“ทวี สอดส่อง” ชี้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯให้อำนาจอยู่ในอุ้งมือคนกลุ่มหนึ่ง

“ทวี สอดส่อง” ชี้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯให้อำนาจอยู่ในอุ้งมือคนกลุ่มหนึ่ง แนะใช้วิทยาศาสตร์-วิชาการแทนดุลยพินิจคณะกรรมการ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 20 มกราคม 2564 ในญัตติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายว่า “กฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ฉบับนี้มีความสำคัญยิ่ง แต่สำคัญกว่านั้นต้องเริ่มต้นที่หลักคิดก่อน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการใช้คณะกรรมการ การใช้ระบบอนุญาต การใช้ดุลพินิจ และหลักเกณฑ์กำหนดโทษอาญาในกฏหมาย ปัญหาคอรัปชั่นประเทศไทยวันนี้ การทุจริตคอร์รัปชั่นสู้เป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเราไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึกการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากต้นทุนของกฎหมาย เสียค่าวิ่งเต้นหรือค่าใต้โต๊ะใบอนุญาต นั่นคือกฎหมายที่เขียนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตัวแทนประชาชน แต่เอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปอยู่ในรูปของคณะกรรมการ หรือไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่งและคนกลุ่มนั้นก็จะสามารถใช้อำนาจในการอนุมัติ หรืออนุญาต หรือใช้ดุลพินิจ ทำไมไม่เขียนกฏหมายให้ชัดเจนที่ทุกคนได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมายอย่างเสมอหน้ากันเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขไม่ต้องให้ใครใช้ดุลพินิจเขียนให้ชัดเจน วันนี้ต้นทุนค่าวิ่งเต้นในระบบอนุญาต ที่ต้องจ่ายที่เรียกว่าต้นทุนทางกฎหมายไม่ต่ำกว่า 15% ของเงินงบประมาณที่จะต้องไปใช้วิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับอนุญาต หรือสัมปทานเรื่องนี้เป็นรากเหง้าของการทุจริตคอรัปชั่นขณะนี้”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวอีกว่า “สมัยเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี วัตถุอันตรายตามประกาศรัฐมนตรีอุตสาหกรรม บริษัทนำเข้าวัตถุอันตรายจะต้องถูกปรับหลายๆร้อยล้าน หรือเป็นพันล้านบาท ปรากฏว่ารัฐมนตรีฯ ได้ยกเลิกประกาศอุตสาหกรรม วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมถูกฟ้องอยู่ที่ศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสิน นั่นคือการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกกฎห้ามวัตถุอันตรายบางประเภท เช่น ซันเฟอร์ หรือวัตถุอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ถูกจับกุมเมื่อปี 2551 เนื่องจากนำเข้าสารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์ในปริมาณมาก ผู้นำเข้าคือบริษัทนำเข้าวัตถุอันตรายนอกจากมีโทษอาญาและ ต้องเสียค่าปรับรวมกว่าพันล้านบาท วิธีแก้ปัญหาคือใช้อำนาจของกรรมการวัตถุอันตรายและรัฐมนตรีไปยกเลิกว่าไม่เป็นวัตถุอันตรายทำให้วัตถุที่อันตรายกลายเป็นวัตถุที่ไม่อันตราย แล้วใช้ช่องกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ มาตรา 2 ของกฏหมายอาญา คือ”บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

Advertisement

ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”

การใช้ช่องทางนี้ให้เกิดการสั่งไม่ฟ้อง พนักงานสอบสวนก็ไม่กล้าจะสั่งไม่ฟ้องเพราะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นประเด็นทางวิชาการ พนักงานสอบสวนได้หารือทางกฤษฎีกา กฤษฎีกาก็ต้องตอว่าเมื่อกฎหมายกำเนิดขึ้นภายหลังไม่เป็นความผิดไม่ต้องรับโทษ นี่คือตัวอย่าง”

“ผมได้ถามผู้เกี่ยวข้องทราบว่าฟ้องศาลปกครองตั้งแต่ปี 2551-2552 ฟ้องปี 2555 ตุลาการชั้นต้นตัดสิน เรื่องอุทธรณ์วันนี้เรื่องเกือบ 7 ปีแล้วศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสิน

Advertisement

จึงอยากจะเรียนว่าการเขียนกฎหมายในหลักการเช่นนี้ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การกำหนดหลักเกณฑ์จัดทำร่างกฏหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฏหมาย จึงขอฝากกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นศึกษาด้วย”

“ประการสำคัญอย่างยิ่งคือรูปแบบของกรรมการคือรูปแบบการขาดความรับผิดชอบ ประเทศเราใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับแผนบูรณาการ เช่นแผนบูรณาการยาเสพติด 5-6 พันล้าน ยิ่งบูรณาการยาเสพติดยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงมีแต่การใช้เงิน ตราบใดที่ยังมีการบูรณาการโดยใช้กระทรวง ทบวง กรม เป็นหลักโดยไม่เอาพื้นที่เป็นหลักแล้วอย่าหวังเลยว่าจะแก้ปัญหาได้ นั่นคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นชุมชน”

“ผมจึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่น่าจะมีการทบทวน ถ้าจะมีคณะกรรมการน่าจะเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะ ให้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เพราะหากเป็นดุลย์พินิจของคนบางทีคนจะเห็นความสำคัญคุณค่าของชีวิตมนุษย์น้อยกว่าผลประโยชน์บริษัทหรือนายทุนที่เอาสารเคมีพิษหรือวัตถุอันตราย เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์จึงขอให้ทบทวนกฎหมาย”

“อีกประการการให้รายได้ไม่ต้องส่งเข้าคลังน่าจะทบทวน วันนี้ระบบงบประมาณมีปัญหาเงินนอกงบ ในพิจารณาวงงบประมาณมากกว่า 4 ล้านล้านบาทเป็นเงินนอกงบประมาณ เรายังตามไม่ได้เลยการที่พรบ นี้ได้เงินค่าตรวจหรือค่าอนุญาตแล้วไม่ต้องส่งเข้าแผ่นดินเหมือนเอาหน่วยราชการให้คนกลุ่มนี้หารายได้ เรียกค่าตรวจ ได้เงินต่างๆและไม่ต้องส่งคืนคลังทั้งที่ใช้สถานที่ราชการ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้แล้วกลับไปอยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มหนึ่ง”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า “อีกส่วนหนึ่งที่อันตรายอย่างยิ่งคือกฎหมายฉบับนี้มาตรา 8-9 ให้ยอมรับมรดกของการรัฐประหาร คำสั่ง หน คสชที่ 77/2559 คงใช้ได้ ประเทศไทยมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก และวันนี้กลับให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนไปรับอำนาจประกาศ คสช.ที่ 77 เป็น เรื่องวัตถุตาม อย.ซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง เครืองมือทางการแพทย์ รวมถึงวัตถุสารเสพติด ถ้าเราปล่อถ้าเราไปยอมรับการกระทำการกระทำตามคำสั่ง หน.คสช ดังกล่าวเหมือนรับอำนาจเผด็จการ ดังนั้นจึงฝากกรรมาธิการอยากให้ศึกษากฎหมายฉบับนี้ให้ดีไม่เช่นนั้นจะเป็นภัยอย่างยิ่ง ถ้ากฎหมายไปอยู่ใต้อุ้งมือ ถ้าคนดีก็ดีไปถ้าเป็นโจรก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image