ลุ้น ‘ปธ.กก.สมานฉันท์’ วันนี้ ฟาก กมธ.แก้รธน. เข้าโหมดเนื้อหา คาด 10 ประเด็นจ่อลงมติ

ลุ้นใครนั่งประธานกก.สมานฉันท์วันนี้ ‘เทอดพงษ์’ ลั่นมีเสียงเดียวเท่าคนอื่น

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวเมื่อวันที่ 17 มคถึงการนัดประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกวันที่ 18 ม.ค.นี้เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา เพื่อเลือกกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ว่า ยังไม่ทราบว่ากรรมการฯคนใดจะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการฯ หรือตำแหน่งใด ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการฯ นั้นตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตามการทำงานของกรรมการฯ คือการระดมความคิดเห็น ไม่ว่าบุคคลใดเป็นประธาน คงมีเพียงเสียงเดียวเท่ากับกรรมการคนอื่น

เมื่อถามว่า กรณีที่คนใกล้ชิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธานกรรมการฯ จะทำให้สังคมลดความเชื่อถือหรือไม่ นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า พอๆ กันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือวุฒิสภา(ส.ว.) ทั้งนี้การเลือกนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุม

เมื่อถามถึงกรณีที่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนที่ล่าสุดมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้กรรมการฯทำงานยากหรือไม่

นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า ไม่ยาก และไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค เนื่องจากรรมการฯ ต้องหาวิธีแก้ปัญหา เมื่อดูสถานการณ์ทั้งหมดแล้ว ส่วนประเด็นที่ม็อบเรียกร้องนั้นรับทราบแล้ว ทั้งนี้การมีของกรรมการสมานฉันท์ไม่ใช่ว่าเกิดแล้วจะทำให้มีความสงบเรียบร้อย แต่ต้องหาทางเพื่อให้เกิดความเห็นพ้อง เพราะคงไม่สามารถทำให้ความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันได้ทั้งหมด แต่ต้องทำให้ส่วนที่เห็นร่วมกัน ไปด้วยกันได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านปฏิเสธเข้าร่วมกรรมการนั้น อาจมีวิธีที่ทำให้เกิดความร่วมมือ ผ่านการพูดคุยนอกแบบ เพื่อรวบรวมความเห็นในสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นเงื่อนไขในตอนนี้ เช่น รัฐธรรมนูญ การทุจริตคอร์รัปชั่น การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง

Advertisement

ถกกมธ.แก้รธน.เข้าโหมดเนื้อหา “ไพบูลย์” คาด 10 ประเด็นจ่อลงมติ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… กล่าวถึงการประชุมกมธ.ฯ ในวันที่ 21 – 22 มกราคมนี้ เมื่อ 17 มค. ว่า การพิจารณาจะเข้าสู่หมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประชุมจะรับฟังการอภิปรายและการแสดงความคิดเห็นของ กมธ. เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา แม้จะมีกมธ.หลายคนมีความเห็นแตกต่างกันต่อการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยที่ประชุมจะจดบันทึกไว้และจะนำไปลงมติสรุปกันในตอนท้ายของการพิจารณา มีความเห็นร่วมกันว่าจะนัดลงมติในรายละเอียด ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้นต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่คาดว่ากมธ.ฯ จะลงมติตัดสินนั้นมีประมาณ 10 ประเด็น อาทิ ร่างแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการออกเสียงลงคะแนน ที่มีผู้เสนอให้ใช้เสียง 3 ใน 5 , 2 ใน 3 และ มากกว่ากึ่งหนึ่ง, หมวด 15/1 ว่าด้วย ส.ส.ร. มีประเด็นเรื่อง วิธีได้มาของส.ส.ร. จำนวน 200 คน จากที่มีข้อเสนอ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมดและให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน และมาจากการเลือกโดยองค์กร 50 คน, วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ร. ,คุณสมบัติของส.ส.ร. เป็นต้น

เมื่อถามว่า คุณสมบัติของส.ส.ร.จะให้ระบุสเปคขั้นต้นไว้หรือไม่ เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการหรือวิชาชีพใดบ้าง นายไพบูลย์ กล่าวว่า มีผู้ที่เสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณา แต่ในชั้นนี้กมธ.ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นกำหนดคุณสมบัติด้านใดเป็นขั้นต้น

Advertisement

เมื่อถามว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้น จำเป็นที่ต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับเป็นเฉพาะหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งส.ส.ร.สามารถใช้การอนุโลม โดยนำกฎหมายเลือกตั้ง หรือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศบังคับใช้ไปได้ เพื่อให้รวดเร็ว อีกทั้งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ดังนั้นหากรอให้มีกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ร. อาจทำให้ใช้เวลามากไป แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถบัญญัติให้การเลือกตั้งส.ส.ร. ทำได้ หลังจากมีกฎหมายที่ระบุไว้เฉพาะได้ แต่ในชั้นนี้เชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้การเลือกส.ส.ร.ล่าช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image