‘ยื่งชีพ’ มอง ฟ้องกลับ จนท. ไม่ง่าย ใช้โกรธอย่างเดียวไม่ได้ ต้องละเอียด-ใจเย็น-มียุทธศาสตร์

‘ยื่งชีพ’ มอง ฟ้องกลับ จนท. ไม่ง่าย ใช้ความโกรธอย่างเดียวไม่ได้  ต้อง ‘ละเอียด-ใจเย็น-มียุทธศาสตร์-บรรยากาศเป็นใจ’

เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก “Yingcheep Atchanont” โดยระบุว่า เมื่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือใช้อำนาจเกินขอบเขตกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับการเมือง ปฏิกิริยาอย่างหนึ่งที่เห็นจากพวกเรา คือ การเชียร์ว่า “ฟ้องมันเลย” “ให้มันติดคุกบ้าง” ขอชวนมาลองทำความเข้าใจ และคลี่คลายความต้องการเหล่านี้นะครับ

คิดว่า เมื่อคนรับทราบข่าวสารถึงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง จะรู้สึก โกรธ โมโห หงุดหงิด แค้น รวมไปถึงเกลียดชัง ความต้องการของผู้คนน่าจะเป็น “ความยุติธรรม” หรือความปลอดภัยว่า เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดกับตัวเอง

จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้ “ฟ้องมันเลย” ขออธิบายเรื่องการฟ้องกลับสักหน่อยนะครับ  การดำเนินการฟ้องคดี ให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย มีต้นทุนสูงมาก ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. ต้องการผู้เสียหายที่จะเป็นโจทก์ในการดำเนินคดี ซึ่งหมายความว่า คนนั้นจะต้องทำงานหนัก ในการถอดเรียบเรียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ ทำงานกับทนายความเก็บรวบรวมหลักฐาน รวมถึงไปให้การต่อศาล ทางที่ดีก็ต้องเปิดหน้าให้สัมภาษณ์สื่อ เพื่อเปิดโปงสิ่งผิดที่เกิดขึ้นกับตัวเองและอธิบายกระบวนการฟ้องกลับด้วย

Advertisement

ไม่ใช่ทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกละเมิดสิทธิ แล้วจะมีความพร้อมทั้งทางชื่อเสียง ทางตำแหน่งหน้าที่การงาน ทางต้นทุนเวลา และมีความกล้าหาญพอที่จะดำเนินการในกระบวนการนี้ การคุกคามพยาน การที่ตำรวจสู้ต่อหาว่าผู้เสียหายแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือหมิ่นประมาทตำรวจก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้นต้องอาศัยความเข้มแข็งอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ใครโดนกระทำแล้วก็จะลุกขึ้นมาฟ้องกลับได้ทันที

2. การดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด สามารถเลือกได้ว่า จะดำเนินคดีเอง หรือใช้กระบวนการทางกฎหมายปกติ กล่าวคือ การไปแจ้งความต่อตำรวจ ให้ตำรวจดำเนินคดี เรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบปากคำ แสวงหาพยานหลักฐาน สรุปสำนวนส่งให้อัยการ และอัยการส่งฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลตัดสิน

การให้รัฐเป็นฝ่ายดำเนินคดีให้เห็นผลอยู่แล้วว่า เมื่อตำรวจที่โรงพักแห่งหนึ่งทำไม่ถูก เราก็ต้องไปแจ้งความยังโรงพักท้องที่นั้น คนรับแจ้งความและคนรับผิดชอบคดี ก็คือเพื่อนกัน รวมถึงผู้กำกับที่เป็นผู้บังคับบัญชา ก็อาจเป็นผู้ให้ท้ายหรือออกคำสั่งให้ปฏิบัติผิดตั้งแต่แรก ในเส้นทางเหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเห็นกระบวนการเอาผิดเกิดขึ้นได้จริง และยังไม่เคยเห็น โอกาสที่คดีจะเดินหน้าได้ ก็คือ ต้องให้ผู้เสียหายดำเนินคดีเอง หาพยานหลักฐานเอง ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือฝ่ายรัฐเองอีก เช่น น้ำที่ฉีดผสมสารอะไร การควบคุมตัวเริ่มนับเวลาเท่าไร การจะได้มาก็ยากมาก  การดำเนินคดีเองจึงต้องใช้ทนายความและทีมงานที่คุณภาพสูงมากๆ ถึงจะมีความหวังว่าจะมีโอกาสชนะได้

