คำนูณ ชี้ กรมศิลป์ยังไม่หยุด แม้ส.ว.รุมค้าน สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.7 หน้าสภาใหม่ งบ 25 ล้าน แทนใช้องค์เดิม
เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก กรณีพระบรมราชานุสาวรีย์ ร. 7 หน้ารัฐสภา โดยมีความคืบหน้า กรมศิลปากรยืนยันให้สร้างใหม่ ขนาด 4 เท่าองค์จริง-มูลค่า 25 ล้าน ระบุว่า
เรื่องนี้ ผมและท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้หารือในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ถึงความไม่เหมาะสมของแนวคิดในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 7 องค์ใหม่ขนาดใหญ่ 4 เท่าพระองค์จริงมาประดิษฐานหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เกียกกาย ที่ขณะนั้นทราบข่าวเพียงว่าเป็นไปตามข้อเสนอของกรมศิลปากร แทนที่จะใช้องค์เดิมขนาด 1 เท่าครึ่งพระองค์จริงที่เคยประดิษฐานอยู่หน้าอาคารรัฐสภาเดิม ถนนอู่ทองใน ตามแนวคิดของคณะผู้ออกแบบและสภา
ผมได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย แต่ยังไม่ถึงคิวบรรจุเข้าระเบียบวาระ
และได้เสนอให้คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปและวัฒนธรรม วุฒิสภา ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ โดยผมเข้าไปร่วมประชุมชี้แจงครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปลายปีก่อน ล่าสุดวานนี้คณะกรรมาธิการฯได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมชี้แจง ผมได้เข้าไปร่วมประชุมด้วย จึงขอนำมารายงานประชาชนเพื่อทราบความคืบหน้า
เรื่องไปไกลกว่าที่คิด ขอสรุปด้วยภาษาชาวบ้านดังนี้….
เหตุเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2561 เมื่อสภาทำหนังสือถึงกรมศิลปากรขอทราบแนวทางและรายละเอียดเกี่ยวกับการย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมจากหน้าอาคารรัฐสภาเก่าถนนอู่ทองไปยังอาคารรัฐสภาใหม่เกียกกาย
ในฐานะที่กรมศิลปากรมีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการนี้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520
ซึ่งขอสารภาพโดยสัตย์ว่าผมก็เพิ่งทราบว่ามีระเบียบฯนี้อยู่ !
กรมศิลปากรส่งทีมงานเจ้าหน้าที่เดินทางมาพิจารณาสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณาการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ จากนั้นทำหนังสือถึงสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 แจ้งว่าเห็นควรให้อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริงเข้าไปประดิษฐานภายในอาคาร และให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่ขนาด 3 เท่าครึ่งถึง 4 เท่าพระองค์จริงเพื่อประดิษฐานหน้าอาคารด้านถนนสามเสนแทน สรุปว่าถ้าทำตามนี้รัฐสภาจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 องค์ 2 ขนาด
ในชั้นแรก สภาไม่เห็นด้วยเพราะมีความประสงค์จะนำพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์มาประดิษฐานหน้าอาคารตามแบบที่กำหนดไว้
ในเดือนเดียวกันนั้นเองสภาได้ทำหนังสือถึงกรมศิลปากรขอให้ทบทวนมติ
กรมศิลปากรตอบหนังสือกลับมายังสภาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ว่าพิจารณาแล้ว ขอยืนยันมติเดิม คือให้อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมเข้าในอาคาร และถ้าประสงค์จะมีพระบรมราชานุสาวรีย์หน้าอาคาร ควรดำเนินการตามมติเดิมคือสร้างองค์ใหม่ขนาด 3 เท่าครึ่งถึง 4 เท่าพระองค์จริง
สภาจึงต้องปฏิบัติตาม เพราะอำนาจตามกฎหมายลำดับระเบียบฯดังกล่าวข้างต้นแล้วอยู่กับกรมศิลปากร
สภาเริ่มตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 ไว้เบื้องต้น 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาด 3 เท่าครึ่งถึง 4 เท่าพระองค์จริง กรมศิลปากรแจ้งให้สภาทราบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีจำนวนเป็นตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 25 ล้านบาทเศษ
ตัวเลขจริง ๆ คือ 25,369,840.- บาท !
สภาได้แยกของบประมาณไว้ 3 ปีงบประมาณ คือ 2563, 2564 และ 2565
ขณะนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการขั้นต้นไปแล้ว คือปั้นขยายต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ กล่าวโดยละเอียดคือถอดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์เดิมแล้วหล่อด้วยปูนพลรสเตอร์ เพื่อทำ section ขนาดต้นแบบเดิมเพื่อขยายเข้า scale ก่อนที่จะทำโครงสร้างเหล็ก
ใช้เงินไปแล้วกลม ๆ เกือบ 8 ล้านบาท
ตัวเลขจริงคือ 7,700,000.- บาท !
ในการประชุมกรรมาธิการฯ ผมได้ถามกรมศิลปากรด้วยสามัญสำนึกของวิญญูชนชาวไทยทั่วไปว่าในเมื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ คือสร้างใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นนี้ ก่อนที่จะเดินหน้าลงมือทำงานควรที่จะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติก่อนหรือไม่ คำตอบคือยังไม่ได้ทำเรื่อง แต่กำลังเตรียมการจะทำเรื่อง โดยก่อนที่จะทำเรื่องจำเป็นต้องมีข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน และยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่ เพียงแค่ถอดแบบจากองค์เก่าก่อนเท่านั้น ผมตอบไปว่าที่กรมศิลปากรตอบอย่างนี้ผมไม่สู้เห็นด้วยนะ เพราะการถอดแบบองค์เก่าก็คือส่วนหนึ่งของการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่นั่นแหละ
เงินก็ใช้ไปแล้ว เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติ ฝ่ายการเมืองคือระดับรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้พิจารณา
ประเด็นนี้ ผมไม่เข้าใจ
จึงได้ถามออกไปว่าถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ซึ่งไม่มีคำตอบในห้องประชุมกรรมาธิการ
สถานการณ์ล่าสุด กรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงสภาเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2563 ขอชะลอการทำงานไว้ก่อน
ผมถามว่าเหตุไฉนต้องชะลอ
กรมศิลปากรค้นเอกสารอยู่พักใหญ่ก่อนจะตอบว่ารอการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติก่อน
เรื่องนี้ยังไม่จบ
คณะกรรมาธิการจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมาหารือในโอกาสต่อไป มีความคืบหน้าประการใดจะนำรายงานต่อครับ