอป., คปร., กมธ.ปรองดอง, ศปป., ปยป., ในสมัย คสช. ใช้งบประมาณในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์กว่า 1.3 พันล้าน สุดท้ายข้อเสนอต่างๆ ที่ผ่านมาถูกนำไปขึ้นหิ้งไว้ จึงยังเป็นคำถามว่าการตั้ง คกก.ปรองดอง สมานฉันท์ จะช่วยหาทางออกให้กับประเทศได้จริงหรือไม่ !?”

ด้าน เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เห็นต่างกัน ระบุว่า  การลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่าเมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้ง11คนแล้ว จะเห็นว่าเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิแทบทั้งสิ้น และเชื่อมั่นว่าจะทำหน้าที่เป็นประโยชน์กับสถานการณ์ของบ้านเมือง ที่มีความขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ได้ไม่มากก็น้อย แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ มีองค์ประกอบที่ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของสมาชิกรัฐสภาที่ได้วางไว้ เพราะยังขาดตัวแทนของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

งานนี้จะเดินต่อไปอย่างไร เมื่อดูจากรายชื่อแล้ว เหมือนยังขาดคนอีกฝ่าย จะล่มจริง หรือจะเป็นแค่พิธีกรรม  ต้องจับตาในชนิดอย่ากระพริบตาเลยทีเดียว … 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image