Advertisement

3. ทีมทนายความหรือทีมเตรียมคดี ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราต่างทราบว่ามีคดีทางการเมืองที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา และประชาชนเป็นจำเลยไม่น้อยกว่า 200 คดีแล้ว ทรัพยากรทนายความที่มีใจ มีประสบการณ์ มีเวลาทั้งหมดได้ถูกจัดสรรไปกับการทำคดี “ตั้งรับ” ทั้งหมดแล้ว และรับสมัครเพิ่มมาอีกหลายสิบคนแล้ว ก็จัดสรรไปแล้วอีกเช่นกัน ดังนั้น ทนายความที่จะว่างพอและงบประมาณในการทำคดีที่จะจัดสรรมาทำคดี “เชิงรุก” จึงเหลือน้อยมากด้วย มีเท่าไรก็ต้องตั้งรับให้ทันให้ได้ก่อน

แม้จะเหลือน้อย แต่ก็ต้องเจียดมาได้ ในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยการบริหารจัดการของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ช่วงนี้ก็เตรียมคดีฟ้องกลับเชิงรุกอยู่ 5-6 คดี ที่ยื่นไปแล้วก็มี แต่คดีที่เราเป็นโจทก์นั้น มันยากกว่าคดีที่เราเป็นจำเลย เพราะคดีที่เราเป็นจำเลยเพียงแค่รอดูหลักฐานที่โจทก์หามา ถ้าไม่หนักแน่นเพียงพอยังมีช่องว่างอยู่ ก็ต้องยกฟ้อง แต่เมื่อเราเป็นโจทก์ เป็นฝ่ายกล่าวหาเขา ก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานมาให้หนาแน่น แข็งแรง สมบูรณ์ เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้ว่าผู้ถูกฟ้องกระทำความผิด ตรงกันข้ามถ้าเตรียมคดีไม่ดีพอ หลักฐานยังไม่แน่นแล้วยื่นๆ ฟ้องไป ถ้าศาลยกฟ้องจะกลายเป็นตำรวจ “ได้ใจ” และได้บรรทัดฐานที่เข้าข้างตำรวจอีก แบบนั้นไม่ฟ้องยังอาจจะดีกว่า

ดังนั้น การทำคดีฟ้องกลับ จึงต้องละเอียดและใจเย็นกว่ามากๆ ต้องเลือกคดีที่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ จะไล่ฟ้องดะเพื่อเอาสะใจเฉพาะหน้าไม่ได้

4. ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นจากการเป็นฝ่ายยื่นฟ้องคดี ไม่น่าจะเป็นการเห็นตำรวจระดับปฏิบัติ ยศดาบ ยศร้อยตรี ถูกลงโทษและถูกสั่งจำคุก ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นคนจำนวนหนึ่งคงรู้สึก “สะใจ” ในวันแรกที่ได้รับทราบข่าว แต่ไม่แน่ใจว่ามันเป็นประโยชน์เพียงใดในระยะยาว ถ้าเขาเป็นเพียงผู้ปฏิบัติที่รับนโยบายมา แล้วไม่มีความกล้าแข็งพอจะปฏิเสธ สู้ให้โอกาสเขาทำงานทำการสร้างประโยชน์ให้สังคมอยู่ข้างนอกดีกว่าจะให้เขาถูกเอาไปคุมขัง เจ้าตัวเสียอิสรภาพ ครอบครัวเขาเดือดร้อน สังคมสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ รัฐต้องใช้งบเพิ่มเพื่อดูแลผู้ต้องขังที่หนาแน่นเกินไปอยู่แล้ว

