สุพิศาล ชี้ ส.ส.ลงชื่อยื่นคำร้อง เป็นเอกสิทธิ์ตามรธน. ไม่ใช่การร้องทุกข์กล่าวโทษ

สุพิศาล ชี้ ส.ส.ลงชื่อยื่นคำร้อง เป็นเอกสิทธิ์ตามรธน. ไม่ใช่การร้องทุกข์กล่าวโทษ

เมื่อวันที่ 14 มกราคม พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ เข้าแจ้งความ เอาผิด 54 ส.ส.ฝ่ายค้าน อ้างว่าการยื่นชื่อเข้าถอดถอนผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแจ้งความเท็จ โดยระบุว่า

ในฐานะที่ผมเป็น 1 ใน 55 ส.ส. ที่ถูก สิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร แจ้งความดำเนินคดี ข้อหาแจ้งเท็จต่อประธานรัฐสภาและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีร่วมกันเข้าชื่อยื่นขอนายชวน หลีกภัย ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.ของนายสิระ สิ้นสุดลงตามมาตรา 101(7) รัฐธรรมนูญ หรือไม่ จากกรณีลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐ สภ.กะรน จ.ภูเก็ต มีหลายประเด็นที่อยากทำความเข้าใจ ดังนี้

1.การร่วมกันลงชื่อของ ส.ส. เป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ไว้ ในกรณีการกระทำหน้าที่ของผู้ที่เป็น ส.ส. ในเรื่องคุณสมบัติหรือเรื่องการกระทำนั้น ส.ส.หรือ สว.สามารถร่วมกันวินิจฉัย และยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นทั้งหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบได้ ไม่ใช่กลั่นแกล้ง และประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มีหน้าที่ตรวจสอบ ว่าประเด็นดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้หรือไม่ เมื่อครบถ้วนก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งผลของการวินิจฉัยก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ไม่ใช่การกล่าวโทษร้องทุกข์ นี่เป็นกระบวนการที่กฎหมายสูงสุดของประเทศให้อำนาจไว้เป็นเอกสิทธิ์ ของ ส.ส.และส.ว.ในหมวด7 ส่วนที่1 บททั่วไป เหมือนการอภิปรายในสภา

2.กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา บอกว่าการกระทำนั้นยังไม่เข้าข่ายความผิด ยกประโยชน์ให้ผู้ถูกร้อง ก็ถือว่าถึงที่สุด เป็นเสมือนว่าการกระทำในลักษณะแบบนี้เป็นมาตรฐาน มิได้แทรกแซง ก้าวก่าย เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ว่าจะนำคำวินิจฉัยนั้นไปฟ้องร้องกับบุคคลอื่นซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิได้มุ่งเน้นอย่างนั้น แต่มุ่งเน้นให้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐาน

Advertisement

3. อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแจ้งความดำเนินคดี ก็ต้องมีกระบวนการสอบสวน ต้องวินิจฉัย ซึ่งกรณีจะแจ้งความจับ ส.ส. จำนวนมากในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของสถานีตำรวจ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจต้องลงมาตั้งกรรมการสอบสวน ให้ได้ความจริง การรวบรวมพยานหลักฐานก็ต้องใช้เวลา หากพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดี ต้องไปศึกษารัฐธรรมนูญ และมีความรอบคอบพอสมควร ที่จะสามารถดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ก็เป็นไปได้ยาก เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครอง เอกสิทธิ์สูงพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนคงต้องพิจารณากัน เพราะกรณีการไม่รับร้องทุกข์นั้น โดยหลักแล้วประกอบด้วย 1) ไม่มีการกระทำผิด 2) ปัจจัยองค์ประกอบความผิดไม่ครบถ้วน 3) พิสูจน์ทราบได้ว่ามิได้มีเจตนากระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และ 4) พยานหลักฐานไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังในเรื่องกระบวนการสอบสวน ให้รัดกุม ครอบคลุม เพราะถ้าไม่มีคดีอาญาเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนควรจะรู้ว่าควรจะทำอะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image