‘เทพไท’ เสนอรัฐแจกเงิน 3,500 บาทต่อคน 3 เดือน ใช้ฐานเยียวยาตามบัญชีทะเบียนบ้าน

‘เทพไท’ เสนอรัฐแจกเงิน 3,500 บาทต่อคน 3 เดือน ใช้ฐานเยียวยาตามบัญชีทะเบียนบ้าน มั่นใจไม่ตกหล่น เป็นธรรมกับทุกคน

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นด้วยกับ 4 มาตรการของรัฐบาล ที่บรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ2 คือ1.ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 โดยให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 2.ลดค่าน้ำ 10% เป็นระยะเวลา 2 เดือนตามใบแจ้งหนี้ ก.พ.-มี.ค.64 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 3.ลดค่าอินเทอร์เน็ต เพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home และสนับสนุนการโหลดแอปพลิเคชัน”หมอชนะ”ฟรีโดยไม่คิดค่าดาต้า 3 เดือน และ4.มาตรการคนละครึ่ง ให้ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้

นายเทพไท กล่าวต่อว่า สำหรับการจะเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนนั้น ส่วนตัวอยากเสนอให้เยียวยาเป็นเวลา3เดือน เท่าโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ยังไม่ทราบวิธีการเยียวยาของรัฐบาลที่ชัดเจน ว่าจะใช้แนวทางการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็ปไซด์ใหม่ หรือจะใช้ฐานข้อมูลเก่าในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ตอนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรกหรือไม่ เพราะวิธีการดังกล่าว มีจุดอ่อนและปัญหาตามมามากมาย ทำให้คนจนผู้ได้รับผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเยียวยา แต่บางครัวเรือนกลับได้รับการเยียวยาหลายคน จึงอยากจะให้รัฐบาลทบทวนวิธีการเยียวยาใหม่

โดยตนยืนยันแนวความคิดเดิมคือ เยียวยาเป็นรายครัวเรือนตามบัญชีทะเบียนบ้าน ของสำนักทะเบียนราษฏร กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้ได้รับการเยียวยาครบทุกครัวเรือน ไม่มีการตกหล่น และเป็นธรรมกับคนไทยทุกคนด้วย ยกเว้นครอบครัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ และครอบครัวข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลอยู่แล้ว เมื่อตัดออกจากจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 20ล้านครัวเรือน จะเหลือครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกในบ้านเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสากิจประมาณ 15ล้านครัวเรือนเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดเงินงบประมาณ ประหยัดเวลาในการเยียวยา และสามารถเยียวยาทั่วถึงอย่างรวดเร็วทุกคน ส่วนการช่วยเหลือกิจการรายย่อย SME รัฐบาลจะต้องมีรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image