ดังนั้น การตั้งรูปคดีเพื่อฟ้องกลับ ผลลัพธ์ที่อยากจะเห็นน่าจะเป็น “บรรทัดฐาน” ของศาลเพื่อที่จะใช้ยืนยันในคดีอื่นๆ ต่อไปในอนาคต หรือทำให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติแบบใหม่ หรืออย่างดีที่สุดก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบาย หรือกฎหมาย ซึ่งการเดินแนวทางเช่นนี้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน จะทะเล่อทะล่าทำไม่ได้ พูดแบบตรงไปตรงมา คือ ต้องให้บรรยากาศทางการเมืองเป็นใจให้คำพิพากษาออกมาทิศทางนั้นได้ด้วย ถ้าอำนาจทางการเมืองยังอยู่ในมือ “เขา” แบบเบ็ดเสร็จก็มีแนวโน้มสูงที่ผู้พิพากษาเจ้าของคดีจะ “ไม่กล้า” สร้างบรรทัดฐาน ก็ต้องรอดูจังหวะของคดีประกอบกับพยานหลักฐานด้วยถึงจะหวังผลลัพธ์ได้

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้จะบอกว่า “อย่าฟ้องกลับ” แค่อยากเล่าให้ฟังว่า การฟ้องกลับมันไม่ได้ง่ายเลย แล้วก็สามารถกลายเป็นดาบสองคมได้เสมอ เมื่อต้องเริ่มดำเนินการ จึงต้องใจเย็นๆ วางแผนการอย่างปราณีตระมัดระวัง ไม่ใช้ความโกรธ ไม่ใช้ความมุทะลุในการทำคดี ปัจจุบันก็มีคนพยายามทำอยู่บ้าง แต่เรื่องก็เกิดใหม่ทุกวัน คนที่จะว่างมีสมาธิกับมันได้คงมีไม่มากนัก เราพอจะสนับสนุนอะไรคนกลุ่มนี้ได้ก็ควรช่วยกันครับ

อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนทั่วไปก็สามารถช่วยกันทวงถามความยุติธรรมได้ ที่ไม่ใช่แค่บอกว่า “ฟ้องมันๆๆ” เท่านั้น สิ่งที่คาดหวังกับสังคมได้ คือ การช่วยกัน “ส่งต่อ” ข้อมูล ความรู้ บรรทัดฐานตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ควรจะทำ และเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกอย่างไรและเกิดผลเสียอย่างไรตามมาบ้าง ต้องให้สังคมช่วยกันพูด ช่วยกันแสดงออก เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่ไม่ถูก คือ ไม่ถูก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร เมื่อใด และผู้เสียหายเป็นคนที่อยู่ฝ่ายเดียวกันทางการเมืองหรือไม่

โดยคาดหวังว่า เมื่อใดที่มาตรฐานสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เช่น คนถูกจับต้องได้พบทนายความ คนถูกจับมีสิทธิได้ประกันตัว ฯลฯ ได้ฝังรากความรับรู้ความเข้าใจลงไปในสังคมอย่างแน่นหนาแล้ว ไม่ว่าจะได้ฟ้องเอาผิดผู้ที่ฝ่าฝืนหลักการเหล่านี้หรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐทุกหนแห่งก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แม้เขาจะยังไม่ถูกลงโทษแต่เขาเดินกลับบ้านก็ต้องอายคนข้างบ้าน อายลูกอายแม่ที่บ้านบ้าง

รวมถึงการช่วยกันอยู่ข้างผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายมีแรงสนับสนุน มีความเข้มแข็งที่จะตั้งต้นคดี หรือการช่วยสนับสนุนทีมทนายความ ช่วยกันเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ สังคมช่วยกันได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image