นักวิชาการสรุปหลักฐานเตรียมยื่น “วิษณุ เครืองาม” ผลักดันทวงคืน “โพธิสัตว์ประโคนชัย-ทับหลังหนองหงส์” จากสหรัฐฯ

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

คืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน รวมถึงมีการทำเสื้อยืดสกรีนลายโพธิสัตว์เพื่อแจกสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนแนว คิด อีกทั้งชาวบุรีรัมย์บางส่วนได้ติดภาพพระโพธิสัตว์พร้อมข้อความทวงคืนหน้าที่ พักและร้านค้า ต่อมาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จะจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย มรดกไทยในอุ้งมือต่างชาติ” เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน มีการก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก สำนึก ๓๐๐องค์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุจากไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ตนและกลุ่มนักวิชาการอีกหลายราย ได้ร่วมกันจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มประติมากรรมสัมฤทธิ์แบบประโคนชัย และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ เพื่อยื่นให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาผลักดันการดำเนินการนำกลับประเทศไทย

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (กลาง) ป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา)
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด ที่ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (กลาง) ป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา)

นายทนงศักดิ์กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดมีจำนวนมาก ตนจึงพยายามสรุปให้สั้นที่สุด แต่ได้ใจความและมีรายละเอียดที่จำเป็นอย่างครบถ้วน โดยในส่วนของโพธิสัตว์ประโคนชัย ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 53 หน้า ระบุถึงที่มาของประติมากรรม ความสับสนเรื่องสถานที่พบ ปัญหา ข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทปลายบัด 2 เป็นต้น

Advertisement

สำหรับกรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ มีข้อมูลจำนวน 8 หน้า ประกอบด้วยรายละเอียดเรื่องแหล่งที่ตั้งเดิม คือ ปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และภาพถ่ายเก่าเมื่อราว 50 ปีก่อน ซึ่งถ่ายโดยนายมานิต วัลลิโภดม ในโครงการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อ พ.ศ.2502 โดยเป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าทับหลังดังกล่าวเคยอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งข้อมูลในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ศิลปะชองมูนลี แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็ระบุว่าได้มาจากปราสาทดังกล่าวเช่นกัน

“ข้อมูลทั้งหมดนี้ รวมรวมมาตั้งแต่ตอนเริ่มลงพื้นที่จริงตั้งแต่ปี 2556 และทำต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ สำหรับเอกสารใช้เวลาเรียบเรียงราว 2 เดือน เพื่อเขียนให้สั้น กระชับที่สุด แต่ครบถ้วนทุกประเด็น มีการทำภาพเปรียบเทียบเอกสารที่กรมศิลปากรตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2516 กับเอกสารของนางเอมมา ซี บังเกอร์ เมื่อพ.ศ. 2514 ซึ่งจะได้เห็นชัดว่ากรมศิลป์เคยยอมรับมาแล้วว่ากรุพระโพธิสัตว์ได้มาจากปราสาทปลายบัดจริง รวมกับเรื่องทับหลังปราสาทหนองหงส์ที่เพิ่งพบว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์อีกแห่งในสหัฐเช่นกัน เลยทำให้ต้องหาข้อมูลยืนยันให้ชัดเจน โดยจะนำเอกสารทั้งหมดไปมอบให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาผลักดันการนำมรดกวัฒนธรรมของชาติกลับมา” นายทนงศักดิ์กล่าว

ภาพขาวดำ (ขวามือ) จากการสำรวจเมื่อราว 50 ปีก่อน โดยนายมานิต วัลลิโภดม
ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ภาพขาวดำ (ขวามือ) จากการสำรวจเมื่อราว 50 ปีก่อน โดยนายมานิต วัลลิโภดม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image