นวัตกรรม การเมือง จากพลัง ทักษิณ ชินวัตร รบที่ไหน ชนะที่นั่น

นวัตกรรม การเมือง จากพลัง ทักษิณ ชินวัตร รบที่ไหน ชนะที่นั่น

นวัตกรรม การเมือง จากพลัง ทักษิณ ชินวัตร รบที่ไหน ชนะที่นั่น

ทําไมชื่อของ นายทักษิณ ชินวัตร จึงยังโดดเด่นอยู่ในสังคมไทย แม้ว่าจะถูกรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 โค่นลง
และถูกย่ำยีอย่างต่อเนื่องกระทั่ง ณ ปัจจุบัน
คำตอบมิได้อยู่ที่ว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็น “มหาเศรษฐี” ผู้ประสบความสำเร็จจาก 2 มือเปล่าด้วยสติปัญญาและความสามารถ ประการเดียว
หากแต่อยู่ที่การสร้าง “นวัตกรรม” เมื่อเข้าสู่ “การเมือง”
แม้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะเรียนรู้การเมืองจากการเป็นนายตำรวจติดตาม นายปรีดา พัฒนถาบุตร ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย
กระนั้น การเรียนรู้ “การเมือง” จริงๆ เกิดจาก 2 แนวทาง
แนวทาง 1 เกิดจากการคบหากับนักการเมืองกระทั่งเคยได้รับเชิญเข้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ได้ปฏิเสธ และเลือกที่พรรคพลังธรรมแทน
แนวทาง 1 ซึ่งสำคัญคือ การเรียนรู้จากการเป็น “นักการเมือง”

การเป็นนักการเมืองผ่านตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็น “บทเรียน” อันล้ำค่าเมื่อการเข้าไปต้องประสบกับความขัดแย้งภายใน
สร้างความไม่พอใจให้กับ “รัฐมนตรี” คนก่อน
เมื่อรัฐมนตรีคนก่อนมากด้วย “วิทยายุทธ์” สะสมมาจากการเป็นนักการข่าวและการเรียนรู้จากนายกรัฐมนตรีระดับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นายทักษิณ ชินวัตร จึงอยู่ในภาวะอ่วมอรทัยจากการต่อต้าน
แม้ผ่านสมรภูมิจากพรรคพลังธรรม และแตะเข้าไปในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ความจัดเจนก็ยังไม่มากนัก
เห็นได้จากความล้มเหลวในห้วงแห่งสมัครเป็น “ส.ส.ร.”
ต่อเมื่อตัดสินใจตั้งพรรคไทยรักไทยนั้นหรอกที่ นายทักษิณ ชินวัตร สามารถหลอมรวม “บทเรียน” จากการเมือง “เก่า” ประสานเข้ากับการเมือง “ใหม่” ขึ้นมาได้
และสร้างความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อเป็นรัฐบาลในปี 2544

การตัดสินใจเลือก นายเสนาะ เทียนทอง การตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ นั่นแหละคือการนำเอาประสบการณ์จากการเมือง “เก่า”
หากไม่มี นายเสนาะ เทียนทอง คงไม่อาจกุมชัยชนะในระดับ “เขต” ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อได้ชัยชนะแล้วก็ไม่ดำเนินการทางการเมืองแบบ “กินรวบ” หากแต่ยังสามัคคีกับพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะพรรคชาติไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
และอาศัยเงื่อนไขที่เป็นแกนหลักสร้าง “นวัตกรรมใหม่” ทางการเมือง
1 ก็คือการอาศัย “นโยบาย” เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนและความนิยม ขณะเดียวกัน 1 ก็คือการปฏิบัติตามนโยบายอย่างครบถ้วน
ไม่ว่าจะเป็น “30 บาท รักษาทุกโรค” ไม่ว่าจะเป็น “กองทุนหมู่บ้าน”
นี่คือนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่เพียงแต่สร้างชื่อให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร หากแต่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชนไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งคราใดก็ชนะ
เพราะนี่คือนิยามแห่งสำนวนที่ว่า “ประชาธิปไตยกินได้” ในทางเป็นจริง

Advertisement

ความสำเร็จของ นายทักษิณ ชินวัตร ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะ “สาละวัน เตี้ยลง” จนต้องวิ่งวุ่นไปหาแนวทางรัฐประหารมาเป็นเครื่องมือ
แทนที่จะพิฆาต “ทักษิณ” กลับยิ่งทำให้ “เรียวลง”
ตราบใดที่พรรคการเมืองไม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถสร้าง “นวัตกรรม” ใหม่ได้อย่างแท้จริง
ก็ต้องแพ้พ่ายและพ่ายแพ้อย่างซ้ำซาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image